‘ชัชชาติ’ผวากทม.ซํ้ารอยปี54

กอนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำรับมือฝนตกหนัก ก.ย.-ต.ค. สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เร่งซ่อมจุดฟันหลอ  คุมเข้มบริหารจัดการน้ำ เล็งตั้งศูนย์ส่วนหน้าอุบลฯ-ชัยนาท  "ชัชชาติ" รับหวั่นท่วมซ้ำปี 54 แค่ตระหนักอย่าเพิ่งตระหนก ยัน กทม.พร้อมจับมือทุกฝ่ายร่วมแก้ นักวิชาการแนะย้ายเมืองหลวง ผวาอีก 8 ปีกรุงเทพฯ จมทะเล

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนเรื่อง “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-9 กันยายน 2565)” ฉบับที่ 2 โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 5-9 ก.ย.65 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม   ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจและตรวจติดตามความพร้อมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ปี  2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้ใช้รถระบบสำรวจภูมิประเทศ (Mobile Mapping System:  MMS) และระบบแสดงผลข้อมูลแผนที่ 3 มิติแบบออนไลน์ เพื่อติดตาม สำรวจ ตรวจสอบความพร้อมของแนวพนังกั้นน้ำโดยรอบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา         

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีข้อห่วงใยต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่คันกั้นน้ำที่อาจได้รับผลกระทบ หากเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งหรือน้ำทะเลหนุนสูง  จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งสำรวจสภาพคันกั้นน้ำหรือคันดิน หากมีจุดใดชำรุดเสียหายให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งการเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวบริเวณจุดเชื่อมต่อที่ชำรุด หรือจุดที่เป็นฟันหลอเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนด้วย

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์พบว่าในช่วงตั้งแต่วันนี้ถึง 8  ก.ย.จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ อีกทั้งคาดการณ์ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ  ซึ่ง กอนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจเกิดน้ำท่วม และให้ดำเนินงานตาม 13  มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำและแม่น้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จ่อตั้งศูนย์บริหารน้ำส่วนหน้า

เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำทุกขนาดให้มีสภาพแข็งแรง มั่นคง และมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมที่ต้องเฝ้าระวังมีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่  อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามที่มีการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย.นี้  สทนช.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ตอนบนก่อนลงมายังเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากขณะนี้พบว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนสะสมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณ จ.อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา,  ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำและพื้นที่ฟันหลอ กอนช.ได้มีการแจ้งเตือนให้เตรียมความพร้อมรับมือ  และมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบเบื้องต้นแล้ว

นายสุรสีห์กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงเหลือ 300 ลบ.ม./วินาที เพื่อไม่ให้มวลน้ำไปรวมกับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามากเกินไป ขณะที่เขื่อนภูมิพลจะปรับลดการระบายแบบขั้นบันไดจาก 4 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือ 2 ล้าน ลบ.ม./วัน  และจะลดให้เหลือ 5 แสน ลบ.ม./วัน นอกจากนี้จะเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ เพื่อรองรับน้ำระลอกใหม่ในลุ่มน้ำยมจาก จ.สุโขทัย และ จ.แพร่ รวมกับใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ  10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงกลางดือน ก.ย.นี้ เพื่อเป็นพื้นที่สำรองเพิ่มเติมกรณีที่จำเป็นไว้รับมือน้ำหลากในช่วงกลางเดือน  ก.ย.-ต.ค.นี้ ซึ่งจะสามารถใช้หน่วงปริมาณน้ำหลากได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ วันที่ 5 ก.ย. กอนช.จะประชุมคณะประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์ฝนและแนวโน้มอิทธิพลพายุ ในการเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคอีสานที่ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท เพื่อบูรณาการแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการคาดการณ์ฝนตกหนักช่วง  ก.ย.-พ.ย. และอาจจะเจอปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในระดับสถานการณ์ฝน 100 ปีว่า เป็นการคาดการณ์ซึ่ง กทม.จะเตรียมตัวไว้และต้องทำให้ดีที่สุด โดย กทม.ได้ทำ  Scenario Planning ซึ่งหากเป็นตามคาดการณ์ หน่วยงานเดียวคงทำไม่ได้ จึงทำแผนป้องกันภัยพิบัติขึ้นมา  และจะต้องหารือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมชลประทาน

หวั่น กทม.ท่วมหนักซ้ำปี 54

"ยอมรับกังวลจะเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 แต่ก็ดูความเป็นไปได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ และหากมีทรัพยากรจำกัดก็ต้องบาลานซ์ให้สมดุล ประสานหน่วยอื่นมาร่วมกัน มองว่าเราต้องไม่ตระหนก แต่ตระหนักไว้ ความเป็นไปได้ของการประมาณอีก 2 เดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง กทม.ก็รับฟังทุกความเห็น แต่ไม่ได้ตระหนกเกินเหตุ เพราะหลายนักวิชาการก็มีความเห็นยังไม่ตรงกัน ก็นำความเห็นหลายๆ คนมาประมวล พร้อมขอบคุณทุกความเห็นที่เตือน จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

ส่วนการทำงานร่วมกับฝ่ายทหารจากที่ พล.อ.ประวิตร ส่งกำลังทหารช่วยขุดลอกคูคลองเพื่อกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ กทม.นั้น มีผักตบชวา 13 คลองของ กทม. ยอมรับว่าพยายามทำแล้วแต่ไม่ไหว จึงแจ้ง พล.อ.ประวิตรไป ซึ่งได้ส่งกำลังพลมา และคาดว่าน่าจะเริ่มทำแล้ว โดยสัปดาห์หน้าจะลงไปตรวจเยี่ยม และถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะทหารช่วย  กทม.มาตลอด นอกจากนี้ทหารยังมีอุปกรณ์ที่มาช่วยเหลือในมิติอื่น เช่นเรือผลักดันน้ำ อย่างไรก็ตามการขอความร่วมมือกับทหารจะขอเป็นเคสบายเคส หลังจากนี้จะต้องหารือกับ  พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เพราะปทุมธานีจะรับน้ำมาก่อนผ่านคลองรังสิต ลงมาคลองหกวาสายล่าง รวมทั้งจะต้องไปหารือกับนายกเทศบาลรังสิต และเชิญกรมชลประทานมาหารือด้วย  ดังนั้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอาจจะต้องหารือกันทุกพื้นที่

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการเรื่องอุทกภัย  การจัดการน้ำท่วมขังและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินแบบปี 2554 หรือไม่  และการเตรียมการรับมือมีประสิทธิภาพอย่างไร

ขณะที่ปัญหาที่ใหญ่กว่าน้ำท่วมขัง อุทกภัยใหญ่แบบปี  54 ก็คือ อีก 8 ปีหรือภายในปี 2573 กรุงเทพฯ อาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรง หากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง จากคำเตือนในงานวิจัยของกรีนพีซ ที่ระบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเผชิญสภาวะจมทะเล กระทบพื้นที่ 1,521 ตารางกิโลเมตร (กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางเมตร)  ความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 512 แสนล้านดอลลาร์ (คำนวณเป็นเงินบาท 186 ล้านล้านบาท) กระทบประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน

ทั้งนี้ การป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ให้จมอยู่ใต้น้ำนั้น ต้องดำเนินการดังนี้ทันที 1.ต้องพิจารณาสร้างเขื่อนกั้นน้ำ หรือถนนเลียบชายฝั่งยกสูง 2.การเร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำ รองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล 3.ต้องจัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทั้งหมด การใช้ที่ดินริมแม่น้ำลำคลองเพื่อขยายแม่น้ำและขุดลอกคูคลองได้เต็มที่ 4.ต้องหยุดการขยายตัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑล  5.สังคมไทยต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนและลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และ 6.นโยบายเพื่อย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังโดยพรรคการเมืองและรัฐบาล

วันเดียวกัน นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วยนายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร พรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วย ดร.ชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจดูความเสียหายของฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว ต.เทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร  ที่พังเสียหายจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ทำให้เขื่อนพัง ความกว้างประมาณ 40 เมตร ซึ่งทำให้ระดับน้ำบริเวณหน้าฝายลดลงอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถส่งมายังพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ในขณะนี้ จากนั้นนายไผ่และนายพรชัยได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบข้อมูลแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอถึง พล.อ.ประวิตรในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมฝายวังบัวเป็นการเร่งด่วน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง