ปลดล็อกเอกชน หาเชื้อ‘ฝีดาษลิง’ โควิดป่วยหนักพุ่ง

ยอดเสียชีวิต ผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 พุ่ง นายกฯ ห่วงแนะประชาชนเร่งฉีดวัคซีน กำชับเจ้าหน้าที่กวดขันการเดินทางเข้า-ออกประเทศ เฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร "อนุทิน" นำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ "สาธิต" เซ็นปลดล็อกให้แล็บเอกชนตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงได้

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์โควิด-19 พบยอดผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสามวันที่ผ่านมา ขอความร่วมมือจากประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่สาธารณสุขกำหนด หมั่นสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หากพบมีอาการน่าสงสัยให้เข้าพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อลดอัตราการการเสียชีวิต โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมาย กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน ดูแล รักษาสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ขอประชาชนเชื่อมั่นในแนวทางของสาธารณสุข

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,747 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,747 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 0 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 2,358,733 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 24,219 ราย มีผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,099 ราย ผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,358,197 ราย ผู้เสียชีวิต 34 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 911 ราย

นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกำชับกระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าผลกรณีโรคฝีดาษวานรที่ภูเก็ต เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศและประชาชน ขอยืนยันว่ายังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่ม โดยขณะนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตยืนยันยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงในจังหวัดภูเก็ตเพิ่ม ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อได้ผ่านการตรวจสอบแล้วไม่พบเชื้อ ซึ่งกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ทางจังหวัดเฝ้าระวังอยู่ทั้งหมด 33 คน ทุกคนยังปกติ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการจัดนำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันเป็นวันแรก โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า จากการคาดประมาณ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย ขณะนี้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ลอตแรกจำนวน 7 พันโดส เข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส ซึ่งที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้ สำหรับล็อตแรกจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ตามข้อมูลผู้ป่วยที่มีการรวบรวมจัดส่งเข้ามา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะดำเนินการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกที่สุด

 “สำหรับประชาชนทั่วไปย้ำว่า ขอให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยสามารถฉีดได้ทุก 3-4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ เนื่องจากขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ซึ่งจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าหลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ BA.2 จึงยังต้องมาฉีดวัคซีนร่วมกับการเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อคือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก และตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการให้วัคซีนโควิด- 19 เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนก.พ.2564 โดยกว่า 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เร่งให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 141 ล้านโดส แต่มีประชาชนบางกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 จึงได้จัดหาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว LAAB เพื่อนำมาฉีดก่อนการสัมผัสโรคโควิดให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดส่ง LAAB สู่ทุกพื้นที่เพื่อให้บริการได้โดยเร็วที่สุด

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำประกาศเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเพื่อปลดล็อกให้ห้องแล็บระดับ 2 หรือแล็บทั่วไปสามารถตรวจหาเชื้อได้โรคฝีดาษวานรได้โดยเพิ่มมาตรการความปลอดภัย หรือเรียกว่าระดับ 2+ (สองบวก) ว่า เหตุผลที่แล็บทั่วไปยังไม่สามารถตรวจเชื้อฝีดาษวานรได้ เป็นไปเพื่อคงให้อยู่ในมาตรฐาน เพราะเชื้อฝีดาษวานรมีความเฉพาะเจาะจง และต้องใช้เทคนิคมากขึ้น แต่ในช่วงบ่ายวัน ที่ 27 ก.ค. ตนจะเซ็นยกระดับให้แล็บระดับ 2 สามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรได้ และยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังพบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการเพียงรายเดียวคือ ชายชาวไนจีเรีย ส่วนชายชาวไทยที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น จะต้องรอผลการยืนยันก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่ตนจะลงนามประกาศฉบับนี้ ให้แล็บทั่วไปสามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรได้ เพราะสมัยก่อนแล็บที่ตรวจได้จะมีแค่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และแล็บของกรมวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อเราสามารถรับรองให้เอกชนเยอะขึ้น ก็จะสามารถตรวจเชื้อได้เยอะ และตรวจพบได้มากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์