สภากทม.ตีตกสายสีเขียว ชัชชาติชิ่งโยนกลับครม.

รถไฟฟ้าสายสีเขียวจอดป้าย  กทม. สภา กทม.ถกเดือด! ตีตกญัตติ "ชัชชาติ" อ้างไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าฯ ย้ำโครงการต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนให้ถูกต้อง โยนกลับ ครม.พิจารณา ส.ก.ก้าวไกลประสานเสียงไม่เอาด้วย บี้เปิดสัญญาหาทางออกร่วมกัน

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร  เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายวิรัตน์แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้รับหนังสือด่วนที่สุด จากผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค. เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมกับหนังสือด่วนที่สุดจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ขอชี้แจงขั้นตอนการบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ตนได้ปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหมด แต่บางญัตติเอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้เสียเวลาต่อการบรรจุญัตติ โดยเฉพาะญัตติที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย จึงต้องขอรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับการประชุม ผู้ว่าฯ กทม.จะเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่องแนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง เสนอให้รวมทั้งสองญัตติเข้าด้วยกัน โดยที่ประชุมสภา กทม.มีมติให้รวมทั้งสองญัตติเข้าด้วยกัน จากนั้น ส.ก. ส่วนใหญ่ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภา กทม.

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอหารือประธานสภา กทม. และผู้ว่าฯกทม. เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใหญ่กว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ควรให้ ส.ก.ชุดนี้รู้รายละเอียดต่างๆ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มากกว่านี้ ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้ ในการปรึกษาหารือกับ ส.ก. ญัตติดังกล่าวจะทำให้เป็นภาระกับ กทม. ถ้าไม่มีคำสั่ง คสช. จะไม่เกิดปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ จึงเห็นว่าควรให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อนแล้วค่อยกลับมาหารือกันใหม่อีกครั้ง

ด้านนายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรเป็นญัตติ ควรเป็นการเสนอขอความเห็นเท่านั้น ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภา กทม.และผู้ว่าฯ กทม. จึงขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไป และหากยังมีญัตติดังกล่าวอยู่ จะขอออกจากการประชุม พร้อมกับเดินออกไปจากห้องประชุมทันที

 จากนั้นนายวิรัชได้เสนอให้ถอนญัตติดังกล่าว โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ซึ่งทำให้ญัตติถูกถอนออกไป ส่งผลให้ญัตติของนายชัชชาติต้องตกไปโดยปริยาย จากนั้นประธานสภา กทม.ได้สั่งพักการประชุม และเมื่อเปิดประชุมอีกครั้งได้มีการพิจารณาวาระถัดไป

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นายไสวเปิดเผยว่า การให้ความเห็นเรื่องการบริหารงาน หรือการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา กทม. คณะกรรมการฯ ก็มีความห่วงใยเกี่ยวกับดอกเบี้ยค่าจ้างเดินรถที่เพิ่มขึ้นทุกวัน 

 “สภา กทม.ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติราคาค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ได้ เป็นไปตามมติสภา กทม.ชุดก่อนที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสาร สภา กทม.ยินดี หากอนาคตฝ่ายบริหารจะเสนอของบประมาณจากสภา กทม.ไปชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนต่างหลังเก็บค่าโดยสาร 15 บาท แต่ขอให้ฝ่ายบริหารดำเนินการเรื่องตามระเบียบให้ถูกต้องก่อน” นายไสวกล่าว

ขณะที่นายชัชชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมสภา กทม.ยังไม่พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ถอนเรื่องออกไปก่อน เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบ รอให้คณะกรรมการสามัญจราจรและขนส่งรายงานข้อมูลก่อน ที่ประชุมแสดงความเห็นหลากหลายว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กทม. เป็นอำนาจของ คณะกรรมการฯ ที่ คสช.ตั้งขึ้นมา คงต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ กทม.ไม่ได้เริ่ม จริงๆ ที่นำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสภา กทม.ไม่ต้องการมติสภา แค่ฟังความเห็น  มีการเสนอความเห็นเยอะมาก ถือเป็นเรื่องดีที่มีการพูดคุยกัน

สำหรับการเก็บค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายที่ 2 อัตรา 15 บาทนั้น ขอดูอีกครั้ง เพราะยังไม่ได้ความเห็นจากสภา กทม. และที่ต้องเสนอสภา เพราะจะมีเงินส่วนต่างจากค่าจ้างเดินรถ สุดท้ายก็ต้องเสนอสภา กทม.เพื่อของบสนับสนุน จึงต้องทำให้รอบคอบ ยอมรับเรื่องนี้มีข้อมูลเยอะมาก ต้องใช้เวลา ส่วนความเห็นเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทยสอบถาม กทม.และสภา กทม.มานั้น ฝ่ายผู้บริหาร กทม. เตรียมทำหนังสือตอบกลับยืนยันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรทำผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้รัฐบาลช่วยรับภาระค่าโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าโดยสาร เพราะช่วงหาเสียงได้ฟังจากประชาชน ส่วนใหญ่เห็นไปทางเดียวว่าให้เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้รอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี จะมีมติเห็นชอบอย่างไร

นายชัชชาติกล่าวว่า แนวคิดที่จะคืนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลนั้น รถไฟฟ้าทุกเครือข่ายควรมีเจ้าของเดียวเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการกำหนดค่าโดยสาร การคืนภายใต้เงื่อนไขรัฐควรชดเชยรายได้ที่ กทม. ที่คาดว่าจะได้รับหลังหมดอายุสัมปทาน ปี 2572 รวมถึงให้รัฐประกันราคาค่าโดยสารเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน อย่ามองว่ากทม.ขายโครงการแลกเงิน เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลักไข่แดง มท.มอบหมายให้ กทม.ดำเนินการโดยเปิดให้เอกชนลงทุนเองทั้งหมด หากส่งคืนคือว่าเป็นการคืนโครงการให้กับรัฐตอนนี้อย่าเพิ่งพูดไปถึงจุดนั้น เพราะต้องใช้เวลาพิจารณากันอีกนาน

ส่วนนายพีรพลเปิดเผยอีกครั้งว่า แนวทางการเก็บค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม.เรื่องดำเนินโครงการรถไฟสายสีเขียว ไม่ใช่อำนาจของสภา กทม.เลย หาก กทม.หรือรัฐบาลมีความโปร่งใสจริงต้องนำข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในมือมาให้พวกเรา เพราะจะให้พิจารณา โดยไม่รู้อะไรเลยเพื่อเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำมาถูกต้องนั้น เราจะไม่ทำสิ่งนี้

นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.บางนา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส.ก.ทุกคนยังไม่เห็นสัญญาเลย จุดยืนพวกเราชัดเจนที่จะให้ทีมผู้บริหารเปิดเผยสัญญาให้ประชาชนรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสัญญาที่ต้องรับผิดชอบ หรือแผนการรับมือกับหนี้ที่จะเกิดขึ้น ส่วนการประมูลเราเห็นชอบที่จะไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และต้องออกทีโออาร์การประมูลที่เป็นธรรมกับผู้ประมูล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง