โวผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู เจรจาFTAคืบหน้ารอบ18ปี

นายกฯ ปลื้มผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจไทยเนื้อหอม ลั่นเมื่อไหร่ประเทศชาติยากลำบาก ต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โวเจรจา FTA 18 ปีคืบหน้าเพิ่งสำเร็จ โต้อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6  ดอนเมือง (บน.6) เวลา 15.10 น. วันที่ 15 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ว่าการไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้ว มีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบ และต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆ กัน ขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียน เนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อม มีความสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้าง เราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่ความยั่งยืน

"วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอทุกคนมีส่วนร่วม โดยให้ความสำคัญการเจริญเติบโตเศรษฐกิจควบคู่ความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้าง จะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น หลายอย่างอาจไม่ทันใจ แต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว จนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้"

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้มีการเอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมาก ที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆ ประเทศก็มีความเดือดร้อน ทั้งหมดจากราคากว่า 10 เหรียญฯ ก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญฯ 50 เหรียญฯ 100 เหรียญฯ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้ เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องก๊าซ ยังคงมีปัญหาอยู่เยอะ เนื่องจากเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ฉะนั้นไฟฟ้าจะราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ค่า FT ต่ำที่สุด ซึ่งก็ต้องใช้การหาเงินมาทดแทน ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ จึงขอให้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด วันนี้พยายามจะปรับเรื่องการจ่ายพลังงานให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น พลังงานสีเขียว จะให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่วนพลังงานที่มีต้นทุนแพง จะมีไว้สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการสูง ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะไปได้ จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ขอให้เสียสละกันบ้าง

"การทำอะไรก็ตามไม่ได้ง่ายมากนัก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไปได้ หลายคนชื่นชมประเทศไทยแล้วเราภูมิใจกันบ้างหรือไม่ หลายอย่างดีขึ้น โรงแรมเต็ม หากินดีขึ้น แค่เรายังไม่พอใจ ผมจำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมามันเป็นอย่างไร หลายประเทศไม่มีคนเดินถนนเพราะอากาศหนาว แต่ประเทศไทยไปไหนได้ทั้งวันทั้งคืน ขอให้เข้าใจเมื่อไหร่ที่ประเทศชาติมีความยากลำบาก เราต้องร่วมมือกัน เหมือนสมัยโบราณมีข้าศึกมาตี เราต้องร่วมมือ ต้องสู้กัน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ขณะเดียวกันวันนี้โลกใหม่แล้ว อย่ามัวขัดแย้งเรื่องไม่เป็นเรื่อง คิดเรื่องใหม่ๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผมจะโทษใครไม่ได้"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ FTA ซึ่งหลายคนก็พูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสนใจ FTA เราเจรจามากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งตนก็ถามว่าทำไมไม่ก้าวหน้า ก็เพราะกติกาละเอียดมากจนเราปฏิบัติไม่ได้ แต่วันนี้ได้ไปพูดคุยกันว่าบางอย่างลดระดับลงได้หรือไม่ มันต้องเจรจาแบบนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยไปเดินหน้า FTA เลย ตั้งแต่มาเจรจาไป 5 รอบแล้ว ทั้งนี้ รอบที่ 6 และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น จนวันนี้สามารถลงนาม PCA เพื่อเดินหน้าไปสู่ FTA ต่อไปในอนาคต

"ไม่ใช่ใครจะไปพูดอะไรก็ได้ ทุกอย่างที่ไปคุยเป็นมติคณะรัฐมนตรีจำไว้ ไม่เช่นนั้นใครพูดกันคนละทางสองทางก็หาทางลงไม่เจอ เราใช้เวลาเดือนหน้าแค่เฉพาะ PCA ใช้เวลาเดินหน้ามาถึง 18 ปี แต่เพิ่งสำเร็จเมื่อเช้านี้ ดังนั้นอย่าพูดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย 18 ปี ไม่เคยเจรจา FTA ถ้ามันง่ายนะ คงสำเร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เวลา 17.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ณ อาคารยูโรปา กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ และผู้นำฝ่ายสหภาพยุโรป ได้แก่ นายชาร์ล มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรป, นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, นายเป็ตร์ ฟียาลา นายกรัฐมนตรีเช็ก ในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และนาย Josep Borrell Fontelles รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ร่วมในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทยอีกฝ่ายหนึ่ง (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States, of the one part, and the Kingdom of Thailand, of the other part) หรือ PCA EU-Thai

โดยร่างกรอบความตกลง PCA นี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น และเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้ง สร้างกลไกการหารือรอบด้านระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน 

สำหรับผลประโยชน์ต่อไทยจาก PCA มีดังนี้ (1) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเปิดเจรจา FTA ไทย-EU รอบใหม่ (2) เพิ่มการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจาก EU และการเข้าถึงเงินทุนวิจัยและโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถต่างๆ ของ EU (3) เป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (4) สะท้อนว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดและไว้ใจได้ของ EU ผ่านการยึดถือค่านิยมที่เป็นสากลร่วมกัน (5) สองฝ่ายมุ่งหวังให้ PCA เป็นเอกสารความตกลงที่มีการนำไปปฏิบัติจริงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และไทยมุ่งที่จะให้การดำเนินการตามร่างกรอบความตกลงนี้เพื่อให้เป็นก้าวแรกของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อียู ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกรอบความตกลงฯ ประกอบด้วย 64 ข้อ ส่วนอารัมภบท และส่วนปฏิญญาร่วมครอบคลุมความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นแผนงานที่กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ มุ่งเพิ่มพูนกรอบการหารือและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกัน โดยสองฝ่ายสามารถร่วมกันพัฒนาแผนงานดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ