ผวา!ถอยสายสีส้ม ‘บิ๊กตู่’ทุบโต๊ะโยนรบ.หน้า/ครม.ทิ้งทวนอนุมัติ1.7แสนล้าน

ครม.ทิ้งทวนก่อนยุบสภา  ถกวาระร้อน "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" สุดท้ายค้างเติ่ง รมต.แห่ค้านผวางานเข้า ขณะที่  “อธิรัฐ” คนเสนอก็ลุกลี้ลุกลน ก่อน “บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะสั่งคมนาคมถอนเรื่อง “เลขาฯกฤษฎีกา” บอกรอศาลชี้ขาดให้สะเด็ดน้ำ อย่าหาเรื่องเจ็บตัว “เสี่ยหนู” รับจบแล้ว แต่ไม่ซีเรียสรัฐบาลหน้าต้องสานต่อ หลังประชุมมาราธอนเกือบ 7 ชม. ลุย 88 วาระ อนุมัติทั้งสิ้น 1.7 แสนล้านบาท

เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยพบว่ามีรัฐมนตรีหลายคนที่ลาประชุม ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมการประชุม

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นที่จับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะการเสนอให้ ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ

โดยก่อนประชุม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ว่า ต้องรอการพิจารณาของ ครม. และเมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ครม.จะหยิบยกมาพิจารณาได้หรือไม่ นายปกรณ์ตอบว่า เข้าใจว่าคงรอศาล จะไปทำอะไรทำไมให้มันเจ็บตัว

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ไม่รู้เข้าหรือเปล่า ต้องอยู่ที่ ครม. และเมื่อถามว่าถึงรัฐมนตรีหลายคนคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ นายอนุทินเพียงแต่พยักหน้าโดยไม่ตอบคำถาม แล้วเดินเข้าสู่ห้องประชุมทันที

ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องใดก็ตามในที่ประชุม ครม.ต้องกลั่นกรองในแง่กฎหมายที่มีการสงสัยจนให้ได้ความชัดเจนและตกลงกันให้ได้ก่อนในส่วนของกระทรวงผู้นำเสนอเรื่อง แล้วจึงค่อยนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีประเด็น 2 เรื่อง คือ 1.มีความไม่แน่นอนจากกรณีมีผู้ไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลปกครอง และ 2.หาก ครม.พิจารณาเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมาย ครม.อาจมีความเสี่ยงในการพิจารณาและตัดสินใจ

“หาก ครม.อนุมัติในเวลานี้ ขณะที่ยังมีข้อสงสัยของสังคมว่าโครงการยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ความสุจริต เรื่องผลประโยชน์ จะทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น และทำให้ ครม.ทั้งคณะ รวมถึงผู้ที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชน และหากเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ครม.ในรูปของวาระจร จะทำให้ ครม.ตอบสังคมได้ยากเช่นกัน” นายสาธิตกล่าว และว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอเรื่องรถไฟฟ้าสีส้มเข้าสู่ ครม.ในวันนี้ ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ จะเห็นอย่างไรไม่ทราบ

ชี้ครม.ต้องฟังเสียงประชาชน

เมื่อถามว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  อดีตนักการเมือง ได้โพสต์เตือนว่าหาก ครม.พิจารณาวาระนี้เป็นการทิ้งทวน จะเหมือนขาเข้าคุกข้างหนึ่ง นายสาธิตกล่าวว่า เป็นข้อมูลด้านหนึ่งที่สังคมและประชาชนให้ข้อคิด แม้ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ ครม.ต้องนำมาพิจารณาด้วย เพราะ ครม.มาจากนักการเมือง นักการเมืองต้องฟังเสียงของประชาชน แต่ถ้ามั่นใจว่าทำถูกต้องก็ทำได้ แต่ถ้าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมาย ก็ไม่ควรลงมติเห็นชอบ ซึ่งส่วนตัวจะลงมติไม่เห็นด้วย ถ้าใครลงมติเห็นชอบก็ไปรับผิดชอบทางกฎหมายต่อไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มยังมีเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอยู่ 2 คดี และยังมีประเด็นอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ด้วย หากเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ควรต้องชะลอไปก่อน รอให้การตัดสินของศาลปกครอง 2 คดี และคำพิจารณาของ ป.ป.ช.ให้เรียบร้อยก่อน

“ถ้าเข้ามาจริงๆ ก็อยากขอให้ชะลอ เพราะถ้า ครม.เห็นชอบไปแล้วมีการตัดสินของศาลขึ้นมา มันอาจขัดแย้งกับ ครม.ที่มีมติออกไป ซึ่งทำให้มีปัญหาภายหลังได้ อย่าลืมว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ สังคมจับตามองดูอยู่ ดังนั้นควรมีความชัดเจน ทั้งเรื่องของคดีความและการดำเนินการ” นายวราวุธกล่าว

ภายหลังการประชุม ครม.ที่ใช้เวลาประชุมเกือบ 7 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์ว่า มีวาระการประชุมมากกว่า 60 เรื่อง และมีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง

เมื่อถามถึงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มได้เข้าสู่การพิจารณาและอนุมัติหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ ไม่ได้เข้าวาระด้วย เมื่อถามย้ำว่าเลื่อนออกไปก่อนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีการพิจารณา ไม่มีเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณา ไม่ได้เข้าเลย

'วิษณุ' ยันไม่ได้ทิ้งทวน

ถามว่าวันนี้ได้บอกกับ ครม.หรือไม่ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบพร้อมเดินออกจากโพเดียมทันที  และเมื่อถามอีกว่าการประชุม ครม.วันนี้ถือเป็นนัดสุดท้ายใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์เอามือป้องที่หู พร้อมทำหน้ายียวนก่อนย้อนถามว่า เขาห้ามเหรอ เขาห้ามประชุม ครม.ต่อเหรอ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหมายถึงการประชุม ครม.ที่มีอำนาจเต็ม พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวประชดว่า อ๋อ ไม่รู้อะไรสักอย่างเหรอ คิดว่านายกฯ ไม่ทราบเหรอ ถ้าคิดว่าทราบก็จบ และเมื่อถามย้ำอีกว่าเป็นการประชุม ครม.นัดสุดท้ายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบ และเมื่อถามถึงเรื่องการยุบสภาได้บอกกับ ครม.ไปหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามเช่นกัน

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการประชุม ครม.กว่า 7 ชั่วโมงว่า เป็นทุกสมัย ไม่ว่ารัฐบาลไหน หลายเรื่องไม่ต้องเข้าในสัปดาห์นี้ แต่เราไม่อยากไปดำเนินการในสัปดาห์ต่อๆ ไป แต่ไม่ถือว่าเป็นการทิ้งทวนอะไร เพราะมีเรื่องเวลามาล็อกไว้ เนื่องจากหากยุบสภาไปแล้วหลายเรื่องจะพิจารณาไม่ได้ 

ถามถึงการถอนวาระโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อ ครม.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ และหลายฝ่ายเห็นว่าควรรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ใกล้ตัดสินแล้ว

เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เป็นผู้เสนอเป็นวาระจร นายวิษณุกล่าวว่า นายอธิรัฐไม่ได้เสนอวาระจร แต่เรื่องมันจร เพราะเรื่องเพิ่งเสนอเข้ามา กว่าจะขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ได้ และยากที่จะเสนอมาในรัฐบาลนี้ เพราะหาก ครม.ไม่ได้อนุมัติไว้แล้วจะติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1) ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม

ด้านนายอนุทิน กล่าวถึงการถอนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า นายอธิรัฐในฐานะเจ้าของเรื่องถอนเรื่องออกไป ถ้าดูแล้วคิดว่ายังไม่สมควรที่จะดำเนินการต่อไป ก็มีสิทธิถอนได้ โดยหลังจากรับฟังเหตุผลจากส่วนราชการและรัฐมนตรีหลายคน ท่านก็คงใช้วิจารณญาณในการถอนเรื่องออกไป เมื่อถอนเรื่องออกไป เท่ากับว่าไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้

เมื่อถามว่า จะนำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มมาพิจารณาอีกรอบหรือไม่ นายอนุทินย้อนถามกลับว่า ยังมีอีกหรือ พร้อมถามสื่อว่าสัปดาห์หน้าจะประชุมอีกหรือไม่ สุดท้ายก็อยู่ที่กระทรวงคมนาคม เพราะตอนนี้กระทรวงคมนาคมก็มีรัฐมนตรีรักษาการอยู่ หลังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

เมื่อถามว่า ในช่วง ครม.รักษาการ จะมีการนำโครงการสายสีส้มมาพิจารณาอีกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ในช่วงรักษาการไม่สามารถพิจารณาได้แล้ว เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำ เพราะยังเป็นเรื่องที่ยังไม่ผูกพันกับงบประมาณ ถ้ายังไม่บรรจุก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ ถ้าสัปดาห์นี้ไม่เข้าก็ไม่ต้องเข้าแล้ว แต่ถ้ายุบสภาก่อนสัปดาห์หน้า ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ วันนี้ยังห่างจากการลงนามอีกหลายขั้นตอน เพราะต้องให้ ครม.พิจารณาเพื่ออนุมัติ เพราะมีหลายขั้นตอน และต้องใช้มติ ครม.อำนาจเต็มด้วย

เสี่ยหนูยันต้องฟังกฤษฎีกา

 เมื่อถามว่า ที่ ครม.เลื่อนออกไป เป็นเพราะกรณีนายชูวิทย์มาคัดค้านใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย ส่วนใหญ่กังวลในเรื่องข้อกฎหมาย มีคดีที่ค้างคาอยู่ บางคดีตัดสินไปแล้ว บางคดีมีอุทธรณ์ ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ซึ่งรัฐมนตรีหลายท่านกังวล แต่คิดว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐมนตรีหลายคนกังวล และนายอธิรัฐขอเลื่อนออกไปก็มาจากความเห็นส่วนราชการมากกว่า อาทิ คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ที่ให้ความเห็นว่าควรรอมีคำพิพากษาให้ทุกอย่างชัดเจนก่อน พอเริ่มประโยคแรกเราก็เริ่มคาดเดาได้แล้ว เราไม่เชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วเราจะเชื่อใคร

เมื่อถามว่า หากพ้นระยะเวลายืนราคาที่เสนอจะกระทบหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็ประมูลใหม่ หากพ้นระยะเวลาแล้วไม่มีการยืนราคาต่อไป ซึ่งปกติเวลายืนราคาแล้ว กระบวนการยังไม่เสร็จ หน่วยงานก็มีสิทธิ์ทำหนังสือไปขอผู้ประกวดราคายินดีขยายเวลายืนราคา เช่น 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน ถ้าขยายก็เดินต่อได้ ถ้าไม่ยืนก็มารับซองคืนรับหลักประกันการประมูลคืน อย่าไปซีเรียส ไม่จบในรัฐบาลนี้ก็ต้องจบในรัฐบาลหน้า สีส้มมี 2 ตอน ตะวันออกและตะวันตก โดยสายตะวันออกสร้างเรียบร้อยมาครึ่งหนึ่งแล้ว เหลือตะวันตกอย่างไรก็ต้องสร้าง

ส่วนนายสาธิต กล่าวในเรื่องนี้ว่า  พล.อ.ประยุทธ์ได้ถอนวาระดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ายังมีโอกาสที่จะพิจารณาอนุมัติได้ และในที่ประชุมมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นโดยขอให้บันทึกว่าไม่เห็นชอบที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งรับทราบและเห็นชอบ โดยนายกฯ รับฟังทุกคน ซึ่งต้องขอขอบคุณนายกฯ ที่ตัดสินใจให้กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องดังกล่าว

ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยมีพอสมควร โดยมีรัฐมนตรีที่อภิปราย 6-7 คน อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย ส่วนนายอธิรัฐไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไร ซึ่งตนขอให้บันทึกว่าตัวเองไม่เห็นด้วย ทั้งเพื่อทราบและเห็นชอบ รวมถึงขอให้ถอนออกไป

“ผมสบายใจมากที่นายกฯ ตัดสินใจทำให้ตอบคำถามกับสังคมได้ ช่วงเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก จำเป็นต้องรอบคอบ และเมื่อมีความเสี่ยงที่ศาลกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ก็ต้องมีความชัดเจนพอสมควร เพราะ ครม.เป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณา” นายสาธิตกล่าว

ด้านนายสุริยะกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เรื่องนี้ควรรอความชัดเจนจากศาลปกครองสูงสุดก่อน เมื่อการกฤษฎีกาให้ความเห็นมาก็เห็นว่าไม่ควรอนุมัติตาม และเรื่องดังกล่าวเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชนมาโดยตลอด อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เสนอมาเป็นวาระจร ทำให้ไม่มีเวลาดูรายละเอียดเลย จึงคิดว่าไม่ควร นายกฯ เองจึงได้ให้กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องออกไป ทั้งนี้ รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ก่อนการประชุม ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ใช้เวลายาวนานที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ ประมาณ 6 ชั่วโมง โดยเริ่มประชุมตอนเวลา 10.00 น. และเลิกประชุมเวลา 16.00 น. ซึ่งมีการพิจารณาวาระมากถึง 88 เรื่อง และมีการอนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณ การลดภาษี  การให้สินเชื่อ และการชดเชยวงเงินให้กับสถาบันการเงิน รวมวงเงินกว่า 173,850  ล้านบาท  

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มการประชุม ครม. นายอธิรัฐมีสีหน้าเคร่งเครียด ลุกลี้ลุกลน และลุกจากเก้าอี้ออกไปพูดคุยโทรศัพท์บ่อยครั้ง แต่บรรยากาศเริ่มมาตึงเครียดในช่วงบ่าย หลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการบรรจุวาระรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าสู่การพิจารณาในวาระจร โดยในช่วงเวลา 14.00 น. ที่มีการแจกเอกสารเพื่อเตรียมเข้าสู่วาระการพิจารณา ซึ่งระหว่างนี้มีรัฐมนตรีบางคนทยอยเดินทางกลับ โดยเวลา 14.15 น. นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางออกทางด้านหลังตึกสันติไมตรี พร้อมบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมไปก่อนแล้ว” จากนั้นเวลา 14.30 น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ได้เดินทางกลับ โดยอ้างมีประชุมพรรค

บิ๊กตู่ทุบโต๊ะสั่งถอนสายสีส้ม

 กระทั่งเวลา 14.57 น. ที่ประชุม ครม.ได้เริ่มพิจารณารถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเลขาธิการ ครม.ได้เชิญผู้ว่า รฟม. ผู้บริหาร รฟม. และตัวแทนอัยการสูงสุด มาชี้แจงความเป็นมาของโครงการ จากนั้นเลขาธิการ ครม.ได้อ่านความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ควรรอให้มีความชัดเจน เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า เรื่องนี้มีประเด็นฟ้องร้องอยู่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะถามความเห็นของ ครม. ซึ่งนายวราวุธได้ทักท้วงว่า อัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นว่าควรรอคำพิพากษา เช่นเดียวกับนายสาธิต ที่กล่าวเสริมว่าควรรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน และไม่เห็นด้วยที่นำเสนอเรื่องนี้เข้ามา นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว อาทิ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน,  นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย และนายสุริยะ

 ขณะที่นายวิษณุอธิบายว่า เรื่องนี้มีอยู่ 4 ประเด็นที่ต้องพิจารณา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียก รฟม.มาชี้แจงให้ฟังแล้ว ได้แก่ 1.มีการล็อกสเปกหรือไม่ เรื่องนี้ศาลปกครองตัดสินแล้วว่าไม่มีการล็อกสเปก แต่บีทีเอสเป็นผู้ที่ไม่ยื่นประมูลเอง และศาลอาญาตัดสินแล้วไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร 2.เงินส่วนต่างของบีอีเอ็มกับบีทีเอส จะให้ รฟม.ชี้แจง 3.มีคดีค้างที่ศาลและ ป.ป.ช.หรือไม่ ที่ค้างอยู่ในศาลปกครองสูงสุดคือ คดียกเลิกการประมูลปี 63 มิชอบ ส่วนที่ ป.ป.ช.ไม่มีคดีค้าง และ 4.ทำไมไม่รอผลการพิจารณาของศาลปกครองก่อน ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำตัดสินมาแล้วว่าไม่คุ้มครอง และหากรอเวลาไปเรื่อยๆ ยิ่งเกิดความเสียหาย และถูกฟ้องเรื่อยๆ รวมถึงหากยุบสภาไปแล้วจะอนุมัติไม่ได้ ทั้งนี้ นายวิษณุยังแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “ครม.ควรเห็นชอบ แต่เนื่องมีคดีค้างอยู่ในศาล ควรให้มีคำพิพากษาของศาลก่อน แต่ยังไม่ควรมีการอนุมัติให้ลงนามในสัญญาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา” ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนเห็นด้วยกับความเห็นของนายวิษณุ อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 

 หลังจากแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางราว 1 ชั่วโมง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดตัดบทว่า “ผมตัดสินใจให้ถอนเรื่องไปก่อน รอให้ศาลพิจารณาได้ข้อยุติก่อน ส่วนเรื่องของอนาคตค่อยว่ากัน ขอโทษด้วยที่ต้องถอนเรื่องนี้ออกไป เข้าใจทุกฝ่าย ถ้าโครงการนี้ดีและไม่มีข้อครหา รัฐบาลหน้าก็มาดำเนินการต่อ ถ้าอยากอนุมัติเร็วๆ ก็ต้องให้ได้รัฐบาลเร็วๆ” จากนั้นนายอนุทินได้แนะนำว่า หากจะถอน ต้องให้นายอธิรัฐเป็นผู้ขอถอนวาระดังกล่าวออก เพราะเป็นผู้เสนอ นายอธิรัฐจึงได้ขอถอนวาระออกจากที่ประชุม จากนั้นที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาวาระต่อ 

 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นายอธิรัฐจะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา และนายอนุทินเป็นคนเซ็นให้ผ่านเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในฐานะรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม แต่ทั้งสองกลับไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรเลย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนันต์' การันตี 'ลุงป้อม' ส่งชื่อนั่ง รมต. โควตากำแพงเพชร

'อนันต์' การันตี 'ลุงป้อม' ส่งชื่อนั่ง รมต. มั่นใจคุณสมบัติไร้มลทิน ลั่นเก้าอี้ตัวนี้โควตากำแพงเพชร ไม่ท้อหากชวดตำแหน่ง เชื่อพรรคไม่แตกแม้ผลออกมาเป็นอย่างไร

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์