แนะรัฐบาลใหม่ รับวิกฤตปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

“ธีระชัย” เตือนรัฐบาลใหม่เตรียมเผชิญ 4 ปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชะลอตัว แก๊ส-อาหารราคาพุ่ง  “ปรีดา” แนะไทยต้องรับแรงงานเพื่อนบ้านแก้ปัญหาประชากรถดถอย  “อนุสรณ์” บอกไทยต้องยึดประโยชน์วางตัวเป็นกลาง "โคทม" ชงนักการเมืองขายไอเดียระยาว อย่ามุ่งแต่เอาชนะ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566  สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35 จัดเสวนาเรื่อง ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์กับเศรษฐกิจและการเมืองประเทศไทย โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35 กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองมุ่งหาเสียง แต่ละเลยการพูดถึงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างจีนจับมือกับอินเดีย และที่ผ่านมาไทยถูกครอบงำโดยชาติตะวันตก ดังนั้น นักลงทุน พ่อค้า หรือรัฐบาล เหมือนอยู่ระหว่างเขาควายหรือทางสองแพร่ง อยู่ระหว่างอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ เพราะฉะนั้นการค้าขายหรือลงทุนจึงต้องเข้าใจขั้วอำนาจในโลกและการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจต่างๆด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขบวนการภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลหน้าจะเผชิญ 4 ปัญหา 1.เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดจากปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในชาติตะวันตกต่อเนื่องวิกฤตโควิด-19 2.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเทียบกับรัสเซีย โดยราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกอาจสูงขึ้น อีกทั้งราคาอาหารก็จะสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง 2 ประเทศนี้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก รวมส่งออกข้าวบาร์เลย์ 29% ขณะน้ำมันดอกทานตะวันส่งออก 79% ของโลก

3.โลกการค้าแบ่งเป็น 2 ค่าย โดยค่ายตะวันออกกับตะวันตกคือสหรัฐกับจีน ซึ่งจีนเร่งขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไทยจะค้าขายกับจีน ควรกำหนดการใช้เงินดิจิทัลหยวนของจีน ตลอดจนพัฒนาการขนส่งสินค้าทางบกไทย-จีนโดยเร่งด่วน และ 4.ปัญหาเรื่องโลกร้อน ที่ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนมาก ซึ่งประเทศไทยยังผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนที่มากอยู่

"เพื่อไม่ให้ประเทศไทยวิ่งตามปัญหาเหมือนรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 จึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองตระหนักถึงปัญหาในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ และมีนโยบายที่จะเสนอประชาชนเพื่อรับมือปัญหานี้อย่างไร" นายธีระชัยกล่าว

 นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนที่ทั้งโลกยังไม่แก้ปัญหาหรือให้ความสำคัญอย่างจริงจัง รัฐบาลไทยและทั่วโลกควรดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ และนักการเมืองในไทยควรใช้ประเด็นนี้ในการหาเสียงด้วย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นมติสากลของโลก รวมถึงจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ด้วย

“ปัญหาประชากรถดถอยหรือสังคมสูงอายุ ปัญหาสงครามเย็นรอบใหม่นั้น การแก้ปัญหาของไทยต้องสร้างสันติภาพขึ้นมาก่อน คือหยุดต่อสู้ทางการเมืองหรือหาเสียงด้วยประชานิยม ที่จะสร้างปัญหาให้ประเทศภายหลัง ด้านนโยบายต้องมองการเติบโตที่ยั่งยืน มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ควรมองประชาชนเป็นเหยื่อ”นายปรีดาระบุ

นายปรีดากล่าวว่า ปัญหาการถดถอยของประชากรนั้น ปัจจุบันเหลือราว 66 ล้านคน ลดลงราว 600,000 คนต่อปี มีผู้สูงวัย 20% หรือราว 15 ล้านคน กระทบวัยที่จะเป็นแรงงานในอนาคต ท่ามกลางประเทศต่างๆ ที่ประชากรเพิ่มขึ้นสวนทางกับไทย ไทยจึงยากที่จะมีการลงทุนโดยเฉพาะจากต่างชาติ และไทยเองยังช่วยตัวเองไม่ได้ มีทางเดียวคือต้องยอมให้อพยพแรงงานต่างชาติเข้ามาเหมือนสิงคโปร์ และดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไทยยังโชคดีที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่มีวัฒนธรรมและศาสนาที่คล้ายๆ กันเป็นแรงงานได้

“ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติแถวลุ่มแม่น้ำโขง เราก็จะได้กลุ่มคนที่มีคุณภาพที่จะสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกันกับเราอย่างมีความสุขได้ และไม่น่าจะมาสร้างปัญหาอะไรให้มากมาย ฉะนั้นนโยบายที่อยากฝากนักการเมืองไป คือขอให้ใช้นโยบายแก้ปัญหาที่ปัญหาเป็นตายของประเทศไทย คือเรื่อง ประชากรถดถอยจาก 70 ล้านคน หรือ 66 ล้านคน หายไปปีละ 600,000 คน ซึ่งไม่มีทางเลือก ท่านต้องเอาคนต่างประเทศเข้ามาอยู่” นายปรีดากล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดในเวทีโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดคือพลเมืองซึ่งมีความกระตือรือร้น เพื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับพลวัตใหม่ของโลก เพราะอาจเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐกับจีน ซึ่งต่างขยายอำนาจมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รศ.ดร.อนุสรณ์ยังเสนอแนวทางแก้ไขว่า 1.ท่ามกลางความขัดแย้งการต่อสู้การแข่งขันในเชิงอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ  ไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศต้องยึดมั่นในความเป็นกลางและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การเคารพคุณภาพแห่งดินแดน โดยไม่จำเป็นและไม่ควรต้องเลือกข้าง 2.ไทยต้องยึดผลประโยชน์แห่งชาติ และไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อขั้วที่มีความขัดแย้งกัน ต้องยึดหลักความเป็นจริงว่าอะไรก็ตามที่กระทบกับคนไทย กระทบผลประโยชน์ของชาติไทยเราไม่ทำ

“ทูตของไทยไม่ใช่ทำงานเรื่องการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการหาข่าวให้ประเทศด้วยว่าลึกๆ แล้วมันเป็นยังไง กระบวนการการตัดสินใจของแต่ละประเทศของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะมหาอำนาจเป็นอย่างไร เราก็ต้องวางสถานะให้มันถูกต้อง เพื่อให้เราได้ประโยชน์”

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า เราก็ต้องมองอนาคตให้มันชัดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ยุโรป เมื่อยุโรปจะเกิดปัญหา ในเชิงยุทธศาสตร์เราต้องเป็นเพื่อนกับประเทศในเอเชียมากขึ้น ต้องเปิดตลาดและเพิ่มการค้าเพิ่มการลงทุนในเอเชียมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าสงครามในยุโรปจะจบเมื่อไหร่ จะยืดเยื้อขนาดไหน ซึ่งจะยืดเยื้อแน่นอน เพราะรัสเซียไม่ได้รบกับยูเครนประเทศเดียว แต่มีประเทศยุโรปและอเมริกาอื่นหนุนหลัง และจีนที่เหมือนไม่เลือกข้าง แต่สนับสนุนรัสเซียเป็นนัย

รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ความเห็นในงานเสวนา ระบุว่า จุดยืนของรัฐไทยต่อสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนนั้น อยากจะเห็นไทยมีบทบาทมากกว่านี้ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยมีบทบาทไทยลดลง เนื่องจากปัญหาความไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย แต่หากผู้มีอำนาจขยับจากอำนาจนิยมอนุรักษนิยมไปสู่เสรีประชาธิปไตยให้มากขึ้นตามที่พูดได้จริง คือเปิดพื้นที่ให้แก่เสรีประชาธิปไตยมากขึ้น บทบาทของประเทศไทยในอาเซียนอาจโดดเด่นขึ้นได้ ดังนั้นในระดับภูมิศาสตร์ ควรมุ่งทำให้อาเซียนองค์กรที่มีความสามารถที่จะประสานงานหลายฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าทำได้ระดับหนึ่งแล้ว การแก้ปัญหาต่างๆไม่ว่ากรณีพิพาทที่ไต้หวันหรือในทะเลจีนใต้ อาเซียนควรขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะประเทศจีน ไม่ตัดสินด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงคราม

 “การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอพื้นที่สำหรับประเด็นโครงสร้าง ประเด็นระยะยาว และเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย อย่าเพียงแค่หวังชัยชนะในการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือนนี้ แต่ละเลยเป้าหมายระยะยาวของประเทศและของโลก” รศ.ดร.โคทมกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง