ฝ่ายค้านมีมติคว่ำพรก.อุ้มหาย

"ชวน" ชี้เป็นโอกาสฝ่ายค้าน อภิปรายแบบซักฟอกรัฐบาลอีกครั้งในการพิจารณา พ.ร.ก.อุ้มหาย เผยหากองค์ประชุมไม่ครบก็ช่วยไม่ได้ แนะ ส.ส.ใช้สิทธิ์เข้าชื่อส่งศาล รธน. ขณะที่ฝ่ายค้านมีมติคว่ำแน่นอน ไม่เห็นด้วยส่งศาล รธน.เพราะเป็นการซื้อเวลา

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายชวน หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 28 ก.พ.66 เวลา 09.30  น.เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย  พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ หากฝ่ายค้านโหวตคว่ำร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวว่า เรื่องการรักษาองค์ประชุมเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เป็นเจ้าของ พ.ร.ก.นี้ จึงต้องนำองค์ประชุมมาให้ครบ แต่โดยทั่วไปเข้าใจว่า จะเป็นโอกาสของพรรคฝ่ายค้าน ที่จะอภิปรายเหมือนอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการออก พ.ร.ก.เพื่อยกเว้นไม่ใช้กฎหมายนี้จำนวน 4 มาตรา เพราะไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายเห็นว่าอาจจะมีการเสนอเพื่อให้ประธานสภานำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่ากฎหมายที่ออกมานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่  หากเข้าชื่อกันได้ตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อถามว่า หาก พ.ร.ก.ถูกคว่ำจะเกิดอะไรขึ้น นายชวนกล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.พ.บรรจุวาระการประชุมไว้เพียงเรื่องเดียว เว้นแต่องค์ประชุมไม่ครบก็ช่วยไม่ได้

ถามย้ำว่า หากลงมติไม่ผ่านจะทำอย่างไร นายชวน กล่าวว่า ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน และการยกเว้นก็ไม่มีผล ชะลอไม่ได้ ดังนั้นจึงมีวิธีเดียวคือ การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าชื่อ 1 ใน 5 ของจำนวนสภาชิกสภาเท่าที่มีอยู่ เพื่อส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน หรือตราบเท่าที่ยังไม่ลงมติ หรือระหว่างอภิปรายก็สามารถส่งให้ประธานสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ได้กำชับ ส.ว.ให้สแตนด์บายเตรียมพร้อมจนถึงเวลา  24.00 น. ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ ตนได้ยินข่าวมาว่าจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ก็จะทำให้วุฒิสภาไม่สามารถพิจารณาได้ ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาล 

"การพิจารณากฎหมายต้องคานทีละสภา และไม่ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส. ได้ข่าวมาว่าจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าส่งศาลก็เล่นกีฬาต่อ" ประธานวุฒิสภากล่าว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงานหลักที่เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีข้อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมและควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องไว้ตลอดเวลาจนส่งพนักงานสอบสวน ที่ต้องเก็บไฟล์ภาพและเสียงไว้ตลอดจนกว่าคดีจะขาดอายุความ จึงต้องมีแหล่งจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งมาตรา 22  ในเรื่องการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมตัวผู้ต้องหา และควบคุมตัวโดยผู้ที่จับกุม ไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ที่ไปดำเนินการควบคุมตัวต้องมีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนส่งพนักงานสอบสวน

นายอนุชากล่าวว่า ทั้งนี้ในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ ตามที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณนั้น จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  พ.ศ.2560 ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนกว่าจะได้รับอุปกรณ์มาแจกจ่าย จึงเป็นเหตุผลที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว

 “ที่ผ่านมา สตช.ได้มีการเตรียมการและร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยราชการต่างๆ ขับเคลื่อนการเตรียมการเพื่อปฏิบัติตาม พร.บ.ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด” นายอนุชากล่าว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ส.ส.ฝั่งรัฐบาลบางส่วนมีความไม่เห็นด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องรอดูการลงมติ แต่หากสภาไม่อนุมัติสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการมี 2 ทาง คือยุบสภา  หรือ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย เพราะที่ผ่านมาแม้มีเหตุการณ์ที่นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่กลับหลีกเลี่ยงการปฏิบัติ

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล  กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่ควรยื่นศาล รธน. เพราะเป็นอำนาจเต็มของสภาผู้แทนฯ อยู่แล้วที่จะลงมติว่า  พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ การยื่นศาล รธน.จะเป็นการช่วยเตะถ่วงให้ พ.ร.ก.ที่ออกมาโดยมิชอบสามารถบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชน และคนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดจากการยื่นศาล  รธน.คือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ หากสภาโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ของรัฐบาล

"ยืนยันว่า ส.ส.ก้าวไกลจะไม่ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่าเจตนาทำให้สภาล่มในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งขอให้ลงมติเพื่อคุ้มครองประชาชน มิใช่เพื่อคุ้มครอง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่าเขียนด้วยมือแต่ลบด้วยเท้า ควรลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงตัวให้ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างประชาชนหรืออยู่ข้างผู้นำบ้าอำนาจ" นายชัยธวัชระบุ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องยื่นคัดค้านก่อนที่จะมีการพิจารณาหรือก่อนการอนุมัติ พ.ร.ก. หากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาต้องสั่งให้ยุติการพิจารณาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และตามกรอบเวลาประธานสภาจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และตราบใดที่ยังไม่มีการอนุมัติจากสภา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลบังคับใช้ พ.ร.ก.ก็ยังมีอยู่ตลอด โดยช่วงระยะเวลาเป็นปัจจัยที่จะตัดสินใจต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านคาดหวังว่าสภาควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก.หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรอนุมัติก็ไม่ควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 “สำหรับจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านคือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ดังกล่าว ด้วยเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้สมัยประชุมสภาจะปิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หากจำเป็นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว  ต้องมีเงื่อนไขว่ายังมีรัฐบาลอยู่ และจะต้องเปิดภายในอายุของสภาคือวันที่ 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น หากหมดอายุสภาแล้วก็ไม่สามารถเปิดสมัยวิสามัญได้” นพ.ชลน่านกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์