‘พิธา’ลั่นไม่คบ‘พปชร.’

.vce-row-container .vcv-lozad {display: none}

"พิธา" ประกาศลั่น พร้อมจับมือเพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่ไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ รอใบสั่งจากประชาชน   เพื่อไทยชี้สภาล่ม พ.ร.บ.กัญชาฯ ปชป.-ภท.ฟัดกันนัว ชี้เป็นจุดจบรัฐบาล "สนธิรัตน์" ให้จับตาหลังเอเปก การเมืองมีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางพรรคการเมือง กรณีถ้าพรรคเพื่อไทยจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม  พรรคก้าวไกลจะสามารถร่วมรัฐบาลกันได้หรือไม่ว่า ไม่วิจารณ์พรรคเพื่อไทย  เพราะว่าไม่ใช่พรรคของตน สิ่งที่ควบคุมได้ก็คือการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอานโยบายที่ถูกต้อง และมีเงื่อนไขที่อยู่บนโต๊ะให้ประชาชนได้ทราบ เพราะต้องการผลักดันนโยบายที่เป็นลายเซ็นของตน

นายพิธาบอกว่า ยังไม่มีการหารือกับกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลว่าเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร ถึงเวลาถ้าคณิตศาสตร์การเมืองผลมันออก มีใบสั่งจากประชาชนแล้วว่าต้องทำอย่างไร เดี๋ยวเราต้องค่อยว่ากันว่าเงื่อนไขคืออะไร ก็ต้องคุยกันในคืนวันที่ผลเลือกตั้งออก

"การร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อุดมการณ์ต่างกัน และสืบทอดจากอำนาจเผด็จการ ตอนนี้มันฟันธงแบบนั้นไม่ได้ แต่สามารถพูดได้ว่าจะร่วมงานกับใคร เอาเงื่อนไขมาเป็นตัวตั้ง ไม่มีการเจรจาใต้โต๊ะ ก็ต้องรู้ว่าเงื่อนไขของเรามีอะไรที่ยอมได้หรือไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็พูดได้ว่ามันมีพรรคการเมืองที่มาจากระบบรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจ ที่เราไม่มีวันเข้าร่วมอย่างแน่นอน ส่วนตรงกลางเราต้องดูอีกทีหนึ่งว่ามันเป็นอย่างไรเพราะเราต้องอยู่กับความเป็นจริงในทางการเมือง แต่ที่แน่ๆ ถ้ามาจากการสืบทอดอำนาจ ไม่ได้มาจากประชาชน มีการคอร์รัปชัน เราไปด้วยไม่ได้อยู่แล้ว" นายพิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสมมติฐานที่ไม่ต้องไปถึงขนาดนั้น เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนจากทางพรรคเพื่อไทย ก็ยินดีกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ส่วนมีสูตรการจับขั้วอย่างไร เป็นสมมติฐานที่อยู่ไกลเกินกว่าหัวหน้าพรรคอย่างตนตอบ ให้เป็นประเด็นการเมืองต่อไปได้

เมื่อถึงกระแสข่าวที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อาจจะออกแยกมาทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์    จันทร์โอชา ที่รวมไทยสร้างชาติ จะลดทอนเรื่องของการตัดสินใจที่จะร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ นายพิธากล่าวว่า ตอบไม่ได้ แต่ทำงานกันไม่ได้แน่นอน เป็นนายกฯ คนละครึ่งแบบนี้ และอยู่ได้แค่ 2 ปีแบบนี้ ไม่เหมือนยาหมดอายุ ที่หมดอายุไปนานแล้วแต่ขอเพิ่มอีก 2 ปี ซึ่งพออยู่บนหิ้งฤทธิ์ยาก็ไม่มีประสิทธิภาพในการพูดให้คนฟังหรือตัดสินใจที่จะทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือข้าราชการ ส่วนจะรักษาอำนาจได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องของเขา แต่บริหารไม่ได้เป็นเรื่องที่แน่นอน

นายพิธายังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคไทยภักดียื่นร้องในมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะแก้มาตราดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เรียนว่าการแก้ไขกฎหมาย 112 ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งสาเหตุที่เราทำไม่ใช่เป็นเพราะการหาเสียง แต่เป็นการรับผิดชอบ เป็นจุดยืนของเราในการที่มาเป็น ส.ส. ในการที่มาปกป้องสิทธิเสรีภาพ และการทำให้สถาบันเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ และเป็นสากลมากขึ้น เพราะฉะนั้นตนไม่คิดว่าจะเป็นเส้นแบ่งทางการเมือง เราควรจะมาแข่งขันกันในเรื่องของนโยบาย ไม่สามารถทิ้งประชาชนที่โดนจับกว่า 280 คน และ 20 คนที่อายุต่ำกว่า 17 ได้

เอาสถาบันมาทำลาย

"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันต่อในรัฐสภา มันเป็นการแก้เรื่องของนิติบัญญัติ แต่ต้องเรียนกลับไปยังคนที่อาจจะไม่เห็นด้วยว่า ถ้าเราไม่ทำให้พระราชอำนาจ หรือพระราชฐานะเป็นสถาบันที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองได้ ก็จะทำให้ความทันสมัยหรือมีความโปร่งใสไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดผลดีกับใคร ถ้าย้อนกลับไป 40 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองไหนที่มาเป็นรัฐบาลไม่มีสมาธิแก้ไขเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา เพราะจะถูกผู้ที่ใส่เสื้อคลุมจงรักภักดีเอาสถาบันมาทำลายทางการเมืองกับคนอื่นตลอดเวลา" นายพิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังให้สัมภาษณ์กรณีที่มี ส.ส.เริ่มออกจากพรรคว่า ขึ้นอยู่กับประชาชน เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ระเบียบหรือระบบการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราต้องมีหน้าที่คัดกรองเลือดใหม่เข้ามา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกพรรค ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นเรื่องของระเบิดเวลาที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญปี 60 แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และเราก็ขอโทษประชาชนที่ทำให้เขาผิดหวัง และเรายืนยันว่าตลอดเวลาทำหน้าที่คัดกรองว่าที่ผู้สมัครมาโดยตลอด ซึ่งต้องผ่านกระบวนการอย่างเข้มข้น

ถามว่า การย้ายออกของ ส.ส.มีผลกระทบต่อฐานเสียงหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ เพราะเรามีว่าที่ผู้สมัครที่เข้มข้นเข้ามาแทน ที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนชอบและเชื่อ ให้ไปควบคู่กันได้ และทางเราก็ต้องคัดเลือกอย่างดี

ถามต่อว่า มีการประเมินสัญญาณการยุบสภาอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ฝ่ายรัฐบาลมีการแฉว่าจะมีการยุบสภาช่วงเดือน ธ.ค. ในขณะเดียวกันสัญญาณรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลก็ชัดเจน โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ นายพิธากล่าวว่า สัญญาณสภาล่มยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดมาตลอด 1-2 ปี ถ้าเป็นสัญญาณที่น่าเชื่อถือคงยุบไปนานแล้ว แต่เรื่องรอยร้าวของรัฐบาลเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มี 2 เรื่องคือเรื่องกฎหมายกัญชา ที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนอย่างแน่นอน และเรื่อง รมช. 4 ตำแหน่ง ที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ได้ยินมาว่าบางพรรคเลือก รมช.คนใหม่แล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

“มีการคิดกันว่าถ้าเป็นเหมือนยาหมดอายุอยู่ได้อีก 2 ปี ไม่รู้ว่าจะทำตามสัญญาที่ควรจะเป็นโควตาใคร แต่สิ่งที่ต้องเรียกร้องคือต้องยึดเอาประชาชนเป็นหลัก ให้ประชาชนอยู่ในสมการ”

เมื่อถามว่า ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ช่วงหลังมีการขัดแย้งกันจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นพรรคร่วมในสมัยหน้าหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า สุราก้าวหน้าก็ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ไม่ได้แยกกันอย่างเดียว คือการเมืองในระบบรัฐสภาที่ต้องมีพรรคร่วม เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีจุดร่วมและจุดต่างกันอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องมาถกหาจุดร่วมกันด้วยเหตุผล อย่างเช่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หรือนายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับวิธีคิดของเราที่จะทลายทุนผูกขาดและให้พี่น้องเกษตรกรสามารถสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากโภคภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ได้ ก็ได้รับการตอบรับ และตนได้อธิบายว่านี่คือชัยชนะของประชาชน ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคก้าวไกล

จุดจบรัฐบาล

นายพิธาเผยว่า จำได้ว่าเมื่อปี 2545 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เคยได้ประกาศเรื่องสุราชุมชน เพียงแต่เราอาจจะมองเรื่องนี้ว่า 20 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่เรื่องสุราชุมชนที่เราต้องรักษาไว้ แต่เป็นการต่อยอดคราฟต์เบียร์ ต่อยอดระดับสากลไปด้วย ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ามีหลายเรื่องที่เป็นวาระร่วมกันที่เราจะผลักดันได้ และเราทำงานกันมา 4 ปี มีแต่ดีขึ้น ไม่ได้แย่ลง แต่การเห็นต่างเป็นระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติ

ด้านนายสมคิด เชื้อคง รองประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีสภาล่มตั้งแต่สัปดาห์แรก ว่า วันศุกร์หากมีการเช็กองค์ประชุม ก็จะมีปัญหาเป็นประจำ เพราะช่วงปลายสมัยส.ส.ก็มักจะนัดประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันศุกร์ ครั้งนี้ก็เป็นการเตรียมงานลอยกระทง ส.ส.จำนวนมากต้องไปพบปะประชาชนเป็นปกติ อีกทั้งการประชุมวันศุกร์เป็นเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ทุกพรรคการเมืองมีส่วนร่วม แต่วันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา มีสมาชิกเห็นต่าง ก็ต้องลงคะแนนเพื่อให้ความเห็นชอบ จึงเป็นที่มาขององค์ประชุมล่ม หลังจากนี้ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ต้องกำชับให้สมาชิกพรรคอยู่ร่วมประชุมตามที่ประธานสภาฯ นัดหมายเป็นศุกร์เว้นศุกร์อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ในขณะนี้มีความเห็นต่างในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ สภาเดินหน้าต่อได้หรือไม่ นายสมคิดตอบว่า ไม่ว่าเป็นกฎหมายอะไรลำพังพรรคเพื่อไทยไม่สามารถที่จะคว่ำในสภาได้ เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกัน กฎหมายกัญชงกัญชา เพื่อไทยไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง ก็ต้องว่าเป็นรายมาตรา ยืนยันหลักการณ์เดิม กฎหมายเปิดช่องให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เราไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ แต่ไม่เคยปฏิเสธการใช้ทางการแพทย์เลย

เรื่องนี้หากพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยตกลงกันไม่ได้ จะนำไปสู่ความแตกแยกของรัฐบาลในไม่ช้า และจะเยียวยาไม่ได้เลย เพราะใกล้เลือกตั้งเลยต่างฝ่ายต่างช่วงชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง อาจจะไปถึงขึ้นเป็นจุดจบรัฐบาลเลยก็ได้ แต่ยืนยันเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยไม่เกี่ยวข้อง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวถึงการเมืองหลังการประชุมเอเปกว่า ทำเอเปกให้ดีที่สุดก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการประชุมที่เป็นหน้าตาของประเทศ ขอให้ทำให้ดีที่สุด ส่วนการเมืองจะเป็นอย่างไร ให้ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เชื่อว่าทุกพรรคพร้อมหมด แต่ถ้ายังเลือกตั้งไม่ได้ ก็ให้ทำหน้าที่กันต่อไป ไม่มีอะไร และเวลานี้ควรคิดช่วยเหลือชาวบ้านดีกว่า

เมื่อถามว่า พรรคสร้างอนาคตไทย พร้อมทุกสถานการณ์ใช่หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า หัวหน้าพรรคและเลขาฯ พรรคบอกแล้วว่าพร้อมทุกสถานการณ์

หลังเอเปกเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตา

ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการยุบสภาหลังประชุมเอเปก ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเคยระบุไว้ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ตอบว่า นั่น พล.อ.ประวิตร สื่อต้องไปถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม  ต้องถามให้ถูกคน

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่เปิดสภามาก็เกิดเหตุสภาล่ม นายสมคิดกล่าวว่า เรื่องสภาเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.ทุกคน ขออย่าให้เกิดซ้ำซากมากไป ประชาชนจะขาดศรัทธา ขอให้ระวังเรื่องเอกสิทธิ์ ส.ส. และขอให้ช่วยกัน

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่าคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่หลังประชุมเอเปกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะสิ่งที่สังเกตได้มาตลอดก็คือ หลังเอเปกน่าจะมีการตัดสินใจทางการเมืองหลายเรื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว หรือเกิดความชัดเจนทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ และมีโอกาสไปถึงการยุบสภาที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยเฉพาะสิ่งที่ตนคิดว่าน่าจะเกิดได้ ก็คือเสียงในสภาที่เริ่มสะท้อนปัญหาถึงความเป็นเอกภาพ และปัญหาจากการประชุมสภา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นตอนปลายสมัยของรัฐบาล ดังนั้นคิดว่าหลังเอเปกเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตา

เมื่อถามว่า ถ้ามีการยุบสภาจริง แต่กฎหมายการเลือกตั้งยังไม่เสร็จ จะเป็นอุปสรรคในการเลือกตั้งหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า คิดว่าวันที่ 23 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสิ่งที่ได้มีการยื่นไว้ ตรงนี้น่าจะมีความชัดเจนถึงความพร้อมในการเลือกตั้ง คงต้องติดตามดูวันที่ 23 พ.ย.

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ทนายวันชัย สอนศิริ ระบุว่า สิ้นปี... สิ้นอำนาจ ถ้าจะไล่เรียงปฏิทินการเมืองกับการนับถอยหลังแห่งอำนาจ มองดูแล้วเหลือเวลาอีกไม่นานเลย พฤศจิกายนนี้ก็มีประชุม APEC จากนั้นต้นเดือนธันวาคมถึงวันที่ 10 ก็เป็นวันชาติ และเป็นวันรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็เตรียมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เตรียมเที่ยวเตรียมพักผ่อน รัฐบาลและผู้มีอำนาจก็อยู่ในภาวะเช่นเดียวกัน สิ้นปีเตรียมสิ้นอำนาจ เพราะใกล้จะเลือกตั้งเต็มที จะมีช้าหรือมีเร็วก็ไม่เกินเดือนมีนาคม 2566 เห็นมั้ยล่ะว่าอำนาจเก่ากำลังจะไป อำนาจใหม่กำลังจะมา และในสถานการณ์ที่เปิดสภาสมัยประชุมนี้ อุบัติเหตุทางการเมืองก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ เลยจากการประชุม APEC ไป จะไม่มีใครไว้หน้าใคร แตกเป็นแตก หักเป็นหัก มุ่งหาอำนาจใหม่ นี่คือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้มีเรื่องได้ทุกขณะ

ที่ผ่านมาเรื่องสุราเสรีก็หวิดไปหวิดมา แต่ชี้ให้เห็นได้ว่าอำนาจมันเปราะบางเต็มที กู้ยืมเพื่อการศึกษาเสรีที่ผ่านมาก็ทุลักทุเล ทั้งกัญชาเสรีก็จะเปิดศึกรบกันหนักระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ชนวนระเบิดพร้อมที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องขายที่ดินขายชาติก็จะพลอยเป็นชนวนระเบิดที่ตามมาเป็นระลอก อาจต้องถอดสลักตีกรรเชียงหนี เรียกว่าสถานการณ์ทางการเมืองในสภาปลายสมัยจะอีนุงตุงนัง ร้อนระอุแรงขึ้น ที่หวังจะยืดอยู่ยาวก็อาจจะต้องยุบเสียก่อนก็เป็นไปได้ ยิ่งตอนนี้แต่ละพรรคกำลังจัดทัพรับศึกเตรียมไพร่พลลงเลือกตั้ง ที่ว่าจะร่วมเป็นร่วมตายกันต่อไปนั้น ดูจะไม่ใช่เสียแล้ว ปล่อยให้ตายกันไป แต่กำลังจะมีไพร่พลที่รอจังหวะฉวยโอกาสไปอยู่กับอำนาจใหม่ มิตรแท้และศัตรูถาวรจะมีให้เห็นก็ตอนใกล้เลือกตั้งนี่แหละ... หงายไพ่หรือเปิดถ้วยมาก็จะได้ฮาครืน... ทำไมมันเป็นอย่างนั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง