กรมชลระดมเครื่องสูบน้ำ หลายเขื่อนเริ่มถึงจุดวิกฤต

"บิ๊กป้อม" ลุยต่องานน้ำท่วม  สั่งทำแผนแม่บท 20 ปีแก้ปัญหาน้ำยั่งยืน  จี้หลัง กทม.เร่งทำแผนเสนองบฯ ทันปี 67 รัฐบาลตื่นแล้ว เปิดไลน์แจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง ด้านกรมชลฯ ระดมเครื่องสูบน้ำทั่วประเทศช่วย ปชช.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำเนียบฯ โต้ข่าวพายุลูกใหม่ก่อตัวถล่มไทย ชาวบ้านบางบาลอยุธยาปักธงแดง วิกฤตน้ำท่วมถึงขอบหน้าต่าง ขณะที่ขอนแก่นระทึก เขื่อนอุบลรัตน์ระดับมวลน้ำไหลล้นคันดิน แจ้งอพยพ

เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/65 และประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/65 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมด้วย เพื่อเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (66-80) ที่มุ่งจัดการให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำอุปโภคบริโภค การจัดการอุทกภัย บริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณภาพ สมดุล มีส่วนร่วมและมั่นคงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขอให้นำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ไปขับเคลื่อนดำเนินการ โดยให้มีแผนงานโครงการและงบประมาณรองรับ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ กทม.เร่งจัดทำแผนเร่งด่วน เสนอของบประมาณให้ทันปี 67 และให้กรมชลประทานและสมุทรปราการ ประสานการทำงานร่วมกับ กทม. ให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน เพื่อลดปัญหาและผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ กทม.

 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีแนวนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและการเตือนภัยพิบัติของประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนา LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารข้อมูลและแจ้งเตือนภัยพิบัติแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ โดยประชาชนที่สนใจสามารถแอดไลน์ไอดี @linealert เพื่อรับข่าวมูลข่าวสาร และอัปเดตสถานการณ์ภัยพิบัติ

วันเดียวกัน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลมาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล ร่วมกับโครงการชลประทานทั่วประเทศ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“โดยให้มีการตั้งเครื่องผลักดันน้ำ  เครื่องสูบน้ำ เพื่อให้แต่ละพื้นที่รับน้ำต่อเป็นช่วง และเร่งระบายออกทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบประชาชน ปัจจุบันมีการตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ ทั้งสองฝั่งจำนวน 69 เครื่อง จากเดิมที่มีประจำสถานีจำนวน 366 เครื่องเพื่อเสริมการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเมื่อภาวะน้ำทะเลหนุนเริ่มลดลง จะเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามจังหวะน้ำทะเลขึ้นลงทันที เพื่อเร่งระบายน้ำออกทะเล ซึ่งสามารถร่นระยะเวลาการเดินทางของน้ำจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600  เมตร ทั้งนี้ กำชับให้ทุกพื้นที่ดูแลประชาชนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบต่อเนื่อง” นายประพิศกล่าว

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวลือพายุลูกถัดไป “เนสาท” กำลังจะก่อตัวในวันที่ 12 ต.ค.นี้ ซึ่งจะกระทบทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานจะได้รับผลกระทบหนักสุด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเป็นข้อความที่มาจากบุคคลที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่แจ้งเตือนภัยธรรมชาติโดยตรง อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ความคลาดเคลื่อน โดนกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งว่า จากการติดตามและคาดการณ์ในช่วงวันที่ 9-12 ต.ค.65 จะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีฝนตกหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะแรก หรือหากมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุ แต่โอกาสที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยและมีผลกระทบนั้นมีน้อยมาก และอาจจะอ่อนกำลังลงและสลายตัวก่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามได้

"ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศร้ายแรงเกิดขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศเตือนอย่างเป็นทางการ โดยหากมีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ และมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ประเทศไทยหรือส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะประกาศเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน" น.ส.รัชดา  กล่าว

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากการเป็นประธานในการประชุมถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วมและการเตรียมการสำหรับปีต่อไป โดยมีผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมว่า มีการถอดบทเรียน ซึ่งในปีหน้าหรือในระยะต่อไปจะต้องดีขึ้นอีก เราจะต้องช่วยกัน ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบว่าบริเวณใดมีปัญหาน้ำท่วมหรือเป็นอุปสรรค ตาของท่านสำคัญ ขอให้แจ้ง กทม.เพื่อดำเนินการแก้ไขทันที

ผู้สื่อข่าวระบุว่า ในที่ประชุมมีการสรุปปัญหาที่เกิดจากฝนตกหนักที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.จุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ในรอบที่ผ่านมา รวมทั้งในปี 2564 2.ปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เช่น วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ  และ 3.ข้อมูลที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในปีต่อไป ซึ่งจะมีการสรุปข้อมูลในภาพรวมทุกกลุ่มเขต และทำให้เป็นระบบ ระบบนี้คือจะทำอย่างไรให้น้ำในพื้นที่เขตระบายลงคลองหลักให้เร็วที่สุด

ที่ จ.อ่างทอง บริเวณสะพานบ้านสาย ถนน 309 อ่างทอง-อยุธยา รอยต่อตำบลบางปลากด ตำบลบางเสด็จ และตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก กระแสน้ำยังคงไหลแรง น.ส.สุนันทา นิ่มน้อย อายุ 27 ปี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 8 ระบุว่า ได้พาลูกน้อยวัย 3 เดือนมาอาศัยเพิงพักชั่วคราวที่บริเวณริมถนน 309 อ่างทอง-อยุธยานานหลายวันแล้ว โดยนอนที่ริมถนนกัน 3 คนพ่อแม่ลูก ใช้ชีวิตอย่างอยากลำบาก กระแสน้ำได้ทำขวดนมลูกสาวคนเล็กลอยไปกับน้ำพร้อมกับผ้าอ้อม แพมเพิร์ส ก็ใช้ขวดนมลูกชายคนโตมาแทน ให้กินไปก่อน รอเงินเดือนสามีออกจะได้ไปซื้อต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาพรวมยังน่าห่วง  หลังเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ ทำให้บ้านเรือนท้ายน้ำที่ลุ่มต่ำเผชิญภาวะน้ำท่วมขัง ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง เดือดร้อนสุดคือผู้สูงอายุที่ไม่ยอมทิ้งบ้าน ลำบากไม่มีห้องน้ำใช้

สถานการณ์น้ำท่วม อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ขยายวงกว้างมากขึ้น หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มระบายน้ำเกิน 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พื้นที่ฝั่งตะวันตกคันดินกั้นน้ำบริเวณบ้านท่าทราย ม.1 ต.บางหลวง ม.2 ต.ตลุก และ ม.6, ม.9 ต.หาดอาษา ถูกน้ำเซาะขาดช่วงกลางดึก น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว แม้ชาวบ้านจะเก็บข้าวของขึ้นที่สูงกันไว้ก่อนแล้ว ส่วนชาวบ้านบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีปักธงแดง หลังเจอวิกฤตน้ำท่วมสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน อ.บางบาล น้ำขึ้นอีก 10 เซนติเมตร โดยเฉพาะ ต.บ้านกุ่ม ชาวบ้านปักธงแดงหลังคา แสดงสัญลักษณ์ความยากลำบาก ขอให้รัฐบาลช่วยบริหารจัดการน้ำ

ที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขื่อนอุบลรัตน์มีการระบายน้ำเพิ่มทุกวัน ทำให้น้ำพองเอ่อท่วมในพื้นที่ตำบลศิลาไปหลายหมู่บ้าน แต่ทางจังหวัดและทางอำเภอมีคำสั่งให้ปิดเส้นทางน้ำ ห้ามไหลเข้าพื้นที่เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศด่วนที่ 28/2565 โดยนายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำการแทน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือเขื่อนอุบลรัตน์ แจ้งให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพ ขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินขึ้นที่สูง วันที่ 7 ต.ค. 2565 ยังคงมีมวลน้ำไหลเข้าถึง 187 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การระบายออกนั้นระบายได้เพียง 41 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการคาดการณ์ยังคงมีปริมาณน้ำในลุ่มน้ำพรม-เชิญ ลำน้ำพอง และลำพะเนียง รวมถึงน้ำที่หลากในพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มากกว่าวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นมวลน้ำรวม  800-1,000 ล้าน ลบ.ม. จะส่งผลให้ระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มสูงขึ้นถึง 184.00 เมตร

 และในวันที่ 8 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นระดับวิกฤตที่มวลน้ำจะไหลล้นคันดินด้านเหนือเขื่อน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จำเป็นต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มมากขึ้น โดยวันที่ 7 ต.ค. เขื่อนจะระบายน้ำที่ 41 ล้าน ลบ.ม., วันที่ 8 ต.ค. จะระบายน้ำที่ 45 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 9 ต.ค. จะระบายน้ำที่ 50 ล้าน ลบ.ม.

จากสถานการณ์ดังกล่าว กฟผ.มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำพอง-ชี ขอให้เตรียมพร้อมอพยพ ขนย้ายสิ่งของ และทรัพย์สินขึ้นที่สูง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง