บิ๊กรบ.ส่งซิกคืนชีพบัตรใบเดียว

สภาเห็นชอบ 476 ต่อ 25 เสียง ให้ "กมธ." ถอน "ร่าง กม.ลูกเลือกตั้งส.ส." กลับไปพิจารณา หลัง "กมธ.เสียงข้างน้อย" เสนอมาตราใหม่ให้สอดรับสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 "สาธิต" คาดเสนอกลับมาใหม่สัปดาห์หน้า ส่วน "กม.ลูกพรรคการเมือง" ฉลุย ดับฝัน ส.ว.เสนอปลดล็อกตัวเอง ปิดฉากไพรมารีโหวต "บิ๊กตู่" ถกพรรคร่วม รบ.วางแผนล้มกระดานกลับใช้หาร 100 ชิงความได้เปรียบเลือกตั้ง ยังไม่ตกผลึกคืนชีพบัตรใบเดียว หวั่นถูกวิจารณ์หนัก

ที่รัฐสภา วันที่ 26 ก.ค. เวลา 09.40 น. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่อจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการพิจารณาในวาระสอง เริ่มที่มาตรา 25

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้รับมอบหมายจากนายสาธิต ปิตุเตชะ ประธาน กมธ. ให้หารือต่อที่ประชุมว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติแก้ไขมาตรา 23 เกี่ยวกับวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค และ กมธ.หลายคนเห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขมาตราต่อไปเป็นไปตามข้อบังคับ และให้สอดคล้องกับมาตรา 23 จึงควรได้รับอนุญาตแก่ที่ประชุมก่อน และขอพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งนายชวนได้อนุญาตและสั่งพักการประชุม 30 นาที

จากนั้น เวลา 10.49 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง นายมหรรณพรายงานผลการหารือว่า กมธ.ขอยืนยันร่างรายงานฉบับเดิมเพื่อพิจารณา ส่วนมาตรา 23 เมื่อแก้ไขผิดจากร่างเดิมไป ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของ กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ จากนั้น นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ได้ลุกขึ้นเสนอ มาตรา 24/1 ซึ่งเป็นมาตราที่ขอเพิ่มขึ้นใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการนำเสนอร่างมาตราใหม่ดังกล่าว ฝ่ายค้านหลายคนอภิปรายทักท้วง กมธ. ถามถึงการกระทำดังกล่าวปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ นายมหรรณพ ชี้แจงว่า จากการประชุม กมธ.มีมติเป็น 2 มติ โดยตนถามว่า 1.กมธ.ยังคงยืนตามรายงานที่ได้นำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้วและอนุญาตให้ กมธ.เสียงข้างน้อย ผู้นำเสนอแก้ไขมาตรา 23 เป็นผู้นำเสนอในที่ประชุมรัฐสภาในมาตราที่เห็นว่ามีความขัดหรือแย้งกับมาตรา 23 ที่แก้ไขแล้ว และ 2.ให้ขอถอนญัตตินี้ไปก่อน เพื่อนำไปพิจารณาทบทวนแล้วกลับมาสภาภายใน 1 สัปดาห์ ปรากฏว่าที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 16 ต่อ 5 เห็นด้วยกับมติที่ 1 โดยยอมให้ กมธ.เสียงข้างน้อยเป็นผู้นำเสนอมาตราที่ต้องแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 23 ที่แก้ไขไปแล้ว โดยให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยร่วมกัน

นายชวนวินิจฉัยว่า เมื่อเป็นมติของที่ประชุม กมธ.ให้ทำอย่างนี้ ตนจึงต้องยึดตามที่รองประธาน กมธ.รายงาน นี่คือเหตุผลที่ตนต้องยึดข้อตกลงของ กมธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมยังมีข้อถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขาฯ กมธ. ชี้แจงว่า ในที่ประชุม กมธ. หลายส่วนเห็นว่าการแก้สูตรคำนวณบัญชีรายชื่อเป็นหาร 500  ขัดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการไปแก้มาตรการอื่นข้างหลังกระทำมิได้ จึงมีความเห็นแย้ง จึงเป็นมติที่ประชุม กมธ.ให้ กมธ.เสียงข้างน้อยเป็นผู้เสนอ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะรองประธาน กมธ. อภิปรายว่า เสียงข้างน้อยได้เปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากไปแล้ว ด้วยมติที่ประชุมรัฐสภาเห็นด้วยกับหาร 500 ดังนั้น นพ.ระวีสามารถดำเนินการได้ว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้ารัฐสภาเห็นชอบก็เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รู้สึกเป็นห่วง กระบวนการพิจารณาในขณะนี้ โดยเฉพาะการที่ นพ.ระวีเสนอเพิ่มมาตราใหม่ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มข้อความใหม่ทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่า กมธ.อีกหลายคนยังไม่ได้ดูรายละเอียดแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับนายวันมูหะมัดนอร์ อภิปรายว่า ขอเวลาให้ กมธ.และสมาชิกได้อ่านสิ่งที่ กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอมาให้ละเอียดรอบคอบ ขออย่าเพิ่งแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่าเป็นการแก้ไขแบบไม่เห็นหัวใคร

ถอนร่าง กม.ลูกเลือก

อย่างไรก็ดี นายมหรรณพยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ เพราะจากการหารือของ กมธ.ในช่วงเช้า มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ให้เสียงข้างน้อยเสนอร่างมาตราใหม่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะโต้แย้งว่าขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น วันนี้พวกเราก็คงเถียงกันไม่จบ สุดท้ายเรื่องนี้อย่างไรก็ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

กระทั่งในที่สุดนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จึงขอเสนอญัตติถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน แล้วนำกลับมาพิจารณาต่อในโอกาสต่อไป เพราะต้องไปพิจารณาทั้งข้องบังคับและเนื้อหา โดยพิจารณาต่อจากมาตราที่พิจารณาค้างอยู่

เวลา 12.20 น. นายชวนสั่งลงมติ โดยที่ประชุมมีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปด้วยคะแนน 476 ต่อ 25 งดออกเสียง 20 ไม่ออกเสียง 9 เป็นอันว่าถอนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปก่อน โดยนายสาธิตนัดประชุม กมธ.ช่วงค่ำวันที่ 26 ก.ค. และหากได้ข้อสรุป ก็อาจจะเสนอกลับเข้ามาที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้

แต่นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมาธิการ  เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องมีความรอบคอบ อย่าเพิ่งนัดประชุมพิจารณาวันที่ 27 ก.ค.เลย เรายังมีเวลาพอ ตนคิดว่ากมธ.ควรไปศึกษาให้ละเอียด และสามารถเสนอเข้ามาใหม่ในวันจันทร์สัปดาห์หน้าก็ได้ ซึ่งนายชวนกล่าวว่าตนเห็นด้วย เพราะเป็นภารกิจของ กมธ. เมื่อที่ประชุมเห็นอย่างไรต้องปฏิบัติไปตามนั้น

จากนั้นเวลา 12.33 น. ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 13 มาตรา ในวาระสอง โดยเป็นการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยในมาตรา 4/1 แก้ไขมาตรา 24 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะร่วมเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่ง กมธ.พิจารณาเพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่ และมี กมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึงสมาชิกรัฐสภาติดใจขอแปรญัตติ โดยเฉพาะประเด็นที่ขอสิทธิให้บุคคลที่ต้องโทษจำคุก, ผู้ที่เคยจำคุก และพ้นโทษมาแล้ว 5 ปี รวมถึง ส.ว.หรือบุคคลที่พ้นตำแหน่ง ส.ว.ไม่ครบ 2 ปี สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถมีสมาชิกพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นได้

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะไปเป็นสมาชิกพรรคใดก็ได้ และควรมีข้อจำกัดเท่าที่จำเป็น คนที่เคยเป็น ส.ว., ส.ส. หรือคนที่เคยทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้วถูกห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองทั้งที่ก็เป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน ซึ่งเห็นด้วยจำกัดสิทธิ แต่ต้องมีเหตุผลและต้องพิจารณาความจำเป็น การห้ามไม่ให้อดีต ส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป

ภายหลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จได้ลงมติ โดยที่ประชุมลงมติ 262 ต่อ 51 เสียง เห็นชอบกับเนื้อหาที่ กมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ งดออกเสียง 126 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

จากนั้นที่ประชุมพิจารณามาตรา 6 แก้ไขมาตรา 47 เกี่ยวกับให้ตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า แก้ไขแบบนี้เท่ากับเป็นการตัดวรรคสองของมาตรา 47 เดิม ซึ่งในวรรคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต เป็นการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสรรหาตัวผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมือง ดังนั้นตนจึงขอเสนอให้ตัดมาตรา 47 ที่ กมธ.แก้ไขแล้วให้กลับไปใช้มาตรา 47 ของเดิม

 จากนั้นที่ประชุมลงมติยืนตามที่ กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 354 ต่อ 15 งดออกเสียง 3 ไม่ออกเสียง 2 เสียง อย่างไรก็ตามในมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 48 เกี่ยวกับให้ตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรค สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น นายเสรีก็ได้อภิปรายซ้ำในลักษณะเดิมเหมือนกับมาตรา 6 ไม่ต้องการให้ตัดการทำไพรมารีโหวตออก แต่ไม่ติดใจแล้ว เนื่องจากแนวคิดของตนได้แพ้ไปตั้งแต่มาตรา 6 ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติยืนตาม กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข ด้วยคะแนน 356 ต่อ 22 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 5 เสียง

จากนั้นที่ประชุมได้มีการอภิปราย และลงมติเรียงรายมาตราจนครบ 13 มาตรา และมีมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 423 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 

ต่อมานายสาธิตกล่าวว่า เมื่อมีการถอนร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งออกไป ตนจะนำกลับมาพิจารณาให้เร็วที่สุด แต่แม้จะเป็นเรื่องด่วน ก็ต้องทำหนังสือเรียกประชุม กมธ.อย่างน้อย 1 วัน ดังนั้นคาดว่าน่าจะเสนอกลับมาให้ประธานบรรจุระเบียบวาระภายสัปดาห์หน้า 

หลังจากที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายชวนกล่าวว่า เราจำเป็นต้องกำหนดกรอบเพื่อให้ทันตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะดูเหมือนเราไม่รับผิดชอบ เพราะถือเป็นหน้าที่ แต่วันนี้สภาเรายังไม่พร้อม และต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ตนเข้าใจว่าทุกคนเหนื่อย แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้เสร็จ จึงขอเลื่อนไปพิจารณาเรื่องนี้ต่อในสัปดาห์หน้า 

จากนั้นได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 19.00 น. อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมรัฐสภา กมธ.ได้หารือนอกรอบและจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ 

กลับลำหันใช้หาร 100

วันเดียวกัน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เข้าไปหารือกันในห้องเล็ก ถึงเรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ที่ก่อนนี้สภาให้ความเห็นชอบสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการหาร 500 และได้มีการตามแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปนั่งพูดคุยเพื่อแจ้งความจำนงที่ต้องการจะกลับไปใช้สูตรหาร 100 โดยวงหารือได้มีการคำนวณกันให้ดูเลยว่า ถ้าหาร 500 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสียเปรียบในการเลือกตั้ง เพราะพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย จึงต้องการทำให้เบ็ดเสร็จในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 26 ก.ค.นี้ไปเลย

ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลพยายามอธิบายว่าทำไม่ได้ เนื่องจากมีการโหวตมาตราที่เกี่ยวกับการคำนวณไปแล้ว จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนก่อน คือต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วกลับมาที่ประชุมร่วมรัฐสภา และไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลพยายามอธิบาย พล.อ.ประวิตรจึงมีท่าทีอ่อนลง โดยทำตามคำแนะนำที่จะให้ทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนก่อน แต่ยืนยันว่าอย่างไรต้องกลับไปใช้หารด้วย 100

นอกจากนี้ แกนนำรัฐบาลคนหนึ่งได้ส่งสัญญาณกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าต้องการจะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมือนรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ใช้ในการเลือกตั้งตอนปี 62 ซึ่งเป็นสัญญาณเดียวกับที่พรรค พปชร.ได้รับมาตั้งแต่ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ปัญหาคือหากจะทำเช่นนั้น ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว ทั้งที่เพิ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบในปี 64 จะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่มีคำตอบให้สังคม ทั้งนี้ วงหารือยังไม่ตกผลึกว่าจะเดินไปสู่จุดนั้นอย่างไร เนื่องจากยังไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการ 

ผูู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้หันไปคุยกับพล.อ.ประวิตรบ่อยครั้งมาก ขณะเดียวกันบางช่วง พล.อ.ประวิตรได้เดินไปหาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์