เจตนาล้มล้างสถาบัน มติศาลรธน.8:1ชี้ก๊วน3นิ้ว เผาประท้วงคำพิพากษา

ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีประวัติศาสตร์การเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศไทย มีมติ 8 ต่อ 1 ระบุพฤติการณ์แกนนำม็อบสามนิ้วเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ชี้เคลื่อนไหวเป็นขบวนการ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบการปกครองฯ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หวดไม่ยั้ง ใช้ความรุนแรง-สร้างความแตกแยกคนในชาติ สั่ง "อานนท์-รุ้ง-ไมค์" และกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวทันที แกนนำกร้าวไม่ยอมรับคำตัดสิน เดินหน้าดัน 10 ข้อทะลุฟ้า แนวร่วมจุดไฟเผาประท้วงคำตัดสิน

เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 10 พ.ย.64 ที่สำนักศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของกลุ่มแกนนำม็อบคณะราษฎร 63 ที่ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ซึ่งจัดชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

โดยก่อนจะอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งรายชื่อบุคคลที่เข้ามารับฟังคำวินิจฉัย โดยนายณฐพร ในฐานะผู้ร้อง ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง ส่วนนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1มอบหมายให้นายกฤษฎางค์ นุตจรัส เป็นผู้แทนมาศาล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 มอบหมายให้นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม เป็นผู้แทนมาศาล ส่วน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยเอง

จากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกลางในคำร้องคดีดังกล่าว โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเอกสารชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกเสียงคำปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.63 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ผู้ถูกร้องทั้งอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ข้อ กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าคำร้องคลุมเครือไม่ชัดเจนครบองค์ประกอบตามมาตรา 49 หรือไม่

คำวินิจฉัยระบุว่า ศาลเห็นว่าเมื่อพิจารณาคำร้องเป็นการอ้างถึงการที่ผู้ถูกร้องปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือนจาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยที่เอกสารต่างๆ รวมทั้งถอดคลิปเสียงที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 กับพวกประกอบมาท้ายคำร้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องเช่นนี้คำร้องจึงมีความชัดเจนและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีได้ ข้อโต้แย้งนี้ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ พิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 มีการบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยนอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

คำวินิจฉัยระบุอีกว่า บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สามารถแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ และส่วนที่รัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นไม่ได้มีการบัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวทั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้การคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพทุกกรณีทั้งที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และที่ไม่ได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นห้ามหรือจำกัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ วรรค 2 บัญญัติว่า ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

วรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ และวรรคสี่บัญญัติว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาของผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้กับกลายและคุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยอีกว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องคำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานต่างๆ ที่สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ผู้ถูกร้องทั้ง 3 จัดชุมนุมปราศรัยเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

การปราศรัยของนายอานนท์ นำภา ผู้ ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า "ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่อยืนยันว่านอกจากข้อเสนอ 3 ข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่เป็นข้อเสนอสำคัญที่สุดคือ การแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบที่พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดวันนี้คือข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเราระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองต่อไปนี้ต้องถูกตั้งคำถามดังๆ ต่อสาธารณะ เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้าหาประชาชน ไม่ใช่ให้เราปรับตัวเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของการปกครองที่พวกเรามีอยู่ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามใช้อำนาจผ่านการรัฐประหารปี 2557 พระมหากษัตริย์ ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากการรัฐประหารเกิดขึ้น พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น"

ส่วนนายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า "นับแต่คณะราษฎรนำโดยท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านพระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีการปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมคิดว่าการใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ยาวมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เพราะกษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ อำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ถามว่าทำไมต้องพูดแบบนี้ ท่านเคยรู้หรือไม่ครับว่าหมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง บอกไว้ว่าผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์ได้ เช่นนี้แล้วแสดงว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย คือการอยู่เหนืออำนาจของประชาชนโดยที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแตะต้องคนนั้นต้องโดนมาตรา 112"

และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 มีสาระสำคัญสรุปว่า "นับแต่คณะราษฎรเกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยหวังว่าประเทศจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เหนือระบอบการเมืองอย่างแท้จริง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระมหากษัตริย์ยังคงทรงอำนาจแทรกแซงเหนือการเมือง เมื่อเกิดรัฐประหารพระมหากษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้ารัฐประหาร รวมทั้งถ่ายโอนงบประมาณแผ่นดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรงใช้พระราชอำนาจนอกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และให้สามารถเสด็จฯ ไปประทับนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลเผด็จการยอมสยบอยู่ภายใต้มือของพระมหากษัตริย์ด้วยอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา เห็นได้ว่าพวกเขาเหล่านี้สมประโยชน์กันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่ากษัตริย์ประเทศไทยนี้ไม่ได้ทรงอยู่เหนือการเมือง หากแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองตลอดมา นอกจากจะทรงละเลยหน้าที่การเป็นประมุขยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนแล้ว ยังเสด็จฯ ไปเสวยสุขประทับอยู่ต่างแดน โดยใช้เงินภาษีของราษฎรทั้งที่ราษฎรประสบความยากลำบาก อีกทั้งยังมีสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มกบฏผู้ก่อการรัฐประหาร กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบทลักษณะการห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 49 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ได้วางหลักคำว่าล้มล้างว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยจะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญ สูญสลาย หมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิดหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพ สักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

คำวินิจฉัยระบุอีกว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังปรากฏใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า เมื่อมีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังที่จะกล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญคือ 1.กษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3.คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่ากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศพระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามกษัตริย์ ต่อมาเมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว บททั่วไปมาตรา 2 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยย่อมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น แต่โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 3 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นต้น

"ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายและการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่นายณฐพร โตประยูร ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนแปลงผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์แบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ถูกผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดม ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม" คำวินิจฉัยระบุ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ 1.เสรีภาพ หมายถึงทุกคนมีสิทธิ์คิด พูด และทำอะไรก็ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม 2.เสมอภาค คือทุกคนมีความเท่าเทียมกัน 3.ภราดรภาพ หมายถึงคนทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันพี่น้อง มีความสามัคคีกัน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการพูด เขียนหรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงหลักความเสมอภาค ภราดรภาพ ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมทั้งล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วย ด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีส่วนในการจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้ยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีของพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้องสิทธิ์ 10 ข้อของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการรับบริจาคโดยพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะเป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา

"ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งแล้ว แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ด้วยเหตุดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามมาตรา 49 วรรคสอง" คำวินิจฉัยระบุชัด (อ่านรายละเอียดหน้า 4)

โดยคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

"รุ้ง"กร้าวไม่ยอมรับคำตัดสิน

หลังมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมา มีปฏิกิริยาและความคิดเห็นต่างๆ ตามมาทันที โดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้อง ได้อ่านแถลงการณ์ว่า ข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เบื้องต้น ข้าพเจ้าเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยจิตวิญญาณอันซื่อตรงต่อหลักนิติธรรม แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้ เพราะขาดซึ่งความชอบอย่างยิ่งด้วยกระบวนพิจารณาคดี แม้ศาลจะสามารถใช้ดุลพินิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง แต่การใช้ดุลพินิจนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม แต่ทั้งนี้ในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลกลับไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ไม่ยอมให้นักวิชาการเข้าให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

น.ส.ปนัสยากล่าวอีกว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว และขอเน้นย้ำอย่างบริสุทธิ์ใจว่า ข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ในทางกลับกันข้าพเจ้ากลับเห็นว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมจะส่งผลเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง และเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์เจริญวิวัฒน์พัฒนาสถาพรขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยังขอยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ล้วนแต่เป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการจะให้สถาบันกษัตริย์ของไทยมีความชอบธรรม และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสง่างาม ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล

"ข้าพเจ้าขอให้การตัดสินวินิจฉัยในครั้งนี้ จงถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ว่าการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หมายถึงการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้คำตัดสินดังกล่าวอันพวกท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมหรือสนับสนุน จงเป็นกระจกสะท้อนต่อเบื้องลึกในจิตใจของท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกลัวต่อสภาพอันเปราะบางที่ดำรงอยู่ ซึ่งพวกท่านต่างรู้ได้ด้วยมโนนึก และผ่านการกระทำของท่าน และขอให้ท่านทราบว่า พวกท่านกำลังมีส่วนในการขัดขวางปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านกลุ่มผู้สนับสนุนม็อบสามนิ้วที่มาร่วมฟังการอ่านคำวินิจฉัยหน้าศาลรัฐธรรมนญ เมื่อทราบคำวินิจฉัยต่างพากันไม่พอใจ และตะโกนด่าทอคำตัดสินดังกล่าวด้วยคำหยาบคาย พร้อมร่วมกันโปรยกระดาษยกเลิกมาตรา 112 ทั่วบริเวณหน้าทางขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ตำรวจตรึงกำลังรักษาความปลอดภัย เพราะกลุ่มมวลชนยังอารมณ์ค้างไม่ยอมเดินทางกลับ จากนั้นผู้สนับสนุนกลุ่มม็อบมีการนำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองมาวางหน้าเสาธงชาติ ราดน้ำมันก่อนจุดไฟเผาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล และยังคงตะโกนด่าทอการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง