ยอดติดโควิดพุ่ง เตือนอย่าซื้่อยา ตลาดมืดกินเอง

“ปลัด สธ.-อธิบดีควบคุมโรค” ดอดพบ  "บิ๊กตู่" ที่ทำเนียบฯ รายงานสถานการณ์โควิด หลังยอดติดเชื้อแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น โฆษกรัฐบาลเผยผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แนะกลุ่ม 608 เร่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยด่วน นายกฯ เตือนอย่าซื้อยารักษาโควิด-19 ในตลาดมืดกินเองอาจเกิดอันตราย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,811  ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,809 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,809 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,268 ราย อยู่ระหว่างรักษา 24,076 ราย อาการหนัก 786 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 349 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 24 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,546,854 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,491,919 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,859 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 559,260,691,767 ราย เสียชีวิตสะสม 6,373,065 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 ก.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาหารือประมาณ 15 นาที ก่อนเดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คาดว่าเป็นการรายงานสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น ประกอบกับในสัปดาห์นี้จะมีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน ที่ประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยวและรวมกลุ่มทำกิจกรรมจำนวนมาก

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า เป็นการรายงานสถานการณ์ ติดตามเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนที่ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนการดูแลสถานการณ์โควิด-19 มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้ มีความเข้มแข็ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกัน

โฆษกรัฐบาลกล่าวถึงกระแสโฆษณาแอบอ้างขายยารักษาอาการป่วยโควิด-19 ในตลาดมืด หรือการจำหน่ายนอกระบบที่ผิดกฎหมาย เช่น โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ว่า ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อยามารับประทานด้วยตัวเองโดยไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ซึ่งมีความน่ากังวลว่าการใช้ยาโดยไม่มีแพทย์สั่งอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ทั้งการใช้ยาที่มากเกินขนาดและอาจทำให้เกิดการดื้อยา หรือทำให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ

 “ท่านนายกฯ มีความเป็นห่วงและฝากเตือนประชาชน  อย่าซื้อยานอกระบบจากตลาดมืดหรือทางออนไลน์มารับประทานเอง เนื่องจากมีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย หากติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เข้าสู่การรักษาตามระบบเพื่อความปลอดภัย เพราะการกินยาโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์อาจทำให้เกิดอันตราย”

นายธนกรเผยด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มตามสัดส่วนไปด้วย จึงขอความร่วมมือให้กลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งอาจยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าแม้ฉีดวัคซีนหลายเข็มแต่ก็ยังติดเชื้อ ทำให้ไม่อยากมารับวัคซีน ก็ต้องย้ำว่าวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ควบคู่กับการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันตัวเอง 2U คือ Universal  Prevention และ Universal Vaccination  ด้วย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  แถลงข่าวการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า จากการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ช่วงวันที่ 2-8  ก.ค.65 ตรวจกลุ่มตัวอย่าง 570 ราย พบเป็น BA.1 จำนวน 5  ราย ตามด้วย BA.2 จำนวน 283 ราย และสายพันธุ์ย่อย  BA.4 และ BA.5 รวมกัน 280 ราย ซึ่งมีไม่ชัดเจนอยู่ 2 ราย​  โดยหากแยกกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถึง 78.4% 

ส่วนการติดเชื้อในประเทศแบ่งออกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ  และภูมิภาค ข้อมูลจนถึงเดือน พ.ค.65 พบว่าใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พบ BA.4 และ BA.5 มากสุด โดยพบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 12.7% เป็น 72.3% ส่วนภูมิภาค 34.7% ดังนั้น สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะเริ่มแซงสายพันธุ์ BA.2 และ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมากนัก​ สำหรับสัดส่วนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบทั้ง 13 เขตสุขภาพ ยกเว้นเขต 3 ที่พบจำนวนน้อย เนื่องจากส่งตัวอย่างแค่หลักสิบ  จึงจำเป็นต้องมีการส่งตัวอย่างเพิ่ม ส่วนเขตสุขภาพที่พบมากสุดคือ เขต 13 พื้นที่กรุงเทพฯ

ส่วนเรื่องความรุนแรงของ BA.4 และ BA.5 ได้มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็นคนมีอาการรุนแรง และอาการไม่รุนแรง โดยพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า คนที่อาการไม่รุนแรงพบใน BA.4 และ BA.5 อยู่ประมาณ 72% ส่วนคนที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือใส่ท่อช่วยหายใจ​ รวมทั้งรุนแรงจนเสียชีวิต มีข้อมูล 13 ราย พบเป็น BA.4 และ BA.5 อยู่ 77%  

พื้นที่ภูมิภาค คนที่อาการไม่รุนแรงมี 309 ราย พบ  BA.4 และ BA.5 อยู่ 33% ส่วนคนที่อาการรุนแรง 45 รายพบสัดส่วน BA.4 และ BA.5 อยู่ที่ 46.67% สรุปได้ว่า ข้อมูลดังกล่าวพบว่า BA.4 และ BA.5 สัดส่วนอาการรุนแรงมากกว่าอาการไม่รุนแรง โดยยังสรุปความรุนแรงชัดเจนไม่ได้ เนื่องจากตัวเลขยังน้อยอยู่ จึงขอความร่วมมือ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย, สังกัด กทม. ขอให้มีการเก็บตัวอย่างคนปอดอักเสบจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งผู้เสียชีวิต ขอให้ส่งตรวจเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง