เรืองไกรบี้มีชัย เป็นพยานเท็จ! ชูป้อม‘ยุบสภา’

มีชัยโดนแล้ว “เรืองไกร” ร่อนเอกสารถึงศาลรัฐธรรมนูญบอกความเห็นกูรูกฎหมายเข้าข่ายเบิกความเท็จ! วันชัยจับยามกฎหมายฟันธง “พล.อ.ประวิตร” มีทั้งจังหวะและโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำ นิด้าโพลเผยคนไทย 64% เห็นชอบให้ “บิ๊กป้อม” ยุบสภา แต่ค้านเรื่องปรับ ครม. “ชลน่าน” ฟันเปรี้ยงเชื่อยุบหลังประชุมเอเปก  80%

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน ยังคงมีประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เผยว่า ได้ส่งหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตรวจสอบ ภายหลังปรากฏข่าวความเห็นวาระ 8 ปีนายกฯ ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 3 แผ่น ไม่สอดคล้องต้องกันกับบันทึกการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 500 และ 501

นายเรืองไกรระบุว่า นายมีชัยในฐานะประธาน กรธ. ควรถือเป็นพยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และคำเบิกความดังกล่าวควรเป็นข้อสำคัญในคดี แต่คำเบิกความของนายมีชัยกลับไม่สอดคล้องต้องกันกับบันทึกการประชุมของ กรธ.ครั้งที่ 500 และ 501 กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำเบิกความดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการเบิกความเท็จ ซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 หรือไม่ และคำเบิกความดังกล่าวควรตกไป หรือไม่ โดยได้ส่งหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบต่อไปแล้วทางไปรษณีย์ EMS

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า นายกฯ คนต่อไปกับบุญวาสนาถามกันมาเยอะว่า ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์มีอันเป็นไป แล้วใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไป เรื่องนี้ต้องว่ากันตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกี่ยวกับดวงดาวหรือโชคชะตาฟ้าลิขิต เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องเลือกคนในตะกร้าก่อน คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์, คุณชัยเกษม นิติสิริ และคุณอนุทิน ชาญวีรกูล 4 คนแรกดูแล้วคงเป็นไปไม่ได้ เพราะบางคนไปแล้วไปเลย หรือบางคนที่มีอยู่ ก็ยังไปไม่ถึง ส่วนคุณอนุทินก็ชอบกัญชา ประเภทมีอารมณ์เคลิ้มๆ ขำๆ ที่จะเป็นจริงนั้นคงจะยาก สรุปว่าคนที่มีอยู่ในตะกร้าตามบัญชีรายชื่อโหวตแล้วโหวตอีกก็คงไม่ได้

“ในที่สุดก็ต้องเป็นคนนอกตะกร้านอกบัญชีล่ะ ต้องใช้ 500 เสียงในรัฐสภาเป็นด่านแรก แล้วจะเป็นใครล่ะ ถ้าไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะท่านมีเสียงพรรคร่วมอยู่ในมือถึง 270 เสียง บวกกับ ส.ว.อีกบางส่วนก็ได้เกิน 500 แล้ว เชื่อว่าเมื่อด่านแรกผ่าน ด่านที่ 2 ในการโหวตนายกฯ ก็ใช้เสียงเพียง 375 เสียง แค่นี้ก็ฝ่าด่านทะลุทะลวง มองดูแล้วทั้งปัจจัยภายในภายนอกไม่มีใครที่จะฝ่าด่านอรหันต์ 2 ด่านนี้ได้ นอกจาก พล.อ.ประวิตรจะอยากเป็นหรือไม่อยากเป็น แต่รัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบกับจังหวะ โอกาส และสถานการณ์มันเอื้ออำนวยให้เป็น” นายวันชัยระบุ

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่องรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี พล.อ.ประวิตรจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า 46.34% ระบุว่าไม่เหมาะสมเลย, 21.57% ระบุว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง, 16% ระบุว่าค่อนข้างเหมาะสม, 12.58% ระบุว่าไม่ค่อยเหมาะสม และ 3.51% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี พล.อ.ประวิตรจะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ พบว่า 63.80% ระบุว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง,  16.54% ระบุว่าค่อนข้างเหมาะสม,  13.95% ระบุว่าไม่เหมาะสมเลย, 4.80% ระบุว่าไม่ค่อยเหมาะสม และ 0.91% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อการทำงานของ พล.อ.ประวิตรในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 41.46% ระบุว่าไม่พอใจเลย, 22.87% ระบุว่าค่อนข้างพอใจ, 22.26% ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ, 8.46% ระบุว่าพอใจอย่างยิ่ง และ 4.95% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมในวันที่ 23 มี.ค.2566 หรือไม่ว่า  80% ไม่ครบ ให้แค่ 20% ไม่ว่าผลการวินิจฉัยของศาลจะเป็นอย่างไร ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพ้นหรือไม่พ้น มีโอกาสยุบสภสูงมากหลังเอเปก เชื่อเช่นนั้น พวกเราจึงต้องเตรียมเลือกตั้ง ขอบคุณประชาชนที่บอกว่าพรรคพร้อมที่สุดในการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า มีเบาะแสอะไรหรือไม่ที่ทำให้รู้สึกว่ายุบสภาหลังเอเปก นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เชื่อว่าผู้มีอำนาจเขาจะตัดสินใจที่เป็นประโยชน์กับเขามากที่สุดคือ การยุบสภา แต่ถ้าอยู่ครบเทอม ไม่ได้ประโยชน์ เพราะยิ่งอยู่นานก็ยิ่งแย่ ศรัทธาประชาชนเสื่อมไปเรื่อยๆ หรือเพื่อเป็นการเปิดช่องให้มีอากาศหายใจ โดยจังหวะที่เขาสามารถได้ประโยชน์คือหลังเอเปก สามารถจัดการ ส.ส.ในการย้ายพรรคได้ เพราะเมื่อยุบสภาจะมีโอกาสให้ ส.ส.สังกัดพรรคได้ดีกว่าปล่อยให้ครบเทอม ซึ่งเป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตัวของเขา และลดกระแสการคัดค้านจากประชาชน

นพ.ชลน่านยังกล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับที่ตกไป จะมีการเดินหน้าต่อหรือไม่ ว่าเราคงไม่คิดที่จะยื่นแก้ไขในสมัยประชุมที่ 2 ปีที่ 4 แล้ว เพราะฟังจาก ส.ว.พูดแล้วมันยาก ต้องอาศัยเสียงตั้ง 84 เสียง วิธีการเขียนกฎหมายของเสียงข้างน้อยปกครองเสียงข้างมากลำบากมาก เสียงทั้ง 84 เสียงมีผลมาก หากมี 600 เสียงเห็นชอบแต่ 84 เสียงไม่ให้ผ่าน เป็นการขัดหลักการประชาธิปไตยโดยทั่วไป ฉะนั้นการที่เราจะไปสู้ตรงนั้นค่อนข้างยาก คงจะไม่เสนอในสมัยประชุมต่อไป เราจึงผลักดันเป็นนโยบายที่จะเป็นฉันทามติของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยก็เลือกพรรคเพื่อไทยเรา เพื่อไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยประชาชน

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงแคมเปญใหม่รีเซตประเทศไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคต้องการให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะถ้าเกิดใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อำนาจทั้งหมดสืบเนื่องมาจากรัฐประหารจะยังคงอยู่ต่อ เช่น การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ ส.ว. 250 คน มาเลือกพร้อมกับ ส.ส. ซึ่งมาจากประชาชน เท่ากับว่าคนที่ครองอำนาจรัฐอยู่แล้วมาจากรัฐประหารจะเอาใครก็ได้ พรรคตัวเองรวมกันบวกกับ ส.ว. 250 คน ก็ชนะ ได้เป็นนายกฯ เสมอ ในส่วนขององค์กรอิสระต่างๆ มาจากการแต่งตั้งโดย ส.ว. ซึ่งควบคุมกลไกในการแก้ไขอำนาจรัฐ ทั้งหมดนี้ทำให้กลไกอยู่ในมือของการสืบอำนาจของเครือข่ายรัฐประหารทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมยุทธศาสตร์แห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เกิดจากการแต่งตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อถามว่า การแก้ไขจำกัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ จะทำได้หรือไม่ นายธีรัจชัยกล่าวว่า ถ้าแก้ทั้งฉบับทำได้อยู่แล้ว ต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับผ่านกลไกไม่ผูกกับการอยู่ของรัฐบาลหรือสภา ให้ทำแยกไปเสร็จแล้วค่อยนำมาเข้าสภาทีหลัง กรณีนี้แม้จะเป็นการยุบสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะเริ่มขึ้นโดยตัวแทนจากประชาชนเป็นผู้เลือกคนที่ร่างรัฐธรรมนูญเข้ามา ไม่ใช่จาก คสช.กำหนดมาเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกลไกตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งรณรงค์ใช้กฎหมายประชามติเป็นตัวที่ทำให้มีการเลือกตั้งในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยใช้ประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะถึงจะได้ประหยัดงบประมาณ

ถามว่าถ้า ส.ว.ไม่เห็นด้วยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายธีรัจชัยกล่าวว่า ส.ว.ที่ผ่านมามีการยื่นขอให้แก้ไข 20 ครั้ง ครั้งนี้มีอีก 4 ร่าง รวม 25 ร่าง แต่ถูกตีตกทั้งหมด ผ่านเพียงร่างเดียวคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หมายความว่า ส.ว.ทำให้ไม่มีการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าไม่มีการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 25 ร่างให้ผ่านเพียงร่างเดียว ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลาโหวตก็แพ้ทุกครั้ง เพราะเสียง ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีมากกว่า กลไกของ ส.ว.เป็นตัวขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญอยู่จริงๆ

 “จากการโหวตหลายๆ ครั้ง กลไก ส.ว.ทำหน้าที่ตั้งองค์กรอิสระ หรือองค์กรที่ใช้อำนาจของรัฐก็มาจาก คสช. ทำให้การพัฒนาเป็นประชาธิปไตยให้ตรงกับความต้องการของประชาชนถูกขัดขวางอยู่กับกลไกรัฐประหารเดิม ที่มี 3 ป.เป็นตัวนำยังดำรงอยู่” นายธีรัจชัยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย