เบรกป้าย33ล้าน ‘รฟท.’รอสรุปผล

“คมนาคม” ประชุมนัดแรกสอบป้ายฉาว 33 ล้าน เตรียมรายงานผลเบื้องต้น 12 ม.ค.นี้ ขณะที่ รฟท.แจ้งยูนิคระงับงานชั่วคราว ขณะที่ "ศักดิ์สยาม" เผยรอฟังข้อสรุปไม่เกิน 20 ม.ค.นี้ ด้าน “ส.ส.เต้” เอาด้วย ร้อง ปปป.สอบเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่

วันที่ 10 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องตรวจสอบกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาทว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นจะมีการประชุมกันในวันนี้ เดี๋ยวรอเขารายงานเข้ามา 

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ ที่จะชะลอโครงการ หลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ให้รอคณะกรรมการฯ ก่อน ที่จะสรุปมาให้ตนภายใน 15 วัน ซึ่งไม่เกินวันที่ 20 ม.ค. รอฟังดีกว่า ตนไม่อยากพูดอะไรไปก่อน เพราะไม่ได้เข้าไปดู

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรกว่า รฟท.ได้มาชี้แจงพร้อมเอกสารใน 9 ประเด็นที่คณะกรรมการฯ สอบถามไป

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ความเป็นมาโครงการ 2.ขอบเขตงาน หรือ TOR 3.รายละเอียดราคากลาง 4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ทุกครั้ง) 5.การขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง บันทึกสั่งจ้าง และรายละเอียดการสั่งจ้าง 6.สำเนาข้อเสนอราคาของบริษัทผู้รับจ้าง 7.สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการจ้างทุกครั้ง 8.สัญญาจ้าง 9.เปรียบเทียบราคาการติดตั้งป้ายกับราคาตลาดโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะมีการพิจารณาใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ทาง รฟท.มีการดำเนินการตามกฎหมายระเบียบ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ปี 62 ของกรมบัญชีกลางหรือไม่ ขณะเดียวกันจะมีการสอบราคาที่มีการจัดจ้าง รวมถึงจะพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไม รฟท.ถึงมีการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง และ 2.พิจารณาถึงความเหมาะสมทางด้านราคาว่าจะมีการดำเนินการในรูปแบบอื่นที่ประหยัดกว่างบประมาณที่จัดจ้างได้หรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะรายงานผลสอบเบื้องต้นให้กระทรวงคมนาคมรับทราบในวันที่ 12 ม.ค.66 ก่อนจะรายงานผลการสอบสวนทั้งหมดให้กระทรวงคมนาคมภายใน 15 วัน หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ หรือประมาณวันที่ 20 ม.ค.66

รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า ได้ลงนามในหนังสือวันที่ 9 ม.ค.2566 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เรื่องระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. เพื่อรอผลสอบสวนข้อเท็จจริงที่กระทรวงคมนาคมตั้งขึ้นมาก่อน

สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นการระงับการดำเนินการชั่วคราวเพื่อรอผลการสอบฯ ซึ่งเป็นการแสดงความโปร่งใส ไม่ใช่การยกเลิกว่าจ้าง รวมทั้งจะรอฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการพิจารณาฯ ด้วย โดย รฟท.ยังคงยืนยันว่าทุกขั้นตอนทำด้วยความโปร่งและมีราคาถูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีฯ วงเงิน 33 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้มีหนังสือแจ้งวันส่งมอบสถานที่ก่อสร้าง และแจ้งให้เริ่มงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2666 

ด้านนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ พร้อมคณะ เข้าแจ้งความกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) เพื่อให้ทาง ปปป.ตรวจสอบกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางอภิวัฒน์ วงเงิน 33.1 ล้านบาท ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 9-13 หรือไม่

เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินที่มูลค่าเกิน 500,000 บาทขึ้นไป ต้องใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เว้นแต่กรณีที่มีความจะเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน จึงสามารถใช้วิธีการเฉพาะจงได้ ส่วนการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อนั้น มองว่าไม่ใช่เหตุจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด แต่กลับเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงแทน จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่

ส่วนกรณีนี้จะเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากหนังสือสั่งการ ส่วนกระบวนการขอเปลี่ยนชื่อ หรือคนที่ขอเปลี่ยนนั้นมองว่าไม่ผิด แต่ผิดที่กระบวนการที่เร่งรีบเกินไป และไม่ใช้วิธี e-bidding ตามขั้นตอน ซึ่งจากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างนั้น สามารถรื้อถอน ติดตั้งได้ด้วยวงเงิน 15 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง