ยันแก้วาระ8ปีแค่ศึกษา จี้เลิกอำนาจส.ว.ดีกว่า

"เสรี" ย้ำเสนอแก้ รธน.วาระนายกฯ 8 ปี เป็นเพียงข้อศึกษาไม่ได้เอื้อ "บิ๊กตู่" คนเดียว หาก “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ ก็อยู่ได้ยาว ชี้พรรคการเมืองหยิบไปหาเสียงได้อยู่ที่ ปชช.ตัดสินใจ เชื่อร่างแก้ รธน.ม.159 และ ม.272 วุฒิสภาไม่เอาด้วย ย้ำชัด ส.ว.แบ่งเป็นก๊ก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” แยกพรรคแข่งกันแล้ว "กรณ์” ค้านปลดล็อกวาระนายกฯ 8 ปี สวนกลับแก้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ดีกว่า

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายเสรี สุวรรณภานนท์  สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ในวันที่ 17 ม.ค. หนึ่งในวาระการพิจารณาเรื่องรายงานการปฏิรูปประเทศและรายงานจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี  2560 ทั้งประเด็นการแก้มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี, มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. และมาตรา 272  เกี่ยวกับยกเลิก ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยกล่าวย้ำจะศึกษาทุกประเด็นอย่างรอบด้านก่อนนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

"ประเด็นการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เจาะจงหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงประเด็นการศึกษาและนำสู่สาธารณะเพื่อแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและประชาชน โดยยังไม่ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย เพราะมีขั้นตอนตามที่เงื่อนไขกำหนดไว้ ทั้งเสียงวุฒิสภาที่ต้องเห็นชอบ 1 ใน 3 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้านร้อยละ 20"  

นายเสรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นแก้ยาก  หากต้องการแก้ให้สำเร็จทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยตกลงกัน  สร้างความสามัคคีปรองดองในมวลหมู่การเมืองและประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และการเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลยซักประเด็นเดียว             

ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา กล่าวอีกว่า  เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัตินายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ตามร่างแก้ของพรรคเพื่อไทยนั้น จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และเชื่อว่าข้อเสนอนั้นเป็นประเด็นเป้าหมายสำหรับการหาเสียงของพรรคการเมือง สร้างความด่างพร้อยให้วุฒิสภา สร้างปัญหาให้รัฐบาล และเห็นว่าเป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมือง หากจะนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นวาระ 8 ปีนายกฯ ไปเป็นนโยบายหาเสียง เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก เพราะก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ

"ไม่ห่วงว่า ส.ว.จะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ย้ำว่าทำตามหน้าที่ และมองว่าทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ประโยชน์คนเดียว เพราะหากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้เป็นนายกฯ ก็สามารถที่จะเป็นได้ยาวเช่นกัน เลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์จะได้  ส.ส.กี่คนก็ไม่รู้ จะไปกังวลทำไม ถ้ากังวลเท่ากับว่ากลัว หรือ คิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดหรือ" นายเสรีกล่าว

นายเสรีกล่าวถึงหลักการแก้วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ  8 ปีกำหนดไว้เพื่ออะไรว่า หลักก็คือเพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่เมื่อผ่านมาแล้วบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ก็เห็นปัญหาว่าการกำหนดเช่นนี้ หากมีคนดี มีความสามารถ มีความรู้  และสามารถเป็นนายกฯ ต่อได้ ก็จะถูกจำกัดสิทธิ์ตรงนี้ เราจึงเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ 

ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีการแบ่งฝั่งของ ส.ว.เลือกหนุน  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับฝั่งที่หนุน พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายเสรียอมรับว่า ส.ว.มีการแบ่งเป็นสองฝั่งจริง และยอมรับตามสภาพว่า ส.ว.ชุดนี้มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใน คสช.มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน เพราะฉะนั้นการเสนอชื่อในการเลือกนายกฯ ไม่ได้มาจากคนคนเดียว ซึ่งขณะนี้อาจมีแนวทางความเห็นหลายกลุ่มหลายพวก แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดจะมีเสียงแตกออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

"การที่จะเลือกใครเป็นนายกฯ เป็นหน้าที่สำคัญของ  ส.ว.ซึ่งมีวาระ 5 ปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำหน้าที่นี้  ดังนั้นต้องมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ หากเสนอคนดีเข้ามาก็ต้องสนับสนุน แต่หากดูแล้วมีปัญหาสร้างความแตกแยก อยู่ในกลุ่มทุจริตคอร์รัปชัน เล่นการเมือง ไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ ย้ำว่าส่วนใหญ่ ส.ว.จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน"

ถามว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า  เมื่อเป็นพรรคแยกกันแล้วก็แข่งกันทำงานทั้งนั้น แต่เวลาแข่งกันแล้วขึ้นอยู่กับว่า สามารถที่จะเอาฝ่ายการเมืองของแต่ละพื้นที่มาอยู่ที่พรรคตนเองได้มากน้อยแค่ไหน คนเก่งอย่างไร คนดีอย่างไร ถ้าไม่มีหัวคะแนน ไม่มีพรรคไม่มีพวก ไม่เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อน ก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ

นายเสรีกล่าวด้วยว่า บางพรรคการเมืองมีนโยบายดี  ประชาชนสนใจ ก็จะได้คะแนน แต่หากเสนอประเด็นเอาแต่สร้างความแตกแยก ปฏิรูปสถาบัน โดยไม่ได้ดูว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร คิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชน มีโอกาสสูงที่จะใช้เงินในการเลือกตั้งครั้งหน้า  คนที่กล้าซื้อเสียง กล้าทำผิดกฎหมาย สุดท้ายชนะทุกที เพราะกฎหมายผิดทั้งคนให้และคนรับ จึงไม่มีใครกล้าแสดงตัวออกมาเป็นพยาน ตนจึงเสนอว่าผู้ที่ซื้อเสียงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่รับเงินถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงจะทำให้มีหลักฐานเอาผิดคนที่ซื้อเสียงได้

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า  กล่าวถึงกรณี ส.ว.เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกการจำกัดวาระนายกฯ 8 ปีว่า ประชาชนได้รับข้อสรุปเรื่องนี้จากศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างควรเดินหน้าตามกติกาสู่การเลือกตั้ง หลังจากนั้นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไขคือการยกเลิกให้อำนาจ  ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ ได้ โดยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนประชาชนเป็นผู้เลือก เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งพรรคได้นำเสนอมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงการแก้ไขเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มาขององค์กรอิสระซึ่งมีที่มาจาก ส.ว.แต่งตั้ง จึงควรแก้ไขให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....