‘โทรแจกจบ’รักษาโควิด 62%ถอดแมสก์บางพื้นที่

ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,125  ราย นายกฯ แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดความเสี่ยงอาการหนัก มอบสาธารณสุขเจาะพื้นที่ค้นหากลุ่มเป้าหมายให้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง "กรมการแพทย์" ต่อยอดแนวทางรักษาโควิด เจอ-แจก-จบ เป็นสแกน/โทร.-แจก-จบ เพิ่มช่องทางผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา  "สบส." เผยประชาชนร้อยละ 62.8 เลือกถอดหน้ากากอนามัยบางพื้นที่ หวั่นอาจมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลรายใหม่ 2,125 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,125 ราย ผู้ป่วยจากต่างประเทศ 0 ราย ผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 2,339,533 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,501 ราย หายป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 2,341,102 ราย กำลังรักษา 22,341 ราย เสียชีวิต 18 ราย เสียชีวิตสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 9,333 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 803 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอความร่วมมือประชาชนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหลังจากได้รับวัคซีนเข็มหลัก 3-4 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง ทำให้ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อลดลงไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วยหรือคนกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบอัตราผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับวัคซีนของประชาชนที่มีจำนวนกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเสียชีวิต

นายธนกรกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้มอบหมายกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขเจาะกลุ่มพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จึงมอบหมายให้กรมการแพทย์ประสานงานการบริหารจัดการการรักษาร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) ภาคีเครือข่าย UHosNeT, กทม., กระทรวงกลาโหม, รพ.เอกชน, ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ต่อยอดระบบการดูแลจากเดิม เจอ-แจก-จบ ไปสู่สแกน (หรือโทร)-แจก-จบ ซึ่งเป็นการจัดทำ QR code หรือโทรศัพท์ติดต่อสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มีโทรศัพท์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องมาสถานพยาบาลในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง" นพ.สมศักดิ์กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่วนมากเป็นกลุ่มอาการสีเขียว การรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self Isolation: OPSI) จึงยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนัก สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self Isolation) 2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ 3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน  และ 4.กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน

"โดยในกลุ่มที่ 1 ที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ตามแนวทางแล้วไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน ล้างมือ และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนสามารถสวมหน้ากากอนามัยโดยความสมัครใจ โดยปฏิบัติตามมาตรการของ สธ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา จึงได้ทำการสำรวจการเฝ้าระวังการตัดสินใจ ต่อมาตรการปลดล็อกการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว พบว่า ประชาชน 36.3% เลือกจะสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม ขณะที่ประชาชน 62.8% เลือกถอดหน้ากากอนามัยบางพื้นที่ ส่วนประชาชน 0.9% เลือกไม่สวมหน้ากากอนามัยเลย

อย่างไรก็ดี ยังคงมีประชาชนที่เลือกถอดหน้ากากอนามัยในบางสถานที่ หรือบางสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยง ดังนี้ 1. ในสถานบริการสถานบันเทิง 12.53% 2. ในโรงภาพยนตร์ 10.35% 3.ในห้างสรรพสินค้า 9.79% 4.ในตลาด 8.95% และ 5. ในขนส่งสาธารณะ 8.78%

 "จากผลสำรวจพบว่าประชาชนไม่สวมหน้ากากในสถานบริการ สถานบันเทิง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 จากการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และหากใช้แก้วน้ำในการดื่มเครื่องดื่มร่วมกัน จะแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้มากเช่นกัน" นพ.ธเรศกล่าว

 ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ถึงแม้มีการผ่อนคลายมาตรการให้สวมและถอดหน้ากากตามความสมัครใจ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ยังทรงตัว และอาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนยังคงป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสถานที่ที่มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก รวมทั้งสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการหรือใกล้ชิดบุคคล ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น และเคร่งครัดมาตรการป้องกันการติดโรคโควิด-19 ขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention: UP) โดยเฉพาะล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง