3นิ้วใกล้วิกฤต แจงอดอาหาร หวังสังคมตื่น!

"ทนายด่าง" เผยอาการ ตะวัน-แบม หากอดอาหารต่อเข้าขั้นวิกฤต ยันหัวใจยังไม่ได้หยุดเต้น  เเค่ผิดปกติ สิ่งที่ทำไม่ใช่หวังชนะกดดันใคร แต่ต้องการสื่อสารผู้มีอำนาจกับสังคม แพทย์แนะนำอยู่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ต่อเพราะครบถ้วนดีกว่า รพ.ราชทัณฑ์

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม สองนักกิจกรรมที่กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักโทษทางการเมือง ได้เดินทางมาเพื่อว่าความในคดีการชุมนุม พร้อมตอบข้อซักถามต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับอาการของตะวันและเเบมที่มีข่าวลงว่าหัวใจหยุดเต้น

นายกฤษฎางค์เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับแพทย์ผู้ดูแล และการเห็นด้วยสายตาจากการเข้าเยี่ยม อาการของทั้งคู่ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากมีอาการเกี่ยวกับหัวใจที่ได้รับแจ้งจากแพทย์ โดย น.ส.ทานตะวัน ก่อนที่จะเดินทางมาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีอาการเป็นลม และการเต้นของหัวใจก็มีความผิดปกติ ซึ่งทางแพทย์ได้ขอร้องให้ น.ส.ทานตะวัน รับโพแทสเซียม เพราะจากการตรวจร่างกายพบว่าสภาพร่างกายกำลังขาดโพแทสเซียม ซึ่งส่งผลกับการทำงานของหัวใจ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ เนื่องจากเจ้าตัวปฏิเสธการกินอาหาร ดื่มน้ำ รวมทั้งไม่ยินยอมรับน้ำเกลือและเกลือแร่

เขาเผยว่า น.ส.ทานตะวันได้พูดคุยกับแพทย์ ซึ่งแพทย์ได้ขอร้องให้เจ้าตัวนั้นรับโพแทสเซียมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งตะวันยินยอม ทำให้อาการที่เกี่ยวกับหัวใจดีขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งตนเองได้เข้าเยี่ยมและได้พูดคุยเกี่ยวกับอาการ และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งอาการของ น.ส.ทานตะวัน ส่วนใหญ่จะเป็นคนฟัง และนานๆ จะพูดทีหนึ่ง ไม่สามารถพูดยาวๆ ได้ แต่ขณะนี้ที่ได้รับโพแทสเซียมเข้าไปอาการก็ดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูท่าทีของ น.ส.ทานตะวันว่าจะกินเพิ่มหรือไม่ หากโพแทสเซียมในร่างกายลดลงอีก

ส่วนเรื่องของอาการที่เกี่ยวกับหัวใจนั้น นายกฤษฎางค์ยืนยันว่า หัวใจของตะวันไม่ได้หยุดเต้น แต่การทำงานของหัวใจและการหายใจมีความผิดปกติมาก ซึ่งอาจจะส่งผลอันตรายในเมื่อไหร่ก็ได้ โดยในตอนนี้อาการยังคงทรงตัวอยู่ รวมทั้งแพทย์ได้แสดงความกังวลว่าหากยังยืนยันว่าจะอดอาหารและน้ำต่อไป จะทำให้อยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งหากคนไข้หมดสติไปจะให้ทำอย่างไร

อีกทั้งแพทย์ยังแนะนำว่า ถ้าหากทั้งคู่ได้รับเกลือแร่หรือกินน้ำหวานบ้าง อาการก็จะไม่วิกฤต เพราะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ อยู่ในสภาพที่ครบถ้วน ดีกว่าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สามารถอาบน้ำทำให้เขาสดชื่นขึ้นบ้าง

นายกฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ได้ปรึกษา เรื่องดังกล่าวกับพ่อแม่ของทั้ง 2 ราย และเจ้าตัว โดย น.ส.ทานตะวันและ น.ส.อรวรรณยืนยันว่าพวกเขาจะยังอยากที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ได้ถอนประกันมา โดยระบุอีกว่า ถ้าเขาหมดสติ หรือถึงเวลานั้นจริงๆ เขาคงไม่รู้ตัว ไม่สามารถตอบอะไรได้ ก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ ทนาย หรือครอบครัวที่จะต้องตัดสินใจ

สำหรับอาการของ น.ส.อรวรรณ นายกฤษฎางค์ระบุว่า มีอาการนอนเฉยๆ  เหนื่อยง่าย มีอาการปวดท้องแทรกเป็นระยะ ไม่ค่อยพูด คาดว่ามาจากการอดข้าวอดน้ำ ซึ่งตนได้แจ้งไปว่าพ่อกับแม่ของ น.ส.อรวรรณมาร่วมยืนหยุดขังด้วย  น.ส.อรวรรณก็ร้องไห้ และเขาก็ไม่ได้พูดอะไรเยอะ เพียงแต่พูดทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้ไปกดดันใคร และไม่ได้หวังว่าจะชนะ แต่เขาต้องการสื่อสารต่อผู้มีอำนาจ และสังคมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหาอะไร รวมทั้งสิ่งที่ทำเพื่ออยากให้สังคมตื่น เนื่องจากเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาจึงตัดสินใจทำแบบนี้ พร้อมยังกล่าวย้ำกับตนเองอีกว่า ถ้าหากตัวเองเป็นอะไรไป ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่ทำพวกเขาทำไป พวกเขาตัดสินใจเอง

ด้านแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็เผยกับตนว่าแพทย์เคารพการตัดสินใจของทั้งคู่ เพราะฉะนั้นการรักษาพยาบาลก็ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของพวกเขา แต่ถ้าในฐานะที่เป็นแพทย์ ก็อยากจะให้ทั้ง 2 คนกลับมารับประทานอาหาร และไปเลือกใช้วิธีอื่นในการต่อสู้ เพราะร่างกายตอนนี้ค่อนข้างจะวิกฤต

ส่วนกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่มีขบวนคาร์ม็อบมาที่ศาลอาญาเพื่อยื่นข้อเรียกร้องนั้น ทาง น.ส.ทานตะวันกับ น.ส.อรวรรณก็ทราบแล้ว ซึ่งทั้งคู่ดีใจ และขอบคุณที่มีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ พร้อมแสดงความเป็นห่วง เพราะไม่อยากให้ใครถูกคดีเพิ่ม ส่วนเรื่องที่มีคนอยากให้ทั้งคู่ยุติการอดอาหารและน้ำ เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นในการต่อสู้ ซึ่งทั้ง 2 คนระบุสั้นๆ กับทนายว่า พวกเขายังมีกำลังใจในการต่อสู้ที่ดี ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วงเขา เพราะสิ่งที่ทำ หนูได้ตัดสินใจแล้ว และเป็นสิ่งที่ตัดสินใจเอง รวมทั้งยังยืนยันที่จะสู้ต่อไป พร้อมทั้งขอบคุณโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ที่ให้เข้ารับการรักษาอีกด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การส่งผู้ต้องขังออกไปรับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอกตามที่ผู้ต้องขังร้องขอ หลังอดน้ำและอาหารมาเป็นเวลากว่า 7 วัน ก็เพราะเรามองเห็นชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสำคัญที่สุด ซึ่งถ้ายังไม่ส่งตัวไปรักษาภายนอก ผู้ต้องขังที่ปฏิเสธการรักษา อาจเกิดอาการหนักจนถึงขั้นวิกฤต ดังนั้นตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงได้ส่งตัวไปรักษาภายนอกแล้ว ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขังที่อดอาหาร โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งแพทย์สมาคมโลก ปฏิญญาโตเกียว ปฏิญญามอลตาว่าด้วยผู้อดอาหารประท้วง โดยขอยืนยันว่าการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นไปตามมาตรฐาน และดูแลผู้ต้องขังเหมือนกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

ขณะที่นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มวลชนมาชุมนุมริมถนนหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. และมีการตัดกำไล EM ที่ข้อเท้าว่า หลังเกิดเหตุแล้วทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบที่ส่วนควบคุมติดตามการปล่อยตัวชั่วคราวฯ ที่ติดตามการติดกำไล EM ของจำเลย หรือผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เมื่อทำการตรวจสอบระบบ ก็ยังปรากฏสัญญาณอยู่ จึงได้มีการเข้าไปตรวจสอบกับบุคคลดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามไปจนถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบ ก็พบว่าที่ข้อเท้าของชายคนดังกล่าวยังมีกำไล EM ติดอยู่ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวนั้นติดกำไล EM ที่เท้าขวา แต่ช่วงที่แสดงออกบริเวณหน้าศาลนั้น ภาพที่บุคคลดังกล่าวตัดกำไล EM ที่ข้อเท้าซ้าย และดูจากภาพจะพบว่าเป็นกำไล EM ที่ติดโดยสกอตเทปสีดำติดอีกที  ซึ่งก็ไม่รู้ว่า กำไล EM ที่ถูกตัดออกข้อเท้าซ้ายนั้นไปนำมาจากไหน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่กำไล EM ที่ติดตามเงื่อนไขของศาล และตอนนี้ชายคนดังกล่าวยังไม่ได้มีการทำลายกำไล EM ของศาลตามที่ปรากฏในภาพข่าวของสื่อต่างๆ ส่วนกำไล EM ที่นำมาตัดนั้น จะนำมาจากไหน อย่างไร ก็คงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะได้มีการตรวจสอบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลที่ตัดกำไล EM หน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวานนี้คือ นายเวหา แสนชนชนะศึก ผู้ต้องหา ม.112 ที่ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยใช้เงินสดจำนวนสูงถึง 360,000 บาท เป็นหลักประกัน พร้อมกับได้รับเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) กำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. ของวันใหม่ และเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมายหลายข้อ จึงขอแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการตัดกำไล EM ออก และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีทั้งหมด เพื่อที่พวกเราจะได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงและเจตนาอันแท้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง