แจงยิบปม‘ทุนมินลัต-ส.ว.’

“โกศลวัฒน์” เเจงขั้นตอนสอบสวนคดีเครือข่ายทุน มิน ลัต ชี้หมายจับยังไม่ถึงมือ อสส. ยันตั้งพนักงานสอบสวนคุ้ย ส.ว.คนดังแล้ว ผบก.ปส.3 บช.ปส.แจงขั้นตอนดำเนินการยิบ ลั่นไม่มีผู้ใหญ่หรือใครกดดัน เพราะหากทำจริงต้องรับโทษหนักกว่า 3 เท่า “โรม” เตรียมเปิดชื่อบิ๊กตำรวจเบื้องหลัง

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายโกศลวัฒน์  อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงการเผยแพร่เอกสารของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สว.กก.2 บก.สส.บช.น. ชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินคดีกับเครือข่ายทุน มิน ลัต ว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร และอยู่ในอำนาจอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า ตามที่ปรากฏประเด็นเรื่องการขอออกหมายจับนายอุปกิต ส.ว.คนดังขณะนั้นเป็นกระบวนการในชั้นตำรวจฝ่ายสืบสวน ยังไม่มาถึงในส่วนของพนักงานอัยการ   อัยการมารับเรื่องจริงภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรเสนอมายัง อสส.เพื่อรับเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ซึ่งกฎหมายให้ อสส.เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือมีอำนาจตั้งพนักงานสอบสวน

นายโกศลวัฒน์กล่าวต่อว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวน โดยมีนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าชุดกับคณะอัยการรวม 9 คนเข้าไปร่วมสอบสวน พอเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโดยมีการฟ้องนายทุน มิน ลัตอายุ 53 ปี นักธุรกิจค้าอาวุธชาวเมียนมาที่สนิทสนมกับผู้นำระดับสูงในเมียนมากับพวก ซึ่งมีลูกเขย ส.ว.คนดังในคดียาเสพติดและฟอกเงินต่อศาลไป ส่วนนายอุปกิตยังไม่มีการฟ้อง แต่ อสส.ก็ได้มีคำสั่งให้สอบสวนเป็นสำนวนคดีนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 26 ม.ค. โดยให้พนักงานสอบสวนชุดเดิมสอบสวน โดยมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ส่วนการสอบสวนทางตำรวจจะเป็นผู้ปฏิบัติ รวมถึงการยื่นขอหมายต่อศาล ทางตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้ไปยื่นต่อศาล ยืนยันว่าเอกสารที่มีการเเชร์ในโลกออนไลน์เป็นเรื่องก่อนที่ อสส.จะรับเรื่องมาในสำนักงาน

“หลังจากนี้ในเรื่องการขอหมายต่อศาล จะอยู่ที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่เข้าร่วมสอบสวนคุยกัน แต่คนไปยื่นจะเป็นพนักงานสอบสวนที่มีปัญหากันทางอัยการไม่ทราบ ที่ยื่นหมายไปเป็นตำรวจสืบสวนไม่ใช่สอบสวนด้วย อัยการจึงมารับเรื่องภายหลังจากที่ตำรวจฝ่ายการสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรเเล้วเสนอให้ อสส.สั่งการตามกฎหมาย” รองโฆษก อสส.ย้ำ

ขณะที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการโยกย้ายตำรวจชุดทำคดีเครือข่ายทุน มิน ลัต ว่าคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมาเป็นไปตามกฎระเบียบภายใต้กรอบกฎหมาย เพราะว่าหน่วยเป็นผู้พิจารณา รองผู้บังคับการ-สารวัตรเป็นอำนาจผู้บัญชาการอยู่แล้ว โดย ผบช.จะมีผู้บังคับการที่พิจารณาแล้วว่าคนไหนที่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพในการโยกย้ายก็เสนอขึ้นมา ตรงจุดนี้เป็นเรื่องปกติ

“ทุกอย่างทำไปโดยภายใต้กรอบกฎหมายอยู่แล้ว โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ฝากถึงผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน ไม่ต้องกังวลในเรื่องการพิจารณาการโยกย้าย พยายามทำให้เป็นธรรมมากที่สุด คำนึงถึงภูมิลำเนา และมีหลักเกณฑ์ที่ไม่ไปเสียสิทธิ์ ผบ.ตร.อยากให้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้มีโอกาสกลับภูมิลำเนา ถ้าไม่ติดขัดอะไร ถ้าใครประสงค์จะย้ายไปไหน สามารถทำเรื่องขึ้นมาได้ ผู้บังคับบัญชาพร้อมให้ความเป็นธรรม แต่งตั้งโยกย้ายด้วยความสุจริต ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ต้องการโยกย้าย และผู้บังคับบัญชามีสิทธิ์เลือกคนมาใช้งาน ก็ต้องมีการสอบถามความสมัครใจ” โฆษก ตร.กล่าว

ด้าน พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 บช.ปส.กล่าวว่า การดำเนินคดีกับ เครือข่ายทุน มิน ลัตนั้น เริ่มจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ โดยสำนวนที่ 1 เป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ผู้กล่าวหา กับนายทุน มิน ลัต กับพวกรวม 10 คน และมีการยื่นคำร้องออกหมายจับผู้ต้องหารวม 6 ราย และได้จับกุมผู้ต้องหารวม 4 ราย ส่งให้ บช.ปส.ดำเนินคดี และหลบหนี 2 ราย รวมทั้งมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายอุปกิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 7 ราย ต่อมา อสส.ได้พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่าเป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจของ อสส. จึงได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบร่วมกับอัยการ โดยมีความเห็นว่าพฤติการณ์ผู้ต้องหาในคดีเข้าข่ายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 9 ราย ส่วนนายอุปกิตที่ร้องทุกข์เพิ่มเติมในภายหลังได้แยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวน  

พล.ต.ต.คมสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำนวนที่ 2 เป็นการกล่าวหานายอุปกิตเป็นผู้ต้องหาที่เพิ่มเติมในภายหลังในชั้นการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้แยกดำเนินคดี ซึ่ง อสส.ได้พิจารณาสำนวนที่ 2 เมื่อ 26 ม.ค.2566 ยังคงเห็นว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรเช่นเดียวกันกับสำนวนที่ 1 ซึ่งอยู่ในอำนาจของ อสส. จึงมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบร่วมกับอัยการสำนักงานสอบสวน รวม 7 ท่าน ซึ่งมีนายวัชรินทร์  ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะพนักงานอัยการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ 

พล.ต.ต.คมสิทธิ์ยังกล่าวถึงประเด็นที่เป็นข้อสงสัยที่ปรากฏในสื่อสาธารณะหลายสื่อมีเนื้อหาระบุว่า ศาลได้ให้พนักงานสอบสวนไปออกหมายเรียกนายอุปกิตภายใน 15 วัน แล้วเหตุใดพนักงานสอบสวนไม่ออกหมายเรียกตามที่ศาลสั่งนั้น คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนหลายประการยังไม่สมบูรณ์ มีเอกสารที่ไม่ใช่ภาษาไทยมากกว่า 1,000 แผ่น และ อสส.ยังมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในสำนวนที่ 1 ซึ่งรายละเอียดพยานหลักฐานเกี่ยวพันกับผู้ต้องหาในสำนวนที่ 2 รวม 4 ประเด็นด้วย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายประเด็น แต่ยังเหลือประเด็นที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ เช่น การสั่งให้สอบสวนเกี่ยวกับการซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายค่าไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบัน การตรวจสอบบัญชีเงินฝากและเส้นทางการเงินของบัญชีที่เกี่ยวข้องประมาณกว่า 500 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าไฟฟ้า รวมถึงบุคคลอื่นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการเครือข่ายยาเสพติดกลุ่มนี้หรือไม่อย่างไร

“คณะทำงานร่วมกัน ผบก.ปส.3 ยืนยันว่า ในการดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการไม่มีบุคคลใดทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและฝ่ายผู้ต้องหา หรือผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายทั้งตำรวจและพนักงานอัยการ  เข้ามากดดันการสอบสวน หรือสั่งการในการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหากเข้าไปช่วยเหลือผู้กระทำผิดหรือกลั่นแกล้งผู้กระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ จะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”พล.ต.ต.คมสิทธิ์กล่าว

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ในวันที่ 13 มี.ค. จะแถลงเปิดเผยบิ๊กตำรวจที่อยู่เบื้องหลังการแทรกแซงคดีทุน มิน ลัต และปล่อย ส.ว.ทรงเอลอยนวลที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เพราะเมื่อเดือน ก.ย.2565 อสส.เห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีนอกราชอาณาจักร  และมอบหมายให้ บช.ปส.ดำเนินการ ต่อมาเดือน ต.ค.มีการออกหมายจับและถอนหมายจับ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรจาก บช.ปส.เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง