โอมิครอนพันธุ์ใหม่ยึดไทย กลุ่มเสี่ยง‘ฝีดาษลิง’เป็นลบ

สธ.เผยโอมิครอน BA.4/BA.5 ครองไทยเรียบร้อย แพร่เชื้อเร็วกว่าเดิม พบสัดส่วนป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้น ขณะที่ ศบค.รายงานมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1.7 พันราย เสียชีวิต 32 คน กรมวิทย์เปิดผลตรวจกลุ่มเสี่ยงฝีดาษลิงจากชาวไนจีเรีย พบเป็นลบทั้งหมด

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,740 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,731 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,731 ราย จากเรือนจำและสถานที่ต้องขัง  9 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,425 ราย อยู่ระหว่างรักษา 23,985 ราย อาการหนัก 890 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ  425 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,577,593 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,522,419 ราย  ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 31,189  ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 575,156,838 ราย เสียชีวิตสะสม 6,403,166  ราย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  แถลงรายงานความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า การตรวจรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์โควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจไปได้ 468 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 และแซงสายพันธุ์ BA.2 ที่มีอยู่เดิมเรียบร้อยแล้ว

นพ.ศุภกิจ​กล่าวว่า ​โดยพบสายพันธุ์ BA.4 และ  BA.5 จำนวน 320 ราย BA.2 จำนวน 143 ราย  BA.1 จำนวน 5 ราย กราฟแนวโน้มเห็นชัดเจนว่า การติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 เกิดในผู้เดินทางจากต่างประเทศเกือบ 100% เพราะเราตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วย ส่วนในประเทศขึ้นไปที่ร้อยละ 67 ทำให้ภาพรวมเป็นร้อยละ  68 ทั้งนี้หากแยกสัดส่วนพบว่า กรุงเทพมหานครมีความชุกของ BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 80 ส่วนต่างจังหวัด ร้อยละ 60 ซึ่งกราฟก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ บอกได้ว่า BA.4  และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.1 และ BA.2 แพร่ได้เร็วกว่า ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่ติดเชื้อมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว  (Whole genomes sequencing) พบว่า  BA.5 มีมากกว่า BA.4 ประมาณ 3 ต่อ 1 ฉะนั้น อนุมานได้ว่าตรวจพบ BA.5 เป็นส่วนใหญ่ โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 เกิน 50 ราย คือ  กรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ ส่วนความรุนแรงของสายพันธุ์ ได้ตรวจตัวอย่างจากผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจากข้อมูลที่ได้ ซึ่งยังมีความจำกัดเนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มอาการน้อยไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 16-22  กรกฎาคม 2565 พบว่าผู้ป่วยในกรุงเทพฯ อาการไม่รุนแรง 122 ราย พบเป็น BA.4 และ BA.5 ประมาณร้อยละ 77 ส่วนอาการรุนแรง 54 ราย พบเป็น BA.4  และ BA.5 ประมาณร้อยละ 87

 “ฉะนั้น สัดส่วน BA.4 และ BA.5 พบในกลุ่มไม่รุนแรงสูงกว่ากลุ่มอาการรุนแรง พอจะอนุมานเบื้องต้นได้ว่า รุนแรงกว่าของเดิมบ้าง ขณะที่ผู้ป่วยในต่างจังหวัด พบว่ากลุ่มที่อาการไม่รุนแรงเจอเป็น BA.4 และ BA.5  ประมาณร้อยละ 55 ส่วนอาการรุนแรงเจอประมาณร้อยละ  73 พออนุมานได้ว่าหากติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 มีโอกาสรุนแรงมากกว่า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจริงๆ แล้วรุนแรงกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ตรวจกับกลุ่มที่อาการน้อย หรือไม่มีอาการ แต่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างเชื้อเท่านั้น  ความแตกต่างประมาณร้อยละ 10 โอกาสที่ BA.2 เดิม มีอาการรุนแรง 2 คน พอมาเจอ BA.5 ก็เพิ่มเป็น 3 คนนิดๆ ฉะนั้นไม่ได้ต่างกันมาก แต่การติดเชื้อมากขึ้น ก็จะพบสัดส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวเพิ่มเติม​ว่า สำหรับเชื้อ BA.2.75  ขณะนี้ในประเทศไทยมีรายงานเพียง 1 ราย แต่คงมีมากกว่านี้ แต่ตอนนี้การตรวจสายพันธุ์นี้จะต้องดำเนินการด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว การตรวจเบื้องต้นยังระบุตรงๆ ว่าเป็น BA.2.75 ไม่ได้ แต่ถ้าใครตรวจแล้วไม่เข้ากับสายพันธุ์ BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5 จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจโดยเร็วว่าเป็น BA.2.75 หรือไม่ และอีกราว 1 สัปดาห์จะสามารถส่งน้ำยาเฉพาะเพื่อให้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในต่างจังหวัดสามารถตรวจได้เลย และข้อมูลจาก GISAID มีรายงาน 538 ราย ขึ้นมาจากเมื่อวันที่ 20 ก.ค.65 บ้าง แต่ไม่ได้มาก ต้องจับตาดูต่อไป

 นพ.ศุภกิจยังกล่าวถึงการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงในกลุ่มเสี่ยงสูง 27 ราย ที่เชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียนั้น ผลออกมาเป็นลบทั้งหมด  ส่วนการตรวจสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกบิด ประตู ผ้าปูต่างๆ พบผลเป็นบวก แต่ยังระบุไม่ได้ว่าสามารถแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่ พร้อมย้ำการติดเชื้อต้องมีความใกล้ชิดกันมาก

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ และได้นำตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกในไทยมาเพาะเชื้อเพิ่ม ก่อนนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่เคยปลูกฝีดาษ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการแพร่เชื้อฝีดาษลิงทางอากาศ พร้อมจัดทำประกาศเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในวันที่ 25 ก.ค. เพื่อปลดล็อกให้โรคฝีดาษลิงดำเนินการตรวจในห้องแล็บระดับ 2 ได้

ขณะที่นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นรายแรกของประเทศไทย ผู้ป่วยเป็นชาวไนจีเรีย ได้หลบหนีการรักษา และทางการสามารถติดตามตัวได้แล้วนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ติดตามข้อมูลประวัติผู้ป่วย ผู้สัมผัส และทำลายเชื้อทุกแห่งแล้ว โดย เก็บตัวอย่างกลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษวานร เป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 19 ราย ส่งตรวจ PCR ห้องปฏิบัติการ ผลตรวจเป็นลบจำนวน 12 ราย ผลเป็นบวก 0 ราย อยู่ระหว่างรอผลอีกจำนวน  7 ราย คาดว่าจะทราบผลตรวจประมาณ 1-2 วันนี้

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้จัดทีมสอบสวนโรคลงตรวจพื้นที่เชิงรุก เอกซเรย์ในพื้นที่ครอบคลุมแล้วทั้งจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ข้อมูลครบถ้วน จึงขอย้ำว่าไม่พบผู้ป่วยฝีดาษวานรเพิ่ม และขอให้มั่นใจในมาตรการป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง