บิ๊กตู่รอฟังกองหนุน ‘หนู’เมินนายกฯ2ปี

"บิ๊กตู่" ยันยังนั่งเก้าอี้นายกฯ ในนาม พปชร.สนับสนุน กั๊กอนาคตขอฟังเสียง ปชช.ก่อน "อนุทิน" ลั่นไม่เป็นทายาทการเมืองของใคร ปัดสูตร "บิ๊กตู่" และ "หนู" เป็นนายกฯ คนละ 2 ปี  ย้ำทุกอย่างรอหลังเลือกตั้ง "สมบูรณ์" หลั่งน้่ำตาโบกมือลา ปชป.ซบ "รทสช."  เผย "นายหัวชวน" โทร.มาแสดงความเห็นใจมากเพราะไม่มีที่ยืนให้จริงๆ ปธ.สภาฯ รับยุ่งจนลืมแสดงตนทำสภาล่ม 7 ธ.ค. "วีระกร" จวกประธานวิปรัฐบาลบกพร่อง จี้ต้องแก้ไข

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 ธันวาคม   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่กับพรรค พปชร.แล้วว่า “ไม่อยู่แล้วเหรอ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีมา พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนผมนะ เข้าใจไหม”

เมื่อถามว่า นายกฯ จะให้พรรค พปชร.สนับสนุนต่อใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ยินคำถาม พร้อมถามสื่อว่า ถามว่าอะไรนะ เมื่อถามว่านายกฯ จะให้พรรคพปชร.สนับสนุนเป็นแคนดิเดตของพรรคต่ออีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ยังไม่มีใครส่งอะไรมาไม่ใช่เหรอ

ถามอีกว่า แสดงว่าถ้าขอมาก็จะให้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ตอบ เมื่อถามว่าแล้วจะชนกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีคำตอบ เมื่อถามอีกว่าทำไมยังไม่มีคำตอบ ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มชัดเจน ประชาชนรอฟังนายกฯ อยู่  นายกฯ กล่าวว่า “ทำไมล่ะ ทำไมต้องรอผมล่ะ”

เมื่อถามว่า ประชาชนที่สนับสนุนอยากให้นายกฯ ไปต่อ รอฟังนายกฯ อยู่ นายกฯ กล่าวว่า “ประชาชนเหรอ ก็เดี๋ยวผมฟังเสียงประชาชนก่อนสิ”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์มีกระแสข่าวจะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และประกาศจะเป็นนายกฯ อีก 2 ปี พรรคภูมิใจไทยจะร่วมงานด้วยหรือไม่ ว่าขอยืนยันคำตอบเดิม ทุกอย่างจะอยู่หลังเลือกตั้ง ต้องรู้ผลการเลือกตั้งก่อนจะไปทําอะไรกับใคร เราจะพูดอะไรต้องรู้ว่ามีความพร้อมแค่ไหน พอไม่มีความพร้อมแล้วไปพูดอะไรใหญ่โต ก็จะเห็นๆ อยู่

เมื่อถามว่า ได้เห็นเจตจำนงของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ว่าต้องการไปต่อ 2 ปี นายอนุทินกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ที่ทุ่มเททำงานให้กับบ้านเมืองตามกรอบและระบบของรัฐสภา และที่ผ่านมาก็บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพจนรัฐบาลจะอยู่จนครบวาระ

“ก็ดูในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย รู้สึกว่าทายาททางการเมืองก็จะตายก่อน ผมไม่ประสงค์ ถ้าผมจะเป็นอะไร ต้องทําตัวเองให้มีความพร้อม ทําความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ไม่ให้ใครมาตั้ง” นายอนุทินกล่าวตอบคำถามว่ามีการมองทายาทการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะอยู่ได้อีก 2 ปี และส่งต่อมายังนายอนุทิน

เมื่อถามว่า หากพรรค รทสช.ได้คะแนนน้อยกว่าพรรค ภท. จะยอมให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทั้งหมดต้องดูผลของการเลือกตั้ง แต่ละพรรคได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างไร ซึ่งตอนนี้พูดไปก่อนไม่ได้ เวลาจะพูดอะไรต้องดูสถานการณ์ ดูความพร้อมว่าเราอยู่ในจุดไหนก่อน

ปัดสูตรนายกฯ คนละครึ่ง

เมื่อถามว่า จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยคือให้พรรคที่ได้อันดับ 1 หรือพรรคที่รวบรวมเสียงได้อันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยมีกติกามีมารยาทอยู่ ตนถึงไม่ค่อยกังวลตรงนั้น รอให้ถึงวันนั้นก่อน และในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนว่าให้พรรคที่ได้อันดับหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลหรือต้องเป็นนายกฯ ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนอย่างงั้นก็ชัดเจน รัฐธรรมนูญก็คือระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายไหนที่รวบรวมเสียงข้างมากก็คือผู้ชนะ

เมื่อถามว่า สูตร "บิ๊กตู่" กับ "หนู" คนละ 2 ปี ให้ดูหลังเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่าง ทั้งอุ๊งอิ๊ง บิ๊กตู่ หนู บิ๊กป้อม ตุ๋ย มิ่งขวัญ ท็อป ก็ต้องดูหลังเลือกตั้งหมด

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จังหวัดตรัง 4 สมัย เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.30 น. ตนได้เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นในวันที่ 9 ธ.ค. ตนจะเดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจ เพราะต้องการความชัดเจนทางการเมืองให้กับตัวเอง ก่อนที่จะมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

"ที่ผ่านมาผมทำตัวเป็นเด็กดีของพรรคมาตลอด ไม่เคยสร้างปัญหาให้หนักใจ มีแต่จะทำประโยชน์ให้ประชาชนและพรรค แต่เมื่อไม่เห็นความดีและไม่มีพื้นที่ให้ยืนก็ต้องไปหาพื้นที่เพื่อต่อสู้เลือกตั้งก็เท่านั้น"

นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า ก่อนที่ตนจะตัดสินใจก็ได้แจ้งกับนายชวน และนายกิจ หลีกภัย อดีตนายกองค์การบริหารจังหวัดตรัง ในฐานะที่ตนเคารพรัก และถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดทางการเมือง เพราะชักนำให้ตนเข้าสู่การเมืองตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งทั้งสองท่านก็เข้าใจถึงเหตุผลที่ตนต้องไปอยู่พรรคอื่น โดยนายชวนยังได้โทรศัพท์มาคุยกับตนระหว่างที่เดินทางไปยื่นใบลาออกกับ กกต. ว่าเห็นใจมากเพราะไม่มีที่ยืนให้จริงๆ และยังมีเวลาในการสมัครสมาชิกพรรค แต่ตนได้เรียนว่าต้องการทำงานทางการเมืองให้ชัดเจน แต่ก็ยังจะทำงานในตำแหน่งเลขานุการประธานสภาฯต่อไป เพราะคนละส่วนกัน

เมื่อถามว่า การตัดสินใจไปร่วมพรรครทสช. เพราะได้รับการติดต่อจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช.หรือไม่ นายสมบูรณ์กล่าวว่า ก็ได้มีการพูดคุยกัน โดยนายไตรรงค์เข้าใจถึงปัญหาความอึดอัดที่ได้รับจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายพีระพันธุ์ก็บอกว่ายินดีต้อนรับเข้าพรรค แต่อยากให้ตนตัดสินใจให้ชัดเจน เพราะเวลาเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว เขาจะได้วางแผนทางการเมืองได้ถูก

"ก่อนจะตัดสินใจลาออกจาก ปชป. ผมรู้สึกเสียใจจนต้องหลั่งน้ำตา เพราะผูกพันกับพรรคมานาน แม้จะออกไปแล้วแต่ก็ยังรักและรู้สึกดีกับหลายคนใน ปชป.อยู่ และไม่คิดที่จะเผาบ้านเก่า ยอมรับว่าออกไปแล้วไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่มีความสุขขึ้น เพราะเขาให้เกียรติเรามากกว่า และต้องการที่จะพิสูจน์ให้ผู้นำพรรคเห็นว่า ผลโพลที่บอกว่าเลือกตั้งครั้งหน้าผมจะได้แค่ 20% นั้น พอถึงเวลาแล้วจะเป็นอย่างไรก็ยอมรับ แต่ถ้าได้มากกว่าก็ถือเป็นการยืนยันว่าผมทำได้จริง" นายสมบูรณ์กล่าว

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวว่า การลาออกของนายสมบูรณ์ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเลือดไหล แต่เพราะเขาไม่มีพื้นที่ยืนจริงๆ เนื่องจากผู้บริหารพรรคตัดสินใจให้คนอื่นลงสมัคร ส.ส.ในเขต 4 จ.ตรังแทนนายสมบูรณ์แล้ว จึงเป็นธรรมดาของนักการเมืองที่ต้องไปสังกัดพรรคอื่นเพื่อให้ตนเองได้ลงสมัคร ส.ส. ส่วนจะมีคนอื่นออกจากพรรคประชาธิปัตย์อีกหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังมีเวลาก่อนที่จะถึงกำหนดวันย้ายพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า  เหตุการณ์สภาล่มระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.... วาระสอง มาตรา 9/1 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมาองค์ประชุมมีเพียง 236 เสียง ซึ่งขาดไป 1 เสียง จากที่มีสมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม 237 คน เนื่องนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แสดงตนช้ำ 2 รอบ ด้วยการขานชื่อและกดบัตรแสดง นอกจากนั้นยังพบว่ามี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มาแสดงตน 53 คน          

"วีระกร"ซัดปธ.วิปฯบกพร่อง

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า มีกฎหมายที่สำคัญที่ควรจะได้พิจารณาในสภา เช่น ร่างพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องด่วนที่ทางคณะรัฐมนตรีได้ส่งมารวมกับเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดมีกว่า 10 เรื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลอยากให้กฎหมายเหล่านี้ผ่าน ก็จำเป็นต้องช่วยดูเรื่ององค์ประชุม ไม่เช่นนั้นการพิจารณาจะไปไม่ถึง เพราะจะมีร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วอีกหลายเรื่อง ซึ่งคิดว่าเวลาที่มีอยู่ของสภานั้นเพียงพอต่อการพิจารณา ถ้าองค์ประชุมไม่มีปัญหา ดังนั้นจึงขอความร่วมมือกับสมาชิกว่าการประชุมสภาวันพุธและวันพฤหัสฯ ขอใช้เวลาประชุมยาวกว่าปกติ เพราะการประชุมในวันศุกร์มีปัญหา เพราะสมาชิกไม่ค่อยอยากประชุม แต่จะมีการประชุมสภาวันศุกร์ในสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วจะไม่นัดประชุมวันศุกร์จนถึงสิ้นปี

นายชวนกล่าวว่า เมื่อคืนตนได้มีโอกาสปรึกษากับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะที่เป็นฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ให้นายวิษณุเป็นคนกลางประสานกับฝ่ายรัฐบาล ให้แจ้งสมาชิกของรัฐบาลให้มาประชุมให้พร้อม แม้การประชุมสภาจะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย แต่โดยกลไกของระบบนี้รัฐบาลถือเป็นเสียงข้างมาก หากฝ่ายค้านไม่มาเลย แต่รัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก การประชุมก็สามารถเดินไปได้

เมื่อถามว่า การที่องค์ประชุมล่มบ่อยครั้ง เป็นเกมการเมืองเพื่อดึงร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชาฯ ไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภา นายชวนกล่าวว่า ไม่น่าเกี่ยว แต่เป็นเรื่องของฝ่ายค้านที่ไม่ยอมร่วมเป็นองค์ประชุมในร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ เพราะเห็นว่ากระบวนการลงมติไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาล่มเมื่อวานนี้  (7 ธันวาคม) มาจากองค์ประชุมไม่ครบ และขอเรียนว่าตนก็ลืมแสดงตนเป็นองค์ประชุม มัวแต่ยุ่งอยู่กับการชี้แจงให้สมาชิก และนอกจากนั้นยังปรากฏว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ แสดงตนทั้งวิธีการประกาศผ่านไมโครโฟนและซ้ำด้วยการเสียบบัตร จึงทำให้องค์ประชุมขาดไป 1 เสียง จนที่สุดต้องปิดการประชุมไป ได้บอกกับสมาชิกว่าอย่าย่อท้อ ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่แล้วก็ต้องทำงาน ดังนั้นขอให้รับผิดชอบมาร่วมประชุม

ถามว่า สาเหตุที่องค์ประชุมไม่ครบเป็นเพราะว่า ส.ส.ต้องการลงพื้นที่ไปหาเสียงใช่หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุผล เพราะประชุมในวันพุธและวันพฤหัสบดีไม่ได้มีนัดพิเศษอะไร และขอฝากประชาชนช่วยดูว่า ส.ส.ที่เลือกเข้ามารับผิดชอบต่อหน้าที่หรือไม่ ความจริงเป็นเรื่องหน้าที่รับผิดชอบของคนระดับที่เป็น ส.ส. ต้องมีวุฒิภาวะ รู้ว่าอะไรสมควรอะไรไม่สมควร

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสภาล่มซ้ำซากว่า ต้องบอกว่าเป็นความบกพร่องของวิปรัฐบาล อาจจะพูดได้ว่าเป็นความบกพร่องของประธานวิปฯ ก็ได้ เพราะปกติประธานวิปฯ ต้องเอาจริงจัง ล่มครั้งแรกยังให้อภัยได้ แต่หลายครั้งให้อภัยไม่ได้ วิปรัฐบาลไม่แข็งเลย อาจจะเป็นปลายสมัยก็ได้ อาจจะคิดว่าให้จบๆวาระไป ส่วนข้อเสนอเปิดเผยรายชื่อคนที่ชอบโดดประชุมนั้น ต้องถามว่าวิปรัฐบาลได้ทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดหรือยัง คนที่เข้ามาโหวตตอนเช้าแล้วหายไปก็มีตั้งเยอะ เช่นเมื่อประชุมรัฐสภาตอนเช้าแล้วว่าจะลงมติร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น มีวาระอื่นมาคั่นกลางสามชั่วโมงกว่า ทำไมไม่ขอขยับให้มาต่อกัน หากตนเป็นผู้รับผิดชอบต้องควบคุมและคุยกันให้ดี

"ผมเป็นวิปฯ มาตั้ง 30 กว่าปี รู้ว่าควรทำอะไร แต่รัฐบาลตั้งประธานวิปฯ โดยไม่คำนึงถึงว่าเขาเป็นผู้มีความเหมาะสมหรือไม่ อาจจะตั้งเพราะรู้จักคนใกล้ชิดนายกฯ แล้วบอกว่าคนนี้เหมาะ เราจะไม่ได้อยากตำหนิประธานวิปรัฐบาล แต่เขาไม่เข้าใจสิ่งที่ต้องทำ เป็นความบกพร่องของคนที่ตั้ง ตั้งทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาไม่เหมาะมาเป็นเพราะการขอร้องของคนที่ใกล้ชิดนายกฯ วันนี้วิปรัฐบาลต้องแก้ไข ต้องเช็กชื่อใครมาไม่มา หากเขาใหญ่ระดับรัฐมนตรีต้องขอร้องให้หัวหน้าพรรคโทร.หา เราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ มันต้องแก้ไข" นายวีระกร กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง