หมดปัญญาแก้สภาล่ม ส.ว.โดดร่มรื้อรธน.ค้าง

ล่มซ้ำซาก คราวนี้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ส.ว.โดดประชุมร่วมร้อยคน แก้ รธน.ริบอำนาจวุฒิสภาค้างเติ่ง "บิ๊กตู่" ปิดห้องถก "ชวน-พรเพชร" แก้ปัญหาสภาล่ม บอก "ผมพยายามเต็มที่แล้ว" จับตาอภิปรายตามม.152 องค์ประชุมไม่ครบจบทันที

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 มีวาระประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในเวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ..... มาตรา 159 เพิ่มที่มานายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ที่ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ แต่ปรากฏว่าเวลาล่วงเลยไปกว่า 1 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ทำให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือต่อที่ประชุมว่า ไม่ทราบจะต้องรอถึงเมื่อใดจึงจะสามารถเปิดประชุมได้ ฝ่ายค้านอยากทราบว่ามีกำหนดรอเวลาเปิดประชุมหรือไม่ อย่างไร หากเปิดประชุมไม่ได้ก็จะได้เลิกประชุม ถ้ารอต่อไปเปลืองค่าแอร์ 

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส.ส.มาเกินครึ่งแล้ว เหลืออีกเพียง 30 คนก็จะเปิดประชุมได้ ขอให้ ส.ว.รีบดื่มน้ำชากาแฟแล้วเข้าห้องประชุม

จากนั้น นายจิรายุลุกขึ้นอีกครั้งแจ้งว่าประเพณีปฏิบัติไม่มีกำหนดเวลารอ จึงอาจรอต่อไป หรือไม่ก็อาจต้องอดทนรออีก 4 ชั่วโมง

 ต่อมาเวลา 11.00 น. นายธีระชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ว.มาร่วมลงชื่อ 44 จาก 250 คน ส่วน ส.ส.มาร่วมลงชื่อ 275 จาก 500 คน ถือว่า ส.ส.ร่วมลงชื่อเกินกึ่งหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ถือว่าเลยมาแล้ว 2 ชั่วโมงจากที่นัดไว้ วันนี้เป็นการประชุมเพื่อยกเลิกอำนาจของ ส.ว.โหวตนายกฯ แต่ ส.ว.ไม่มาร่วมประชุม จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกรัฐสภาเล่นเกมองค์ประชุมหรือไม่ ตัดอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วฝ่ายนั้นไม่มา เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

กระทั่งเวลา 11.09 น. ที่ประชุมสามารถเปิดประชุมได้ ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีสมาชิกมาร่วมลงชื่อจำนวน 342 คน แบ่งเป็น ส.ว. 51 คน และ ส.ส. 291 คน แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากที่ประชุมขอให้ลงมติในญัตติที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอค้างไว้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. กรณีการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ ดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดระเบียบวาระประชุมดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเสียเวลารอให้สมาชิกมาแสดงตนเพื่อลงมติในญัตตินี้นานร่วม 1 ชั่วโมง โดยมีสมาชิกรัฐสภามาแสดงตนเป็นองค์ประชุมเพียง 308 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม นายชวนจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.05 น. ทั้งนี้ นายชวนแจ้งว่าวันนี้ส.ส.แจ้งลาประชุม 15 คน ส่วน ส.ว. 95 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ต้นปี 66

ผมก็พยายามเต็มที่ให้แล้ว

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายพรเพชร วชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการหารือนอกรอบที่ห้องรับรอง ร่วมกับนายชวน นายพรเพชร และนายวิษณุ กว่า 10 นาที โดยมีรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้มีการพูดคุยถึงกรณีการประชุมสภาล่มซ้ำซาก รวมทั้งร่างกฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ในสภา

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ จะให้คุยเรื่องอะไรอีก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องสภาล่มหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า "ท่านก็บอกผม ซึ่งผมก็รับทราบและขอบคุณ ซึ่งผมก็พยายามเต็มที่ให้แล้ว”

ด้านนายชวนให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเดียวกันว่า การที่องค์ประชุมล่มในวันเดียวกันนี้ถือเป็นเรื่องตามปกติ ซึ่งวันเดียวกันนี้มี ส.ว.ลาประชุมกว่า 90 คน ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วองค์ประชุมวันเดียวกันนี้จะต้องมีสมาชิกจำนวน 333 คน แต่หลังจากที่เรียกสมาชิกรัฐสภา ก็ได้สมาชิกเป็นองค์ประชุมรวม 309 คน จึงได้สั่งปิดการประชุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีจำนวน ส.ว.ลาประชุมถึง 95 คน ถือเป็นเจตนาที่จะทำให้ไม่สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐบาลนูญฉบับดังกล่าวได้ใช่หรือไม่  ประธานรัฐสภาตอบว่า ฝ่าย ส.ว.ส่วนหนึ่งคงมีความกังวลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ด่าเขา ขณะที่ ส.ว.อีกส่วนหนึ่งก็มาทำหน้าที่ตามปกติ จึงมี ส.ว.ส่วนหนึ่งพยายามไม่ให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ความจริงแล้วการประชุมร่วมรัฐสภาถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของสภาได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายเหล่านั้นจะต้องถูกพิจารณาตามหลัง เหมือนกรณีของร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ที่อยู่ระหว่างตามหลังกฎหมายฉบับอื่น และค้างการพิจารณาอีกหลายวัน

จับตาสภาล่มรับซักฟอก

นายชวนกล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะหารือกับทางประธานวุฒิสภา เพื่อกำหนดวันนัดประชุมร่วมรัฐสภาวาระปกติอีกครั้ง เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ตามด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

ขณะที่นายพรเพชรยืนยันว่า ส.ว.ไม่ละทิ้งหน้า กล้าปฏิเสธว่าไม่มี แม้แต่ตนเองก็ไม่เคยละเว้นหน้าที่แม้แต่วันเดียว

เมื่อถามว่า มองอย่างไรต่อกรณีที่มี ส.ว.บางคนออกมาทำนายอนาคตทางการเมืองของประเทศจะกลายเป็นการชี้นำ หรือเป็นการให้ร้ายพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เท่าที่เห็นก็มี มีเพียงคนเดียวนอกนั้น ไม่เห็นมีอะไร ส่วนใครจะทำ ตัวเป็นหมอดูหรือคาดการณ์อะไรเป็นเรื่องของเขา ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือไปทำอะไรที่เป็นการละเมิดหรือไม่เหมาะสม ก็ปล่อยให้เขาทำไป แต่สังคมจะเป็นผู้พิจารณาเอง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.ว่า ทางสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะเป็นผู้เตรียม ข้อมูลต่างๆ แต่เชื่อว่าพอถึงเวลารัฐมนตรี มีความชำนาญจะสามารถตอบได้ แม้มีการเตรียมข้อมูลเรื่องตัวเลขแต่ ระหว่างพูดอาจไม่ได้ใช้

เมื่อถามว่า ระหว่างการอภิปรายหากองค์ประชุมไม่ครบทำให้สภาล่มจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าล่มตอนอภิปรายก็ถือว่าจบการอภิปราย ก็แค่นั้น แม้จะล่มในการอภิปรายวันแรกก็ถือว่าจบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาจะนัดกันว่า หากล่มวันแรก ในวันที่สองจะมีการอภิปรายต่อหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่จำเป็น เพราะตกลงกันแล้วว่าให้อภิปรายในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ สมมุติหากวันที่ 15 ก.พ. อภิปรายไปถึงเวลา 15.00 น. แล้วมีมือดี ยกมือขอนับองค์ประชุม ประธานในที่ประชุมอาจจะให้มาอภิปรายต่อในอีกวันหรืออาจจะ เห็นว่าได้มีการอภิปรายกันแล้ว หากองค์ประชุมไม่ครบก็แสดงว่าไม่ติดใจ ก็ถือว่าจบ เพราะการอภิปรายคือการเปิดโอกาสให้คนที่สงสัยถาม เมื่อจะถามก็ต้องอยู่ ถ้าไม่อยู่ก็แปลว่าไม่มีอะไรจะถามไม่เหมือนกับอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะล่มก็ต้องให้ครบคนที่ขออภิปราย แต่ครั้งนี้เป็นการอภิปรายทั่วไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะอภิปรายใคร เหมือนกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อแถลงเสร็จก็เปิดให้มีการอภิปราย แต่เมื่ออภิปรายไปสักพักองค์ประชุมก็ล่ม ถือว่าจบการแถลงนโยบาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์