แอมเนสตี้ฯจุ้นศาล! ชี้คำตัดสินสร้างเงามืด จรัญเชื่อแค่ป้องปราม

“จรัญ” เชื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหวังแค่ป้องปรามไม่ให้ลุกลาม ชี้ไม่พอใจรัฐบาลก็ไล่ไป แต่ไม่ควรแตะต้องประมุขของชาติ “บิ๊กป้อม” เชื่อเอาอยู่ไม่บานปลาย “สิระ-เสกสกล” ประสานเสียงรุมจวก “ธนาธร-ปิยบุตร” เป็นอีแอบส่งเด็กมาตายแทน 3 นิ้วยังไม่หยุดเคลื่อนไหวนัดชุมนุมใหญ่ 14 พ.ย. ย้ำปฏิรูปไม่ได้ล้มล้าง แอมเนสตี้ฯ โผล่แล้ว บอกคำวินิจฉัยฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทย กดขี่สิทธิคนไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้อำนายการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามในช่วงท้ายการบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 ในเรื่องคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการล้มล้างการปกครองว่า คำวินิจฉัยของศาลต้องการออกมาเตือน ป้องปรามว่าการกระทำของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่มีขอบเขต ผิดกฎหมาย และมีความผิดระดับร้ายแรง แต่หากถือตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ถือว่าร้ายแรงมาก จึงเหมือนอยากจะให้ถอยกันให้หมด

นายจรัญกล่าวต่อว่า คำวินิจฉัยชัดเจนว่ามีผลเฉพาะคนที่ทำผิด คือผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันคนอื่น แต่อาจมีคนตกใจ โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายที่เคยสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แต่ครั้งนี้คำวินิจฉัยถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน คือคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นโดยตรง ซึ่งมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และคำวินิจฉัยที่การนำประเด็นต่างๆ มาขยายเหตุผลว่าศาลได้ผ่านกระบวนการความคิดประมวลมาต่างๆ จึงนำมาแสดงเหมือนชักแม่น้ำทั้ง 5 มาให้ประชาชนได้ทราบ เพราะศาลยึดหลักมาโดยตลอดว่า ศาลจะไม่ชี้แจงหลังการพิจารณา ดังนั้นเหตุผลที่เป็นองค์ประกอบจึงไม่มีผลผูกพัน

นายจรัญกล่าวว่า ก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกและแก้ไข และบังเอิญว่าสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ และยอมรับว่าถูกขู่เช่นกัน แต่ขอบอกเลยว่าไม่มีใครเขากลัวคำขู่หรอก คนทำงานมาถึงขนาดนี้ พร้อมที่จะตายได้ทุกวัน เพราะตอนนี้อยู่ก็ถือเป็นกำไร แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือของจริงไม่ใช่คำขู่

“ผมขอวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า ต้องการปราม เพราะไม่ต้องการให้ลุกลามไปมากกว่านี้ เพราะถ้าคุณไม่พอใจรัฐบาล คุณก็โค่นล้มรัฐบาลไป ไม่ควรต้องมาเกี่ยวข้องกับประมุขของชาติ ดังนั้นขออย่าตกใจ และขอให้มั่นใจว่าคนในวงการตุลาการจะไม่บ้าจี้ให้เกิดความรุนแรงทางใดทางหนึ่ง และมั่นใจว่าเมื่อคำตัดสินออกมาแบบนี้ เหตุการณ์จะสงบขึ้น” นายจรัญกล่าว

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังวลในเรื่องดังกล่าวจะทำให้เกิดสถานการณ์บานปลายว่า ใครจะกังวลก็กังวลไป แต่ส่วนตัวไม่กังวล คุณจะกังวลก็กังวลไป และเรื่องนี้ก็ตอบไปแล้วจะถามอะไรซ้ำๆ ส่วนที่ฝ่ายค้านเขาเป็นกังวล เขาก็ต้องกังวลอยู่แล้วแหละ แต่เชื่อว่าไม่มีอะไรบานปลาย

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2563 ได้แจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 116 กรณีไปร่วมชุมนุมในสถานที่ห้ามชุมนุม ภายหลังมีภาพทั้ง 3 คนไปชูสามนิ้วกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งพฤติกรรมของ ส.ส.ทั้ง 3 เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุม พร้อมทั้งยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจริยธรรมกับบุคคลทั้ง 3 ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งในส่วนของคดีความและที่ ป.ป.ช. เพราะถ้าไม่มีพวกชี้นำสนับสนุนคงไม่เกิดการชุมนุม ซึ่งเป็นห่วงเยาวชนว่าจะตกเป็นเหยื่อ เพราะมีคนยุยง และคนที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้กลับไม่เคยโดนอะไรเลย

รุมซัด “ธนาธร-ปิยบุตร”

นายสิระกล่าวว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบพฤติกรรมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ด้วยว่าสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง เพื่อแจ้งความตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ต่อไป ส่วนพรรคก้าวไกลคิดว่าน่าจะโดนยุบพรรคด้วย เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าสนับสนุนผู้ชุมนุมและการแก้ไขมาตรา 112 อีก

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ความเห็นถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า นายปิยบุตรออกอาการกินปูนร้อนท้อง ออกดิ้นทุรนทุรายเหมือนสุนัขถูกน้ำร้อนลวก เพราะการตัดสินวินิจฉัยของศาลทำให้นายปิยบุตรผิดหวัง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ทุกคนรู้ว่าแผนการชั่วร้ายที่ส่งแกนนำคณะราษฎรเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวคิดปฏิรูปหรือล้มล้างการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

“นายปิยบุตรและพวกส่งลิ่วล้อ ลูกสมุนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ถูกดำเนินคดี เดินเข้าเดินออกติดคุกติดตะรางเป็นว่าเล่น แต่ตัวนายปิยบุตรกับนายธนาธรเองกับทำตัวเป็นมนุษย์ล่องหน เห็นแก่ตัว เอาตัวรอด ปล่อยให้เด็กเหล่านี้ออกมารับกรรมแทน นี่คือความชั่วช้าสารเลว เห็นแก่ตัวที่สุดของตัวของนายปิยบุตรและพวก เป็นอีแอบคอยสั่งการอยู่เบื้องหลัง มีคนไทยคนไหนบ้างที่ไม่รู้พฤติกรรมของนายปิยบุตรและนายธนาธรบ้าง แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผูกพันทุกองค์กร นั่นคือผูกพันกับคนคิดวางแผนชั่วช้าอย่างนายปิยบุตรและนายธนาธรด้วย ให้เตรียมตัวรับชะตากรรมที่ทำกับแผ่นดินไทยและสถาบันไว้ เคยเตือนหลายครั้งแล้ว จุดจบของคนที่คิดไม่ดีต่อแผ่นดินไทย คิดร้ายต่อสถาบัน นั่นคือจะไม่มีที่ซุกหัวนอน ไร้แผ่นดินอยู่”

นายเสกสกลยังกล่าวถึงกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายขับไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า นายณัฐวุฒิเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มม็อบราษฎรและเครือข่ายใช่หรือไม่ ถึงได้กล้าการันตีว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีเจตนาล้มล้างสถาบัน หรือที่ผ่านมานายณัฐวุฒิหูหนวกตาบอด ถึงไม่ได้ยิน ไม่เห็นสิ่งที่นายอานนท์ นำภา, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายภาณุพงศ์ จาดนอก รวมถึงเครือข่ายได้เคลื่อนไหวจาบจ้วงล้วงละเมิดสถาบันมาโดยตลอด ถ้าบุคคลเหล่านี้ไม่มีเจตนาล้มล้างสถาบัน ทำไมถึงจะต้องมีการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง และมีเจตนาที่จะยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

“นายณัฐวุฒิเขียนแบบนี้ เหมือนกำลังท้าทายอำนาจศาลหรือไม่ เพราะศาลตัดสินด้วยข้อมูลหลักฐาน ไม่ใช่การนั่งตัดสินด้วยความรู้สึกแบบที่นายณัฐวุฒิเขียน ดังนั้นถ้านายณัฐวุฒิกล้ารับประกันว่าคนพวกนั้นไม่คิดล้มล้างสถาบัน ก็ขอให้นายณัฐวุฒิประกาศให้ชัดๆ รับรองสถานะ และการกระทำของกลุ่มคนเหล่านั้นไปเลย คนไทยจะได้รู้กันชัดๆ ว่านายณัฐวุฒิคิดอย่างไรกับการเคลื่อนไหวจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน”

นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการและผู้อำนวยการ คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายองค์กรภายนอก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า หลังมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายเเนวร่วมล้มล้างสถาบัน ล้มล้างการปกครองอดรนทนไม่ไหว กระสับกระส่ายทยอยกันเปิดหน้าเผยธาตุแท้ เปลือยพฤติกรรมถาวรออกมาสู่สาธารณชน จึงอยากย้ำฝ่ายความมั่นคง ซึ่งคงมีมาตรการเฝ้าระวังสูงสุดอยู่ เฝ้าผลกระทบที่จะตามมาต่อเนื่อง จากผู้ที่มีเจตจำนงล้มล้างในคราบนักการเมือง นักวิชาการ NGO เเนวคิดซ้ายล้าสมัยที่มีปมฝังในอดีต ร่วมกันเคลื่อนไหวไปสู่ความรุนเเรงจนถึงการก่อการร้าย ซึ่งสังคมไทยและสากลได้เห็นพฤติกรรมเเนวเคลื่อนไหวเช่นนี้มาตลอด

เมื่อช่วงเย็น ที่ศาลอาญา มวลชนกลุ่มปฏิรูปสถาบันเเละกลุ่มราษฎรเอ้ย จำนวนกว่า 30 คน ได้เดินทางมาชุมนุมหน้าศาลอาญา และมีการอภิปรายหัวข้อ "ปฏิรูปไม่ได้แปลว่าล้มล้าง" ผ่านเครื่องเสียงขนาดย่อม โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ., ตำรวจ บก.น.2 และตำรวจ สน.พหลโยธิน รวม 2 กองร้อย คอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งในเเละหน้าศาลอาญา รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจศาลมีการนำโซ่กุญเเจมาคล้องประตูทางเข้าศาลอาญาเพื่อรักษาความปลอดภัย โดยเนื้อหาการปราศรัยยังคงยืนยันข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และย้ำว่าไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. เปรียบเทียบการรัฐประหารที่ผ่านมา รวมทั้งมีการอ่านแถลงการณ์สองภาษา เนื้อหากล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีการอ้างคำพูดที่ตัวแทนประเทศไทยพูดในที่ประชุมสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 14 พ.ย. เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และเคลื่อนขบวนไปยังสนามหลวง

แอมเนสตี้ฯ จุ้นคำวินิจฉัย

ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีการส่งเอกสารข่าวถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในเรื่องนี้ โดยเอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้ไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ แต่มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคน ที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งสามคนและบุคคลอื่นๆ อีกมาก โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต

“ถ้าคำวินิจฉัยนี้มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว และขัดขวางพวกเขาจากการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ผลที่ออกมาจะตรงกันข้าม ดังที่เห็นจากการติดแฮชแท็กอย่างกว้างขวาง การส่งทวีตและข้อความทางโซเชียลมีเดียมากมายทันทีหลังศาลมีคำวินิจฉัย ประชาชนชาวไทยกว่า 200,000 คน ได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย”

โดยเอ็มเมอร์ลีนยังระบุว่า เป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของไทยที่กรุงเจนีวา โดยในรอบก่อนหน้านี้ ไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถือเป็นสัญญาณต่อประชาคมระหว่างประเทศ ว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

“คำวินิจฉัยนี้ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทยที่เริ่มเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ นับเป็นเรื่องน่ากังขาในเจตนาของรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาพักผ่อนในประเทศ แต่กลับจำกัดและกดขี่สิทธิของคนไทยเอง”

ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อ.1629/2564 ที่พนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอานนท์ นำภา เป็นจำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ กรณีเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563 จำเลยร่วมปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยศาลได้เบิกตัวนายอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังการพิจารณา

นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ กล่าวถึงการพิจารณาคดีนี้หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องล้มล้างการปกครองว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคท้ายระบุไว้ว่า การดำเนินการไม่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินคดีอาญา หมายความว่าการพิจารณาคดีอาญาก็จำเป็นต้องพิจารณาตามองค์ประกอบในทางอาญา ไม่ใช่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วจำเลยในคดีอาญาจะผิดเลยหรือถูก ขอยกตัวอย่างกรณีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครอง ต่อมาเมื่อมีการดำเนินคดีอาญาก็มีแกนนำหลายคนที่ถูกพิพากษาลงโทษเหมือนกัน ดังนั้นความผิดในทางอาญากับความผิดที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องแยกออกจากกัน

เมื่อถามว่า มีความกังวลกับการดำเนินคดีในวันนี้หรือไม่ นายนรเศรษฐ์ ตอบว่า ในคดีนี้ไม่กังวล เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 3 ส.ค.2563 แต่วินิจฉัยในเหตุการณ์ของวันที่ 10 ส.ค.2563 ดังนั้นจึงเป็นคนละเหตุการณ์อยู่แล้ว และนายอานนท์ก็พร้อมต่อสู้คดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง