เลื่อนรอบ‘แปด’ ‘ธาริต’สารภาพ หวังช่วยลดโทษ

เลื่อนรอบ 8! ศาลฎีกานัด 16  มิ.ย.ไปลุ้นอีกรอบคดีธาริตแจ้งข้อหามาร์ค-สุเทพสั่งฆ่าประชาชน เจ้าตัวเล่นมุกใหม่อ้างมาตรา 157 ขัดรัฐธรรมนูญพ่วงกลับคำขอสารภาพผิดทั้งหมดเพื่อลดหย่อนโทษ “ศาลอาญา” ฟันโตโต้และพวกผิดฐานมั่วสุม จำคุก 20 วัน แต่รอลงอาญา 2 ปี

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. 66 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดี แต่นายธาริตมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากต้องผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่านายธาริตขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริตเพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา

โดยวันนี้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ทนายโจทก์จำเลยที่ 1-4  ทนายจำเลย นายประกันจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย เดินทางมาศาล ซึ่งทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 4 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26, 27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค.2566 และจำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1

ทนายโจทก์ที่ 1-2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมาย ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อมีนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดี การขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกาจึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า และการยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ เพราะคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 และการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุบรรเทาโทษ และเพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดี จึงขอให้ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง

โดยทนายโจทก์ที่ 2 แถลงเพิ่มเติมว่า เคยรับหน้าที่เป็นทนายความให้คู่ความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1166/2558 ของศาลนี้ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลสูงหลายครั้งในลักษณะทำนองเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งเรียก คืนสำนวนและของคำพิพากษาทั้งหมดจากศาลชั้นต้นและอ่านคำพิพากษาเองที่ศาลฎีกา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เช่นเดียวกับในคดีดังกล่าวด้วย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การส่งคำโต้แย้งของคู่ความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลที่มีอำนาจส่งคำโต้แย้งของคู่ความต้องเป็นศาลที่ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งคู่ความโต้แย้งบังคับแก่คดี ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ  เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคำรับสารภาพประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีในการลงโทษ จำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาไปในวันนี้ได้ จึงให้ส่งสำนวน พร้อมคำร้อง คำให้การของจำเลยที่ 1 และซองคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว และให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันที่ 16 มิ.ย.2566 เวลา 09.00 น.

วันเดียวกัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันมั่วสุมชุมนุม หมายเลขดำอ.2092/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ ฟ้องนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ อดีตหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ฐานมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ฯ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว ซึ่งนายปิยรัฐกับพวกทั้ง 19 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมทนายความ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่าโจทก์มีพยานหลักฐานให้รับฟังมั่นคงว่า จำเลยทั้ง 19 คน กระทำผิดฐานร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ป.อาญา มาตรา 215 วรรคแรกประกอบมาตรา 83 พิพากษาจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 9,000 บาท คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 20 วัน ปรับเงินคนละ 6,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี จึงรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติคนละ 1 ปี และรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง