‘ประยุทธ์’ปลื้ม ประชุม16วาระ ปิดฉากอาเซียน

ปิดฉากประชุมอาเซียน “บิ๊กตู่” ลงนามเอกสาร 26 ฉบับ  ปลื้มบอกกัมพูชาจัดการประชุมได้ดี ทุกประเทศได้แสดงความคิดเห็นเต็มที่ “นายกฯ” เสนอกุญแจ 3 ดอกยุคหลังโควิด พร้อมย้ำหลัก 3 ประการพาอาเซียนมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวเนื่องเป็นวันสุดท้าย ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

โดยเมื่อเวลา 08.20 น. พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุม ASEAN Global Dialogue ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและมีความยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งมี 25 ประเทศและหน่วยงานเข้าร่วม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 จากที่เคยจัดเมื่อปี 2555 โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ชื่นชมการรื้อฟื้นการประชุมนี้ เพื่อให้ผู้นำอาเซียนและผู้แทนระดับสูงจากองค์การระหว่างประเทศได้แลกเปลี่ยนทัศนะและร่วมกันหาแนวทางการฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนภายหลังสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ นายกฯ ได้นำเสนอกุญแจสำคัญ 3 ดอก เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่น ปรับตัว และยั่งยืน คือ 1.การให้ประชาชนเป็นหัวใจของทั้งการฟื้นฟูในระยะสั้นและการพัฒนาในระยะยาว 2.การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเน้นการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่ง  และ 3.การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในทุกระดับ

“เชื่อมั่นว่าเมื่อทุกประเทศเห็นผลประโยชน์ร่วมกันและร่วมมือกันมากขึ้น จะช่วยส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและในโลก การร่วมแรงร่วมใจจะทำให้กลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมหลังวิกฤตโควิด-19 โดยกุญแจ 3 ดอกนี้จะช่วยส่งเสริมให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลง

ต่อมาเวลา 10.40 น. พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) ครั้งที่ 17 โดยมีผู้นำหรือผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วม EAS 17 ประเทศ นายกฯ สนับสนุนให้จัดการกับความท้าทายร่วมกัน ตามแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา เพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย EAS ถือเป็นส่วนสำคัญของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ในฐานะเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์

โดยโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวย้ำ 3 ประการ เพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คือ ประการแรก บทบาทและคุณค่าของ EAS ที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการหารือและการเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน, ประการที่สอง  ยึดมั่นในหลักการสำคัญร่วมกัน อาทิ ความเป็นแกนกลางของอาเซียน การเปิดกว้าง การมีส่วนร่วม และหลักการสามเอ็ม กล่าวคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน และประการที่สาม การแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติ คือหนทางสู่การป้องกันการขยายตัวของปัญหา ลดความตึงเครียด และทางออกสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยให้ประชาชนเมียนมากว่า 54 ล้านคน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมยืนยันความปรารถนาให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน และพร้อมที่จะสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายกฯ ได้เชิญชวนให้ผู้นำเข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ที่ประเทศไทยจะจัดขึ้นในต้นปี 2566 โดย พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมต่างๆ ทั้งสิ้น 26 ฉบับ ซึ่งมีเอกสารการประชุมสุดยอดอาเซียน 16 ฉบับ และกรอบอื่นๆ กับคู่เจรจา 10 ฉบับ โดยเอกสารสำคัญ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในโอกาสครบรอบ 55 ปีของอาเซียน และแถลงการณ์วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วย “อาเซียน เอ.ซี.ที. : รับมือความท้าทายร่วมกัน”    

ต่อมาเวลาประมาณ 12.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมพิธีปิดและพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2566 จากนั้นในเวลา 15.15 น. นายกฯ พร้อมภริยาและคณะออกเดินทางกลับประเทศไทย

ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแถลงการณ์ของอาเซียนเกี่ยวกับมติเห็นชอบในหลักการรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ยินดีที่จะช่วยเหลือติมอร์-เลสเตให้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ติมอร์-เลสเตสามารถเข้าเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคต

ในเวลา 16.40 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 ดอนเมือง (กองบิน 6) พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ว่า กัมพูชามีการเตรียมการและจัดการประชุมได้ยอดเยี่ยมและเป็นที่พอใจของผู้ที่มาประชุมทุกท่าน โดยมีการประชุมทั้งหมด 16 วาระ พวกเราได้แสดงความคิดเห็นกันในที่ประชุมอย่างเต็มที่ และในส่วนของการประชุมกับสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สิ่งที่จับประเด็นได้คือเขามีความรู้สึกว่าเป็นโอกาสของอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องของการเกษตร เพราะต่างประเทศมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อและเรื่องสงคราม เขาบอกว่าปีนี้และปีหน้า เขาจึงบอกว่าในปี 2565 และปี 2566 เป็นโอกาสที่ดีของอาเซียนในเรื่องการเกษตรที่ยังมีอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่เท่ากับเขา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในเรื่องบรรยากาศสันติภาพจะทำอย่างไรให้เราอยู่ร่วมกัน อะไรมีปัญหาต้องพูดคุยกัน หาวิธีแก้ปัญหาดีกว่าขัดแย้งกัน จึงต้องใช้หลักการของอาเซียนอยู่แล้ว วันนี้สิ่งสำคัญที่มีการตั้งประเด็นจากการประชุมที่กัมพูชา คือการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ของโลก สงคราม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เหล่านี้เราจะรับมือกันอย่างไร ซึ่งทุกประเทศเตรียมพร้อมรับมือเรื่องตรงนี้ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด หากจะบอกว่าไม่มีเลย ไม่เดือดร้อนเลย คงจะทำไม่ได้ ซึ่งปกติเรามีปัญหามากอยู่บ้างพอสมควรแล้ว พอมาเจออันนี้เข้าไปก็หนักขึ้นมาหน่อย ขอให้ช่วยกันบ้างว่าจะต้องทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม เราได้เตรียมที่จะเชิญนานาชาติประชุมความมั่นคงด้านอาหารในต้นปีหน้า ที่ประเทศไทยและจะเชิญสมาชิกอาเซียนมาด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่