เกษตรกรเฮลั่น! รัฐทุ่ม1.4แสนล. ประกันข้าว-ยาง

เกษตรกรเฮ! ครม.จัดหนักทุ่มงบ 1.41 แสนล้าน อนุมัติ 54,972.72 ล้าน แจกชาวนาไร่ละพันบาท ไฟเขียวประกันรายได้ข้าวเพิ่ม 76,080 ล้าน ยางล็อต 3 อีก 10,065 ล้าน นายกฯ สั่งคลังลดงบประกันรายได้ไม่ให้ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ ว่า ครม.มีมติอนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 54,972.72 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรวงเงิน 53,871.84 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัตราร้อยละ 2 วงเงิน 1,077.44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. รายละ 5 บาทเป็นวงเงิน 23.44 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-เม.ย.2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากสถานการณ์ต่างๆ เช่น ภัยแล้ง โรคระบาด รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า​ ครม.ยังมีมติอนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็นวงเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรจำนวน 74,569.31 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จำนวน 1,511.64 ล้านบาท ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ด นบข. ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงินรวม 10,065.69 ล้านบาท โดยเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย โดยพื้นที่สวนยางกรีดได้ 19.16 ล้านไร่ และประกันรายได้ในระหว่างตุลาคม 2564-มีนาคม 2565

หลักเกณฑ์และข้อกำหนดโครงการ ดังนี้ เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางก้อนถ้วย จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่, กำหนดเงินค่าประกันรายได้ โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม, แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของส่วนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ งบประมาณ 10,065.69 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 9,783.61 ล้านบาท งบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินธนาคาร ภายในวงเงินไม่เกิน 195.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรชาวสวนยาง 5 บาทต่อราย จำนวน 9.4 ล้านบาท และงบบริหารโครงการจำนวน 77 ล้านบาท

นายธนกร​กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในกรณีที่ราคายางตกต่ำในช่วงวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งชาวสวนยางจะได้เงินส่วนต่างของรายได้ที่ควรได้รับ ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติยังได้หารือและเห็นชอบหลักการในการดำเนินมาตรการคู่ขนานอื่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้ประกอบกิจการยาง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณให้มีความชัดเจน เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการต่อไป

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ระหว่างการประชุม ครม. มีการพิจารณาการประกันรายได้พืชผลการเกษตร 5 ชนิด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้งบประมาณของจากโครงการสูงมาก จึงสั่งให้กระทรวงการคลังไปดูและปรับลดวงเงินงบประมาณ เพื่อไม่ให้ขัดมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ

ในช่วงเช้า ก่อนการประชุม ครม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี​ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับเงินประกันรายได้ข้าว​ ได้จ่ายให้ชาวนาแล้ว 2 งวด เป็นเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท​ ส่วนที่เหลืออีก 31 งวดก่อนหน้านี้ยังไม่ได้จ่ายไป เพราะต้องรอขยับเพดานหนี้รัฐบาล ซึ่งเพิ่งดำเนินการไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. โดยในส่วนเงินส่วนต่างที่เหลือ 7.6 หมื่นล้านบาท หากผ่าน ครม.จะเร่งจ่าย รวมถึงเงินช่วยปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน จะมีการจ่ายให้เกษตรกรต่อไป ส่วนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยาง 1 หมื่นล้านบาทนั้น แต่ขณะนี้ราคายางสูงกว่ารายได้ที่ประกัน​ จึงไม่ต้องจ่ายส่วนต่างเพียงเป็นการเตรียมวงเงินไว้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์