พิจารณาอยู่‘รทสช.’ บิ๊กตู่แจงสมัครสมาชิกพรรค/พปชร.ป่วนหนีก๊วนธรรมนัส

"บิ๊กตู่" รับครั้งแรก "พิจารณาอยู่" สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ "วิษณุ" กาง กม.ยันสมัครสมาชิกพรรคการเมืองได้แม้เป็นแคนดิเดตนายกฯ  ของ พปชร. บอกเป็นบัญชีเก่า เว้นยุบสภาต้องล้างใหม่ "อนุทิน" ปัดไม่มีดีลนั่งเก้าอี้นายกฯ คนละครึ่ง "พปชร." ป่วนพิษ "ก๊วนธรรมนัส" รีเทิร์น หลายมุ้งส่อย้ายหนี "แม้ว" หลอน "รทสช." รีบเย้ยได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 เก้าอี้ ลั่น "พท." กวาดตามเป้า 280 เสียง สภาล่มอีก! หลังฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตขอลงมติใหม่ "ฝ่ายค้าน" ซัดถูกปล้น

ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว วันที่ 23 พ.ย.เวลา 09.35 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะนายกสภาทหารผ่านศึก เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ครั้งที่ 21

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดการประชุม ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า สรุปแล้วยังไม่ได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ใช่หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “พิจารณาอยู่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์สมัครสมาชิกพรรค รทสช.แล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่าเป็นเฟกนิวส์ ไม่เป็นความจริง

จากนั้น เวลา 14.40 น. พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ซึ่งหลังเสร็จสิ้นพิธี นายกฯได้เดินทางกลับ แต่ทันทีที่เห็นสื่อมวลชนมาดักรอสัมภาษณ์ นายกฯ ได้ถามว่าเรื่องอะไร

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงข่าวนายกฯ แยกทางกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จริงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบและหันหลังขึ้นรถทันที

เมื่อซักถึงความชัดเจนอนาคตทางการเมือง นายกฯ ได้ถอดหน้ากากอนามัยและหันมายิ้มให้ผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวจึงได้ถามย้ำว่า นายกฯ เคยระบุว่าหลังประชุมเอเปกจะมีความชัดเจนการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ยกนิ้วชี้ไปข้างหน้า พร้อมตอบเพียงสั้นๆ ว่า "หลังเอเปกก็ปีหน้าไง” จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางกลับทันที

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยกันทำงานไปจนถึงเดือน มี.ค.66 ว่า ไม่ได้ยิน ช่วงเที่ยงหลังการประชุม ครม. นายกฯ นั่งรับประทานอาหารกลางวันกับรัฐมนตรีบางคน ซึ่งมีคนพูดขึ้นมา แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร และมีการตอบโต้กัน ส่วนตนนั่งกินข้าวอีกโต๊ะ จึงไม่รู้ว่าพูดอะไรกัน 

ถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกการเมือง โดยที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พปชร.สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบว่านายกฯ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดแล้ว แต่ตอนนี้นายกฯ สามารถสมัครสมาชิกพรรคการเมืองได้ แม้จะมีชื่อในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 62 แต่หากมีการยุบสภา บัญชีแคนดิเดตนายกฯ เก่าจะหายไป เพราะต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ ส่วนตอนนี้ยังไม่มีเหตุที่ต้องหานายกฯ ดังนั้นการมีชื่อในบัญชีเก่าจึงไม่ส่งผลกระทบอะไร แต่ถ้าเกิดเหตุจำเป็นต้องหานายกฯ ใหม่ บุคคลนั้นจะต้องจัดการตัวเองโดยหาพรรคการเมืองใหม่แค่พรรคเดียว โดยจะกลับไปอยู่พรรคการเมืองเดิมหรือจะไปสมัครพรรคการเมืองอื่นก็ได้

'ตู่'สมัครสมาชิกพรรคได้

ซักว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจาก พปชร. จะยังไปสมัครพรรคการเมืองอื่นได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ เพราะจะไม่ดูคุณสมบัติในระหว่างที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องเลือกนายกฯ ตัวอย่างกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้คุณหญิงสุดารัตน์มีชื่อเป็นหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แต่ถ้าจากนี้จำเป็นต้องหานายกฯ คนใหม่ คนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะต้องทำให้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้พูดว่าจะอยู่ถึง มี.ค.หรือเม.ย.ปี 66 แต่ขอให้อยู่ทำงานกันไป ท่านก็บอกทำงานกันไป อยู่กันสามัคคีกันก็อยู่ยาว ไม่สามัคคีก็อยู่สั้น ถ้าถามตนก็อยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าท่านจะไปเจออุปสรรคขวากหนามอะไรใดๆ ก็ตามในอนาคต ทั้งเรื่องการเมือง หรือเรื่องในสภา ซึ่งเราก็ไม่รู้ ในส่วนของเราก็ต้องเตรียมความพร้อมตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทเท่านั้นเอง ถ้าอยู่ไม่ได้ก็มีความพร้อมต่อการเลือกตั้ง

ถามว่า มีกระแสข่าวนายอนุทินตกลงกับนายกฯ ว่าเป็นนายกฯ คนละสองปีในการเลือกตั้งสมัยหน้า เป็นไปได้หรือไม่ นายอนุทินตอบว่า "ผมหรือ ไม่จริงๆ ไม่มีดีลนี้ ดีลตำแหน่งนายกฯ แบบนี้ยกกันไม่ได้ มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง และองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และจะทำให้มั่นคง"

"ตอนนี้เตรียมความพร้อมอย่างดีที่สุดแล้ว จะไปรอให้ถึง มี.ค.ก็คงไม่ได้หรอก อะไรที่คิดว่าต้องทำ ทำหมดแล้ว อนาคตก็แขวนไว้ที่ความไว้วางใจของประชาชนเหลือแค่ตรงนั้น" นายอนุทินกล่าว

ซักถึงนโยบายกัญชาจะใช้เป็นผลงานในการหาเสียงใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวว่า เรื่องนี้ชัดเจน ภูมิใจไทยได้ต่อสู้เรื่องกัญชาจนสุดความสามารถ ไม่ได้ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แม้กฎหมายกัญชายังไม่ออก แต่นโยบายของเราได้รับการขับเคลื่อน

หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวถึงกระแสข่าวนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทย (พท.), นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธส.ส.กาญจนบุรี นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี พรรค พปชร., น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง จะย้ายมาร่วมพรรค ภท.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า มีการพูดคุยกันกับทั้ง 4 รายชื่อที่มีกระแสข่าว และยังมีมากกว่าที่เป็นข่าว

ถามว่า ทั้ง 4 คนมีแนวโน้มมาร่วมงานกับพรรคหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกคนต่างมีท่าทีของตัวเอง เขาต้องดูว่าในช่วงโค้งสุดท้ายพรรคที่เขาอยากไปสังกัดจะมีนโยบายอย่างไร ขณะนี้ยังไม่จับไม้จับมือกันขนาดนั้น

ขณะที่พรรค พปชร. มีความเคลื่อนไหวภายในพรรคหลังชัดเจนแล้วว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยหลายคนในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา จะกลับมาอยู่กับ พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาของ ส.ส.หลายกลุ่มในพรรคต่อกรณีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ในกลุ่มเพชรบูรณ์ ภายใต้การนำของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรค พปชร. รวมถึง ส.ส.ในกลุ่มสามมิตรด้วย โดย ส.ส.หลายคนรู้สึกอึดอัดและลำบากใจว่าหาก ร.อ.ธรรมนัสกลับมาจะทำให้พรรคหาเสียงลำบาก เนื่องจากภาพลักษณ์ด้านลบในอดีต ตลอดจนความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับกลุ่มต่างๆ ของพรรคเมื่อครั้งยังอยู่กับ พปชร. ซึ่ง ส.ส.บางคนถึงขั้นเอ่ยปากว่า หาก ร.อ.ธรรมนัสกลับมาจะย้ายออกไป แต่ทั้งนี้ ส.ส.หลายคนไม่กล้านำเรื่องนี้ไปพูดกับ พล.อ.ประวิตร เพราะเกรงว่าจะสร้างความลำบากใจให้กับพล.อ.ประวิตร

พปชร.ป่วน'2ป.'แยกวง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะต้องการรอดูความชัดเจนระหว่าง พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนว่าแยกกันอย่างเป็นทางการแน่นอน จากนั้นค่อยมากำหนดแนวทางต่อไป

"เชื่อกันว่าไม่เกิน 1-2 สัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนกว่านี้ว่า พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์จะแยกกันแน่นอนหรือไม่ หลังจากนั้นจะมาตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งเงื่อนไขหลักๆ ของกลุ่มสามมิตรคือ ต้องเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่มีโอกาสจะเป็นรัฐบาลเท่านั้น โดยขณะนี้มี 3 ทางเลือก คืออยู่กับ พปชร.ต่อ หรือย้ายไปอยู่กับพรรค รทสช.หรือย้ายกลับไปอยู่กับพรรค พท." แหล่งข่าวระบุ

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันคนสนิทของ พล.อ.ประวิตรได้โทรศัพท์หา ส.ส.หลายคนในพรรคให้ไปพบ พล.อ.ประวิตร และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ที่รับผิดชอบพื้นที่อีสานตอนบน เพื่อพูดคุยเรื่องความชัดเจนว่าจะอยู่พรรคต่อหรือไม่ แต่หลายคนยังดึงเวลาในการเข้าพบออกไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อรอดูว่า ร.อ.ธรรมนัสกลับมาแน่นอนหรือไม่ หรือเฉพาะ ส.ส.บางคนเท่านั้น

สำหรับ ส.ส.ในกลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรค พปชร. ที่มีข่าวว่าจะพา ส.ส. 12 คนย้ายไปอยู่กับ รทสช.นั้น ปรากฏว่าบางคนไม่ได้ตามนายสุชาติไป โดยเฉพาะ 2 พี่น้องตระกูลโพธิพิพิธ จ.กาญจนบุรี คือนายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี และนายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี ที่ล่าสุดมีแนวโน้มสูงว่าเลือกจะไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และอาจจะมีการเปิดตัวในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้หากตัดสินใจในขั้นสุดท้ายแล้ว

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. ปฏิเสธตอบคำถามถึงท่าทีทางการเมืองของกลุ่มสามมิตร โดยระบุว่าเหตุผลทางการเมืองและข้อมูลต่างๆ ต้องดูให้เรียบร้อย ดินฟ้าอากาศค่อยว่ากัน

นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค พปชร. ยอมรับว่า ขณะนี้ ส.ส.ภายในพรรคกำลังอยู่บนทางสองแพ่ง ที่จะตัดสินใจทางการเมืองว่าจะอยู่กับพล.อ.ประวิตรหรือจะไปร่วมงานการเมืองที่พรรค รทสช.กับ พล.อ.ประยุทธ์

"หลังจากได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตมาแล้ว 4 ปี ผมได้รับการดูแลจากพล.อ.ประวิตรเป็นอย่างดี และในฐานะ ส.ส.ภาคใต้ ยอมรับกระแสที่ทำให้ได้รับเลือกตั้งมาจากความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหากท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไปร่วมงานกับพรรค รทสช.ก็พร้อมที่จะติดตามไปร่วมงานด้วย ผมขอตอบแบบไม่อ้อมค้อม และน้องชายก็จะไปด้วยกัน รวมทั้งยังได้รับคำยืนยันจากกลุ่ม ส.ส.สงขลา 3 คน ก็พร้อมที่จะไปทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้เรียนกับ พล.อ.ประวิตรโดยตรง ซึ่งท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร" นายสายัณห์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในเพจเฟซบุ๊ก CARE แคร์ คิด เคลื่อน ไทยคืนวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า หลายคนพูดว่าเพื่อไทยจะจับมือคนนั้นคนนี้ อันนี้มองในฐานะคนนอกมองการเมือง ไม่เชื่อว่าเพื่อไทยจะคิดว่าจะจับมือกับใครในวันนี้ เพื่อไทยคงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองได้ 280 ก่อน ถ้าถึง 280 แล้วคงค่อยคิดว่าจะเอาใครมาเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล ซึ่งมีเยอะแยะ พรรคการเมืองมีตั้งหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ เสรีรวมไทย ก้าวไกลอะไรพวกนี้

แม้วเย้ย รทสช.ไม่ถึง 25 ที่นั่ง

นายทักษิณกล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะไปสังกัดพรรค รทสช.ว่า นายกฯ คงย้ายไปอยู่รวมไทยสร้างชาติพวกที่ตามไปคงเป็นกลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ไม่เกิน 12 คนกับพวกประชาธิปัตย์ที่สอบตก เดาว่านายกฯ น่าจะกำลังดูว่าแววของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่รู้จะต้องสร้างใหม่ไหม ถ้ามองเห็นว่าท่านมีโอกาสได้คะแนนเยอะคงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้ามองเห็นว่าไม่น่าจะไหวก็คงอยู่ครบวาระ

"พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตรก็ไม่รู้จะเหลือซักกี่คน ข่าวที่ว่าจะมี ส.ส. 72 คนไปรวมกับเขา คงเหลือไม่มากหรอก ถามว่ารวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ ก็คงยากอยู่ เพราะส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าเก่า แถมสอบตกอีก นักการเมืองปัจจุบันก็มีไม่มาก และถือว่ายากที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้เกิน 25 ที่นั่ง เพราะมีแต่ ส.ส.รุ่นเก่าที่สอบตกมาร่วม และนายกฯ แม้ชนะก็อยู่ได้อีกเพียง 2 ปี อีกทั้งเสน่ห์ของนายกฯ ก็ลดลงไปมากแล้ว จึงยังนึกไม่ออกว่าจะดึงกระแสมาได้อย่างไร" นายทักษิณระบุ

วันเดียวกัน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ว่าที่หัวหน้าพรรคเทิดไท เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรค เวลา 10.30-11.30 น. ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัสแวนด้า  แกรนด์ ปากเกร็ด นนทบุรี มีวาระปรับเปลี่ยนชื่อพรรคและโลโก้ใหม่จากชื่อเดิมพรรครวมไทยรักชาติเป็นพรรคเทิดไท

ที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายชวนแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ประทับรับฟ้องคดีนางสมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 12 คน ส่งผลให้นางสมหญิงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐ ดังนั้นจำนวนส.ส.ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนี้มี 474 คน มีองค์ประชุม 237 คน

ต่อมาเวลา 11.00 น. ได้เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น วาระ2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเริ่มต้นที่การลงมติมาตรา 7 จำนวนผู้เข้าชื่อในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ตกค้างมาจากการพิจารณาสัปดาห์ที่แล้ว ทันทีที่เริ่มลงมติก็เกิดปัญหาติดขัด  เพราะสมาชิกอยู่กันบางตา นายชวนต้องเสียเวลารอสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมนานกว่า 15 นาที จึงมีสมาชิกมาแสดงตน 244 เสียง เกินกึ่งหนึ่งเพียง 7 เสียง จากจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 คน

                    จากนั้น ในการลงมติมาตรา 9/1 ที่ กมธ.เสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ก็เกิดปัญหาอีกครั้ง เมื่อนายชวนถามว่าจะเห็นด้วยกับความเห็น กมธ.เสียงข้างน้อยหรือไม่ ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อย 163 ต่อ 75 คะแนน ทำให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ไม่ยอมขอให้ถามคำถามใหม่ เนื่องจาก ส.ส.หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าประธานถามว่าเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากหรือไม่ เหมือนตามปกติที่เคยถามมา ทำให้คะแนนคลาดเคลื่อน แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วง โดยกล่าวว่าไม่สามารถลงมติใหม่ได้ ในที่สุดนายชวนจึงขอมติที่ประชุมจะอนุญาตให้ตั้งคำถามและลงมติใหม่หรือไม่ ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเล่นแง่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม เสียเวลารอนานกว่า 30 นาที องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ กระทั่งเวลา 12.50 น. นายชวนสั่งพักประชุมเพื่อไปหารือแนวทางแก้ปัญหา

เวลา 13.30 น. กลับมาเปิดประชุมใหม่อีกครั้ง ที่ประชุมยังคงถกเถียงกันเรื่องจะให้ลงมติมาตรา 9/1 ใหม่หรือไม่ ในที่สุดที่ประชุมลงมติให้ลงมติใหม่ด้วยคะแนน 202 ต่อ 16 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 14 ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่พอใจระบุว่า การให้ลงมติใหม่จะเป็นบรรทัดฐาน สร้างประเพณีปฏิบัติที่ผิด พอโหวตแพ้ก็อ้างเข้าใจผิด  อนาคตจะเกิดปัญหา ถ้าแพ้ก็อ้างเข้าใจผิดอยู่เรื่อยๆ

สภาล่มอีก! โยนกันไปมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมโหวตให้ลงมติมาตรา 9/1 ก็ยังเกิดปัญหาขึ้น เมื่อ ส.ส.ในห้องประชุมอยู่กันบางตา นายชวนจึงแจ้งว่า เที่ยวนี้ไม่รอนาน เพราะถ้าไม่ครบก็คือไม่ครบ หลังจากที่รอองค์ประชุม 5 นาทีแล้วก็ยังไม่มีทีท่าจะมีสมาชิกครบองค์ประชุม นายชวนจึงกล่าวว่า ดูด้วยตาแล้วคงยากที่จะครบองค์ประชุม ขอบคุณคนที่มา ส่วนใครที่ไม่มาจะขอเปิดชื่อให้ชาวบ้านไปถามกันเองว่าทำไมไม่มาประชุม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ทั้งนี้ นายชวนได้สั่งปิดประชุมในเวลา 14.05 น.

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีเกิดปัญหาองค์ประชุมสภาไม่ครบจนเป็นเหตุให้สภาล่มว่า ในที่ประชุมนายชวนไม่ได้ขานจำนวนองค์ประชุมที่ล่ม ปรากฏว่ามีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 228 คน จากจำนวนองค์ประชุม 237 คน โดยแบ่งเป็นฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย มีผู้แสดงตน 11 คน จาก 131 คน, พรรคก้าวไกล 6 คน จาก 50 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน จาก 11 คน,   พรรคประชาชาติ ไม่มีผู้แสดงตน จาก 7คน, พรรคเพื่อชาติ 1 คน จาก 6 คน, พรรคพลังปวงชนไทย ไม่แสดงตน, พรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่แสดงตน

ส่วนฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 77 จาก 96 คน, พรรคภูมิใจไทย 59 จาก 62 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 42 จาก 52 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 3 จาก 16 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 6 จาก 12 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 จาก 6 คน, พรรครวมพลัง แสดงตนทั้ง 5 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 จาก 5 คน, พรรคชาติพัฒนา 3 จาก 4 คน และพรรครักษ์ผืนป่า 1 จาก 2 คน

ขณะที่พรรคเล็กมี ส.ส. 1 คน คือ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรครวมแผ่นดินไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังธรรมใหม่แสดงตน ส่วนพรรคเพื่อชาติไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่แสดงตน

สรุปแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านที่แสดงตนรวม 21 คน จาก 207 คน สำหรับพรรคฝ่ายรัฐบาลแสดงตน 207 จาก 267 คน ส่วนรายชื่อไม่สามารถเปิดเผยได้ เมื่อประธานไม่ได้ประกาศในที่ประชุมว่ามีจำนวนเท่าไร ก็จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) พร้อมด้วยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมสภาล่ม

นายชินวรณ์กล่าวว่า เกิดความเข้าใจผิดในการลงคะแนนที่นายชวนให้มีการลงคะแนนใหม่ ก็ถือว่าเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ตามข้อบังคับข้อที่ 9 เป็นการวินิจฉัยถูกต้องของประธานสภาฯ  และไม่เคยมีมาก่อนในสมัยประชุมสภาฯนี้ จะมากล่าวหาประธานสภาฯ ไม่ดำเนินการตามข้อบังคับหรือกระทำที่อาจจะนำไปสู่พวกมากลากไปนั้น ตนคิดว่าย่อมเป็นไปไม่ได้

 “ผมอยากเรียกร้องไปพรรคฝ่ายค้านมากกว่าว่าได้ไปหาข้อมูลมาอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 แล้วหรือไม่ ซึ่งเปรียบเสมือนการดีเบตกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะจะเป็นประโชน์ต่อประชาชนมากกว่า” นายชินวรณ์กล่าว

ด้านพรรค พท. นำโดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ แถลงถึงปัญหาองค์ประชุมล่ม ตอนหนึ่งระบุว่า ผลการลงมติเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสภาให้มีการเพิ่มมาตรา 9/1 ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายค้านในการลงมติ แต่กลับมีการท้วงติงของสมาชิกบางท่านว่ามีการเข้าใจผิดและอยากให้มีการลงมติใหม่ ซึ่งกระบวนการทางสภาในข้อบังคับการประชุมไม่สามารถทำได้ แต่ประธานในที่ประชุมยังคงตั้งคำถามว่าจะลงมติอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสุดท้ายผลการลงมติคือให้มีการลงมติใหม่ได้ฝ่ายค้านจึงไม่ขอเป็นองค์ประชุมให้กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ปาฐกถาพิเศษ 1 ชม. พูดเรื่องธุรกิจอสังหาฯ ในฐานะนายกฯ รับสับสนนิดหน่อย

“เศรษฐา” ร่ายยาวเกือบ 1 ชม. เหน็บบางคนนั่งทางในบนหอคอย ลองลงมามือเปื้อนดินตีนเปื้อนโคลนบ้าง โวคนไทยโชคดีที่มีนายกฯ Pro Business พ้อ รมว.คลัง ไม่มีอำนาจลดดอกเบี้ย ทั้งที่แพงโคตร ลั่นไม่เคยเลียรองเท้าบูธ ขอคืนพื้นที่ทหาร

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ