อ่วม!ฝนตกยาวถึง12ก.ย. รังสิต-ดอนเมืองชักธงแดง

"รังสิต-ดอนเมือง" อ่วม น้ำท่วมขังถนน "ชักธงแดง" เตือนระดับน้ำในคลอง "ชัชชาติ" เผย 4 ปัจจัยเสี่ยงวิกฤต คลองปริ่ม-มรสุมเข้า-น้ำเหนือ-ทะเลหนุน  คาดฝนตกยาวถึง 12 ก.ย. ด้าน กอนช.เปิดศูนย์รับมืออุทกภัยภาคอีสาน

  สถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลังฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั่งเวลา 15.30 น. วันที่ 8 ก.ย. ทางสำนักงานเขตดอนเมืองรายงานสถานการณ์น้ำท่วมขังถนนสายหลัก ในพื้นที่ ถ.ช่างอากาศอุทิศ ตั้งแต่ ซ.ช่างอากาศอุทิศ 12 ถึง ม.ศิริสุข ความลึก 30-40 ซม. ยาว 500 ม., ถ.ช่างอากาศอุทิศ ช่วง ซ.ช่างอากาศอุทิศ 8-10 ความลึก 15-20 ซม. ยาว 200 ม., หน้าโรงเรียนเจริญวิทย์ ถ.เดชะตุงคะ ความลึก 50 ซม. ยาว 500 ม., ถ.สรงประภา ช่วงแยกวัดสีกัน ความลึก 10-15 ซม. ยาว 500 ม., ถ.วัดเวฬุวนารามตลอดเส้น ลึก 20 ซม., ถ.วิภาวดีรังสิตขาออก ช่วงหน้าสนามบินดอนเมืองถึง สน.ดอนเมือง สูง 30 ซม. ยาว 1,000 ม.

 เวลา 13.07 น. เทศบาลนครรังสิต ออกประกาศแจ้งเตือนขึ้นธงแดงระบุสถานการณ์น้ำว่า ระดับน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณริมเขื่อนสะพานแดง อยู่ที่ระดับ 1.81 เมตร มีความเสี่ยงอันตรายสูงสุด ให้ประชาชนอาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย จากนั้นเวลา 14.45 น. แจ้งปิดถนนเลียบคลอง ตั้งแต่สะพานฟ้า- สะพานแดง คลองหนึ่ง เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในคลองเอ่อล้นเข้ามาท่วมในถนนเป็นจำนวนมาก งดรถทุกชนิดสัญจรผ่าน เวลา 15.35 น. เทศบาลนครรังสิต รายงานระดับน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เขื่อนสะพานแดง ระดับน้ำ  1.85 เมตร (ธงแดง) สภาวะระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงอันตรายสูงสุด

จนกระทั่ง 15.48 น. ถ.รังสิต-นครนายก ขาออก บริเวณทางเข้า-ออกศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค น้ำท่วมทุกช่องทาง และการจราจรหนาแน่นออกไปทางคลอง 3-คลอง 4 ต่อเนื่อง ถ.รังสิตปทุมธานี มุ่งหน้าต่างระดับรังสิต ท้ายสะสมถึงแยกวัดเสด็จ ถ.345 (ซ่อมสร้าง) มุ่งหน้าแยกบางพูน ท้ายอยู่ตรงข้ามวัดเทพสรธรรมาราม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า เบื้องต้น กอนช.ได้ประเมินฝนคาดการณ์ (ONE MAP) พบพื้นที่เสี่ยงมีโอกาสเกิดอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ จึงได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุบลราชธานี ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูล คาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า ใช้ดาวเทียม Radarsat-2 และดาวเทียม Sentinel-1 ของวันที่ 7 ก.ย.2565 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด พบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วจำนวน 1,655,983 ไร่ ในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำสำคัญที่กระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ในขณะที่พื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 711,235 ไร่

สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งต่อข้อมูลภาพจากดาวเทียมให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ได้ทันท่วงที สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.65 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย.65 ร่องมรสุมเริ่มมีกำลังอ่อนลง และจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง  เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในวันนี้อีก 1 วัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 10- 14 ก.ย.65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง

 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ช่วงนี้คือช่วงวิกฤต เรียกว่า 4 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 7-10 ก.ย.นี้ โดยเมื่อคืนวันที่ 7 ก.ย. มีฝนตกหนักถึง 130 มิลลิเมตรที่บริเวณเขตลาดกระบัง โชคดีที่ฝนไม่ตกซ้ำที่บริเวณเขตบางเขน เพราะกรณีฝนตกหนักที่เขตบางเขนเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนสูงถึง 170 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในทุก 20 ปีตามสถิติที่ กทม.บันทึกไว้ ปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังคือ ท่อระบายน้ำดั้งเดิมของ กทม.ไม่รองรับปริมาณน้ำฝนสูงขนาด 170 มิลลิเมตร ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำเต็มคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนเมื่อคืนวันที่ 7 ก.ย. มีฝนตกอีกที่บริเวณพัฒนาการ ทำให้น้ำเต็มคลองประเวศบุรีรมย์ ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้คลองหลักของ กทม.มีน้ำเต็มทุกคลอง ต้องเร่งระบายโดยด่วน ส่วนคลองแสนแสบ ปัจจุบันขีดความสามารถรับน้ำก็ใกล้เต็มเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกช่วงเมื่อวานนั้นไม่เฉพาะที่เขตลาดกระบัง แต่ตกรอบนอกกินบริเวณกว้างออกไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงด้านเหนือของ กทม.ฝั่งจังหวัดปทุมธานี มีปริมาณน้ำเต็มความจุ ส่งผลให้การระบายน้ำจากกทม.ทำได้ยาก เพราะบริเวณพื้นที่รอบนอกมีน้ำเต็มเหมือนกัน ต้องลดการระบายน้ำจาก กทม.ลงเพื่อบรรเทาปริมาณน้ำในพื้นที่รอบนอกด้วย

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ปัจจุบันมีวิกฤตเกิดขึ้น 4 เรื่อง ดังนี้ 1.คลองหลักใน กทม.น้ำเต็มความจุทุกคลอง ยกเว้นคลองแสนแสบที่ยังพอรับได้อีกไม่มาก 2.ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน กทม.พอดี ส่งผลให้เกิดกำลังดึงดูดฝนเข้ามา จึงมีโอกาสเกิดฝนตกเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ 3.ปริมาณน้ำเหนือถูกปล่อยลงมาจำนวนถึง 1,850 ลูกบาศก์ต่อวินาที แม้จะยังไม่สูงเท่าช่วงวิกฤต แต่ปริมาณน้ำที่ขึ้นสูงระดับนี้ กทม.ต้องสูบน้ำข้ามประตูน้ำเพื่อระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก และ 4.ช่วงวันที่ 7-10 ก.ย.นี้ เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดย 4 ปัจจัยนี้ประกอบกันทำให้ กทม.มีน้ำท่วมขังในบางจุด

นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพเหนือ ที่เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ และบางเขน มีปริมาณฝนมาก วัดได้สูงสุด 178 มม.ที่เขตบางเขน ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงนี้มีความกดอากาศจากประเทศจีนแผ่ลงมา ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านคลองคลุมภาคกลาง และมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดขึ้นมาจากทะเลอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. โดยปริมาณฝนในปี 2565 นี้ ตั้งแต่ ม.ค.ถึงปัจจุบัน มีฝนตกลงมาแล้ว 1,369 มม. เทียบกับปริมาณฝนของปี 2564 ตลอดทั้งปีมี 1,900 มม. ซึ่งในปีนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามฝนในเดือน ก.ย.และต.ค. ทั้งนี้ ฝนจะคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกถึงประมาณวันที่ 12 ก.ย. จึงขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และการวางแผนการเดินทาง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์