กอ.รมน.ใหญ่ชงชื่อสตท. ส.ว.ตื่น!สอบ‘จริยธรรม’

“เลขาฯ วุฒิสภา” เตรียมชงเรื่องสอบ “ส.ว.” เอี่ยว “ส.ต.ท.หญิง” ให้ “กก.จริยธรรมฯ” พิจารณาสัปดาห์หน้า “ครูหยุย” ยันไม่ปกป้อง ส.ว.ใช้อำนาจฝากทหาร-ตำรวจ ชี้หากผิดจริง ป.ป.ช.สอบต่อ “ชลน่าน” จี้วุฒิสภาเร่งหาข้อเท็จจริง “สงป.ตร.” เต้นตั้ง กก.สอบขั้นตอนรับตำรวจฉาว พล.ต.ปราโมทย์เผยผลสอบออกแล้ว เป็นไปตามข้อมูลตำรวจ  ผงะ! กอ.รมน.ใหญ่เป็นผู้ชงชื่อ ส.ต.ท.โหดมาทำงาน

ที่รัฐสภา วันที่ 26 ส.ค. น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภามอบหมายให้คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้ตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม ผบ.หมู่ กก.4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำร้ายร่างกายอดีตทหารหญิงยศสิบตรีว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งความเห็นของประธานวุฒิสภา ที่กำชับให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการจริยธรรมฯ แล้ว

 “คำร้องที่มีการร้องเรียนอยู่ในกระบวนการตรวจสอบคำร้องของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อสรุปรายงานเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรมฯ ในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อที่คณะกรรมการจริยธรรมฯ จะพิจารณาว่าจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการหรือไม่ ซึ่งหากคณะกรรมการจริยธรรมฯ รับเรื่อง ตามระเบียบแล้วจะมีกรอบระยะเวลาการทำงาน 60 วัน แต่หาก 60 วันยังไม่แล้วเสร็จ สามารถขยายระยะเวลาได้” น.ส.นภาภรณ์กล่าว

ถามว่า คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภาจะนัดประชุมกันวันไหน เลขาธิการวุฒิสภากล่าวว่า อยู่ในอำนาจของประธานคณะกรรมการฯ คือ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ส่วนจะเรียกสมาชิกวุฒิสภาคนใดมาชี้แจงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการฯ

ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. และคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตรวจสอบคำร้องดังกล่าวเสร็จ จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรม ส.ว.ตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรมฯ จะใช้เวลาประมาณ 60 วัน โดยจะเร่งสอบให้เร็วที่สุดว่ามี ส.ว.เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจฝากบุคคลเป็นทหาร ตำรวจ ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ ยืนยันไม่ปกป้อง เพราะเป็นเรื่องที่มีพฤติกรรมความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง

 “เบื้องต้นต้องตรวจสอบว่า ส.ต.ท.หญิงคนดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นอะไรบ้างในวุฒิสภา เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ว. หรือมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะกรรมาธิการชุดใดของวุฒิสภา ถ้าพบว่ามีตำแหน่งเหล่านี้จริง ต้องตรวจต่อไปว่าเป็นตำแหน่งประจำตัวใคร หรือใครเสนอแต่งตั้งเข้ามา ต้องเรียกมาให้ข้อมูลว่าทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากพบ ส.ว.คนใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นโยกย้ายโดยไม่ถูกต้องจริง แม้บทลงโทษในส่วนของคณะกรรมการจริยธรรมฯ จะทำอะไรไม่ได้มาก ทำได้แค่ตักเตือนในที่ประชุมวุฒิสภา แต่ไม่มีอำนาจถอดถอน ส.ว.ที่ทำผิดออกจากตำแหน่ง แต่คณะกรรมการจริยธรรมฯ จะส่งเรื่องต่อไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดต่อไป” นายวัลลภกล่าว

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรณีที่มีการอ้าง ส.ว.ใช้อำนาจหน้าที่ในการฝากคนเป็นข้าราชการตำรวจ-ทหาร ต้องทำให้ความจริงปรากฏ ทราบว่าประธานวุฒิสภามอบหมายให้มีการตรวจสอบแล้ว หากถามว่ากระทบกับระบบโดยรวมหรือไม่ ถือว่าเป็นภาพที่ทำลายระบบได้อย่างหนึ่ง สถาบันนิติบัญญัติเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน หากภาพเช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้ความเชื่อมั่น เชื่อถือลดลง โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นช่วงที่เปราะบาง

  “เรื่องนี้อยากให้ทุกคนช่วยกัน ไม่อยากให้ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง ต้องพิสูจน์ให้ได้ เป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญ หลังจากที่เกิดเหตุขึ้นก็ได้มอบหมายให้นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. ตั้งกระทู้ถามสด แต่คำตอบที่ได้รับก็เป็นไปตามระบบ ไม่ได้มีอะไรชัดเจนเกิดขึ้น สิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยขึ้นมา และทางที่จะเปิดเผยขึ้นมาได้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ คือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งนายประเดิมชัยคงจะนำเรื่องนี้เข้า กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่ท่านเป็น กมธ.อยู่ เรื่องนี้เกิดขึ้นในลักษณะของการแต่งตั้งบุคคลมาโดยไม่ชอบ มีการทำหน้าที่ที่ไม่ชอบ มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งทหารมารับใช้ซึ่งถือเป็นการทุจริต หากสามารถสอบมาได้ก็จะคลายปมภาพลบของฝ่ายนิติบัญญัติ ว่าเราจริงจังจริงใจในการทำหน้าที่นี้” นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่า ส.ว.ควรมีกรอบในการสอบเรื่องนี้หรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า โดยข้อบังคับไม่มีเรื่องของกรอบเวลา ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง นายพรเพชรและผู้ที่ได้รับมอบหมายแต่งตั้งให้สอบข้อเท็จจริงก็คงจะทำหน้าที่ในการสอบให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนจะเร็วแค่ไหนนั้น กลไกอยู่ที่วิธีการปฏิบัติของคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง หากเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน ประธานคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้สอบเรื่องนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกประชุมได้

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคดี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ทำร้ายร่างกายอดีตทหารหญิงได้รับบาดเจ็บว่า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองราชบุรี อยู่ระหว่างรอผลการตรวจและทำการสอบปากคำแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพจิตของผู้ต้องหาเพิ่มเติมประกอบสำนวนการสอบสวน รวมถึงทำการสอบสวนปากคำพยานรายอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบคดี และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางจากกองพิสูจน์หลักฐานในพื้นที่เพื่อนำผลการตรวจมาประกอบสำนวนคดีตามขั้นตอนต่อไป ส่วน สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรอทำการสอบปากคำผู้เสียหายเพิ่มเติม และสอบปากคำพยาน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบสำนวนคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย

 “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้กำชับการปฏิบัติของตำรวจที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยให้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบสวนอย่างตรงไปตรงไปมา ด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว อาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว

ด้าน พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการช่วยราชการของ ส.ต.ท.หญิง ว่า คณะกรรมการฯ ได้สอบในเบื้องต้นเสร็จสิ้นแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่ามีการกระทำผิดต่อหลักเกณฑ์ควบคุมการปฏิบัติของกำลังพล ซึ่งข้อมูลก็เป็นไปตามสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการมาช่วยราชการฯ พบว่าเข้ามาบรรจุเมื่อวันที่ 1 ต.ค. โดยได้นำข้อมูลทั้งหมดรายงานขึ้นไปที่ กอ.รมน. และได้ส่งตัวกลับต้นสังกัดเพื่อสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนไปแล้ว

เมื่อถามถึงการคัดเลือกบุคลากรเพื่อมาบรรจุหรือช่วยราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่หรือไม่ พล.ต.ปราโมทย์กล่าวว่า มี 2 ลักษณะ ถ้าเป็นบุคคลในกองทัพ อำนาจอยู่ที่กองทัพ แต่จากส่วนงานอื่น คำสั่งแต่งตั้งทั้งหมดอยู่ที่ กอ.รมน.ใหญ่ เมื่อระบุอัตราออกมาทาง กอ.รมน.ใหญ่จะเป็นส่วนที่เซ็นอนุมัติ ส่วนเรื่องที่มองว่ามีการฝากเด็กลงไปหวังเงินเพิ่มสู้รบพิเศษ (พสร.) และวันทวีคูณนั้น สิทธิ์อยู่ที่หน่วยต้นสังกัดเป็นคนทำเรื่องขอ ต้องรับรองคุณสมบัติ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าคุณสมบัติไม่ได้ ก็ไม่ได้สิทธิ์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้สิทธิ์นั้น เหมือนเช่นบุคคลที่ปรากฏในข่าว ถ้าตรวจสอบและพฤติกรรมเป็นไปตามที่เป็นข่าวก็ไม่ได้สิทธิ์เหล่านี้

เมื่อถามว่า ต้องยึดคืนเรื่องเบี้ยเลี้ยงวันละ 240 บาทคืนหรือไม่ พล.ต.ปราโมทย์กล่าวว่า ก็ต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไป

วันเดียวกัน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือต่อนายไพโรจน์ นิยมเดชา นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ผบ.ตร., ผบ.ทบ., ส.ว. และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือส่อทุจริตกรณีบรรจุและแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิงและส.ท.หญิง เป็นข้าราชการตำรวจ-ทหารหรือไม่ การออกคำสั่งให้ ส.ต.ท.หญิงไปช่วยงานที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยเบิกเบี้ยเลี้ยงและได้วันเพิ่มวันทวีคูณ ทั้งที่ไม่ได้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือไม่ 

 “กรณีนี้เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ ผบ.ตร., ผบ.ทบ., อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สมาชิกวุฒิสภากับพวกใช้สถานะตำแหน่งก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ จึงขอให้พิจารณาดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน”. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง