คึก!จัดทัพรับบัตร2ใบ เร่งดันกม.ลูกสองฉบับ-พรรคเล็กลุ้นคำนวณสส.ปาร์ตี้ลิสต์

ปี่กลองการเมืองคึกหลังรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้แล้ว “กกต.” ไวปานกามนิตหนุ่มส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ถึง กกต.จังหวัดฟังความคิดเห็นแล้ว ให้เวลา 15 วันก่อนส่งกลับปรับปรุง ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมืองแต่งตัวรอคิว พรรคการเมืองเห่อส่งร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับเข้าสภากันถ้วนทั่ว ทั้งฉบับพรรคร่วมรัฐบาล-เพื่อไทย-ก้าวไกล “วิเชียร” ชี้ต้องใช้เวลากว่าจะตกผลึกเพราะรายละเอียดเยอะ “ชวน” ลั่นสภาพร้อมรับไม้ต่อหากเสนอ ธ.ค.บรรจุวาระทันที

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน มีความคึกคักต่อเนื่องหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีรายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ​ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมสำเนาร่างพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ... ฉบับที่ เพื่อให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดแล้ว โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะใช้เวลา 15 วัน ก่อนที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจะต้องส่งกลับมายังสำนักงาน กกต.กลาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมาย จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานกฤษฎีกาก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นมีการแก้ไขทั้งหมด 37 มาตรา สาระสำคัญคือ แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประกาศ ประกอบด้วยการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน, การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, การแบ่งเขตใหม่ 400 เขตให้เสร็จใน 90 วัน, ส.ส.เขตใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรค, การลดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งเหลือ 08.00-16.00 น. การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยเป็น 9 คน และกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อหน่วย 800 คน ส่วนร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น กกต.อยู่ระหว่างยกร่าง คาดว่าจะแก้ไขในเรื่องกระบวนการจัดทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง ซึ่งหลังดำเนินการเสร็จและผ่านที่ประชุม กกต.แล้ว ก็จะส่งไปยังสำนักงาน กกต.จังหวัดเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนเช่นกัน

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเรื่องนี้ว่า สิ่งที่สภาต้องเตรียมรับคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งรัฐบาลกับ กกต.จะประสานกัน โดย กกต.มีหน้าที่เตรียมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเพื่อส่งไปยังรัฐบาล และรัฐบาลก็จะเป็นผู้เสนอกฎหมายต่อสภา หรือ ส.ส.อาจเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย ซึ่งคิดว่าน่าจะเดือน ธ.ค.ปีนี้ หรือเดือน ม.ค.ปีหน้าที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายเข้ามา โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ส่งสัญญาณอธิบายเรื่องนี้มา 2-3 ครั้งแล้ว ซึ่งฝ่ายสภาก็หารือกับฝ่ายเลขาฯ สภาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวหากมีการยุบสภาขึ้นมาก็จะมีปัญหาเหมือนกัน ซึ่งเข้าใจว่ากระบวนการคงไม่ช้า เพราะเท่าที่สอบถามภายในทราบว่า กกต.ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วในเบื้องต้น นับตั้งแต่ที่กฎหมายนี้ผ่านสภาไป เพียงแค่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาเมื่อไหร่ หากเสนอเข้ามาในช่วงเดือน ธ.ค.ก็บรรจุเข้าระเบียบวาระในเดือน ธ.ค.ได้เลย

“เข้าใจว่ากฎหมายจะไม่ซับซ้อนมาก เพราะแก้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม” นายชวนตอบคำถามถึงเวลาที่รัฐสภาจะใช้พิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ

คาดใช้เวลาพอสมควร

ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ที่ประชุมวิปจะหารือถึงการเตรียมจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบื้องต้นมีการตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมแนวทางการจัดทำกฎหมายลูกที่แต่ละพรรคการเมืองได้กำหนดไว้บ้างแล้ว เพื่อนำไปเป็นแนวทางยกระดับจัดทำในนามของพรรคร่วมรัฐบาลตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งก่อนจะได้แนวทางและข้อสรุปต้องหารือร่วมกับ กกต.ด้วย เพื่อความชัดเจนของร่างที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา และจะมีการพูดคุยกับ ครม.ที่ต้องจัดทำร่างของ ครม.อีกหนึ่งฉบับเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา จึงทำให้รัฐบาลจะมีการจัดส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ร่าง คือร่างของ ครม.และร่างของพรรคร่วมรัฐบาล

นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ​พรรค พปชร. ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ​กล่าวถึงกฎหมายลูก 2 ฉบับว่า ยังมีความเห็นหลากหลายและ กกต.ก็ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ต้องใช้เวลาพูดกันเยอะ เฉพาะแค่ประเด็นเรื่องบัตร 2 ใบ จะใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ หรือใช้แบบใดก็พูดคุยกันหัวแตกเพราะมีรายละเอียดมาก ฉะนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวแทน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเพิ่งไปประชุมกันนัดแรกว่าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับนี้ โดยจะรวมเป็นร่างเดียว ซึ่งในส่วนของพรรคก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปรับให้ตรงกับกฎหมายลูกที่จะออกมา ซึ่งพรรคได้เตรียมการอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกระแสข่าวเรื่องการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นายศุภชัยกล่าวว่า ทำไมต้องยุบ มีเหตุผลอะไร การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เหตุที่ต้องยุบสภาคือสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป วันนี้สภาไม่ได้มีปัญหาที่ต้องยุบ อีกทั้งอำนาจการยุบสภาก็อยู่ที่นายกฯ ซึ่งนายกฯ รัฐมนตรีก็บอกว่าไม่ยุบ จึงสรุปว่าไม่มีเหตุที่ต้องยุบสภาแต่ประการใด

ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอต่อที่ประชุม ส.ส.ในวันที่ 23 พ.ย.เพื่อให้ได้แสดงความคิดเห็น และคณะทำงานจะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาขั้นสุดท้ายในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็ได้เตรียมร่างไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีนายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายพรรคเป็นหลักในการยกร่าง และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช จะทำหน้าที่หลักในการประสานกับวิปรัฐบาลและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

"พรรคพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำลังเสนอต่อรัฐสภาอย่างเต็มที่" นายราเมศกล่าว

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงบัตรเลือกตั้ง 2 ใบว่า พรรคไม่รู้สึกเสียเปรียบ เพราะนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ เป็นผู้ทำไว้ตั้งแต่เดิม เชื่อว่า พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะไม่มีปัญหา แต่ที่จะมีปัญหาคือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งต้องแก้ไขมาตราที่ระบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่เดิมเขียนไว้ 150 คน จะต้องแก้ให้เหลือ 100 คน รวมทั้งการทำไพรมารีโหวต

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ากฎหมาย 2 ฉบับนี้จะผ่านรัฐสภาเมื่อใด นายนิกรกล่าวว่า ต้องไม่เกิน 180 วัน เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าถึง ส่วนเมื่อกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จและมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาควรยุบสภาเลยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรามีหน้าที่แค่ทำกฎหมายและรอดูไปว่าจะเป็นอย่างไร

พรรคเล็กลุ้นคำนวณปาร์ตี้ลิสต์

นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะวิปรัฐบาล ยอมรับว่า พรรคเล็กยังมีประเด็นที่ต้องการให้คณะทำงานหารือให้ตกผลึกก่อนจัดทำร่าง พ.ร.ป.เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการคำนวณเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งคณะทำงานมีมติให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ และนัดประชุมอีกครั้งสัปดาห์นี้ เบื้องต้นมองว่าต้องนำร่าง พ.ร.ป.ที่แต่ละพรรคยกร่างเตรียมไว้มาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาประเด็นที่เป็นจุดร่วมกัน อาทิ การกำหนดให้มีจำนวนสมาชิกพรรค สาขาพรรค การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารีโหวต) ข้อกำหนดให้ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องชำระเงินค่าสมัคร เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงเนื้อหา ก่อนเชิญ กกต.มาหารือ

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านนั้น ได้มีการประชุมประจำสัปดาห์ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเร่งทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ และเคารพเอกสิทธิ์ของทุกพรรคการเมือง เปิดโอกาสและให้แต่ละพรรคสามารถใช้สิทธิ์เสนอกฎหมายในนามของพรรคตัวเองได้ ซึ่ง พท.ได้ยกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว หากพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นจะร่วมลงชื่อกับร่างของ พท.ก็ยินดี

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคได้ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับไว้แล้ว คงนำเข้าสู่พิจารณาที่ประชุม ส.ส.ในวันที่ 23 พ.ย. แต่คงบอกไม่ได้ว่าต่างจากพรรคอื่นอย่างไร เพราะยังไม่เห็นร่างของพรรคเพื่อไทย โดยแนวทางที่พรรคเคยหารือกันไว้ จะเสนอแก้ไขนอกจากระบบการเลือกตั้งให้มีความเสรี โปร่งใส เป็นธรรมมากขึ้น ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะเสนอแก้ไขในหลักการเพื่อส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน โดยให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น ดำเนินการง่ายและถูกยุบยาก

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างกฎหมายลูกของพรรคนั้น การคำนวณเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องกลับไปใช้วิธีการแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2554 ส่วนระบบเขตเลือกตั้งและวิธีทำไพรมารีโหวตนั้นยังคงมีอยู่ ไปยกเลิกไม่ได้ เพราะจะไปขัดรัฐธรรมนูญ แต่สามารถที่จะให้เกิดความคล่องตัวได้หรือไม่

ถามว่า พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเสนอกฎหมายลูกคนละฉบับ จะแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า แล้วแต่เขา เป็นสิทธิ์ของเขา มีสิทธิ์ที่จะเสนอ เพราะความเห็นไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน

วันเดียวกันยังมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวกับบัตร 2 ใบในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร.กล่าวว่า พรรคพร้อมสำหรับการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ และพร้อมส่งผู้สมัครลงแข่งขันทั้ง 400 เขตทั่วประเทศแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญเก่าถึง 132 ที่นั่ง ดังนั้นพรรคจึงให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมั่นใจว่าพรรคจะได้รับชัยชนะและได้ที่นั่ง ส.ส.ในภาคอีสานและจังหวัดอื่นทั่วประเทศมากขึ้น

ขณะที่นายวิเชียรกล่าวตอบคำถาม กรณีการใช้บัตร 2 ใบจะทำให้พรรค พท.ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะพรรค พปชร.หรือไม่ว่า ไม่เชิง เรื่องนี้อยู่ที่ยุทธศาสตร์การแข่งขันว่าจะใช้อะไรหาเสียง เวลานี้ในภาคอีสานหลายคนคิดว่าเป็นของพรรค พท. แต่ความคิดและวิธีคิดของประชาชนสมัยใหม่ก็อาจเปลี่ยนไปแล้ว ส่วนตัวแปรสำคัญจริงๆ คือคนวัยกลางคนว่าจะเลือกไปตามเด็กหรือไปตามผู้ใหญ่

เทพไทอัดตีโง่ฟื้นระบอบทักษิณ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การใช้บัตร 2 ใบสำหรับพรรคอาจดีกว่าบัตรใบเดียว และอาจได้ ส.ส.มากกว่าเดิม โดยพรรคได้ทำโพลอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีคะแนนนิยมสูงเป็นอันดับหนึ่งทั้ง 12 เขต อีกทั้งยังมีคนสนใจจะลงสมัครในนามพรรคอีกจำนวนมาก

ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สนับสนุนระบบการเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ และใช้วิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบสัดส่วนผสม เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 เดิม แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการคิดคำนวณแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคเพื่อไทยโดยตรง จากเดิมที่ไม่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว แต่วิธีการคำนวณใหม่จะทำให้มี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 30 คน

“การเลือกตั้งตามกติกาใหม่จะทำให้ระบอบทักษิณคืนชีพมาอีกครั้ง ที่ผ่านมาเราหนีระบอบทักษิณกลับมาเจอกับระบอบประยุทธ์ และระบอบประยุทธ์ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้ระบอบทักษิณกลับคืนมาอีก ถือว่าเป็นวิบากกรรมของประเทศไทย จะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ผลักดันให้มีวิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการยื่นดาบให้ศัตรู หรือภาษาเล่นไพ่ดัมมี่ เรียกว่า ตีโง่ให้เขาเอง”

นายวัฒนา เมืองสุข ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายและการเมือง พรรคไทยสร้างไทย ยืนยันว่าพรรคไม่ใช่พรรคเล็ก จึงไม่เสียเปรียบจากกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะมีความพร้อมทั้งนโยบาย และบุคลากรในการสู้เลือกตั้งในทุกรูปแบบ การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พรรคจะเป็นพรรคการเมืองใหญ่อย่างแน่นอน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ถึงผลพวงบัตร 2 ใบ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ 1.จะเหลือพรรคการเมืองที่มีศักยภาพไม่มาก 2.โอกาสได้ ส.ส.หน้าเก่า ระบบตระกูล ส.ส.ประจำจังหวัดจะกลับมา 3.ระบบมุ้งการเมือง 4.ระบบการทุจริตจะหนักขึ้น 5.ประโยคจังหวัดไหนไม่เลือก ดูแลทีหลัง อาจจะกลับมาได้ยินอีก 6.ทุนสามานย์ ทุนผูกขาด ทุนสัมปทานพร้อมที่จะลงทุนทางการเมืองเต็มที่ และ 7.การเมืองไทยจะวนเวียนกลับไปสู่อดีต

“หลายคนบอกว่าเบื่อพรรคล้มล้าง ผมกลับมองว่า นักการเมืองพวกนี้เจอประชาชนสู้ก็แทบหมดสภาพแล้ว แต่พวกทุนโกงชาติน่ากลัวกว่า เพราะมีโอกาสโกงจนเหลิงและหวังจะล้มล้างตามมา ถึงขนาดกล้าประกาศทำผิดกฎหมายพาพ่อกลับบ้าน แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เคยร้องเรื่องนี้ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และได้รับสิทธิ์ในการร้องเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง และจะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเร็วๆ นี้" นพ.วรงค์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง