ศาลให้เผยเอกสารนาฬิกาเพื่อน

“แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน”  หลอน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ป.ป.ช.เปิดเผยเอกสาร 3 รายการที่ “วีระ สมความคิด” ร้องขอภายใน 15 วัน บอกเป็นคดีที่จบและยกเลิกชั้นความลับแล้ว “เลขาธิการ ป.ป.ช.” เตือนหากเกิดอะไรขึ้นศาลต้องรับผิดชอบ!

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เม.ย.2566 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.789/2564 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.224/2566 ซึ่งนายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

ทั้งนี้ เอกสารที่นายวีระเรียกร้องให้เปิดเผย 3 รายการ ประกอบด้วย 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด 2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ศาลพิเคราะห์แล้วกรณี ป.ป.ช.มีคำอุทธรณ์คดีระบุว่าหากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคําขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้เปิดเผยจะมีโทษตามมาตรา 180 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 นั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 20 บัญญัติว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด แม้จะเข้าข่ายต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใด ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิด หากเป็นการกระทําโดยสุจริตในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดําเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบตามมาตรา 16. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 36 วรรคสาม บัญญัติว่าห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสํานวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดําเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 36 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 24 กําหนดว่า ข้อมูลข่าวสารลับที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคําวินิจฉัยให้เปิดเผยโดยไม่มีข้อจํากัดหรือเงื่อนไขใด ให้ถือว่าข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้ว เว้นแต่มีการฟ้องคดีต่อศาล และศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาเป็นอย่างอื่น

คดีนี้เมื่อการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคําขอของผู้ฟ้องคดี เป็นการเปิดเผยข้อมูลหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้วว่าไม่รับเรื่องไว้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ประกอบกับกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคําวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีข้อจํากัดหรือเงื่อนไข อันมีผลให้ข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้วตามข้อ 24 ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2554 ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริตและถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว ก็ไม่ต้องมีความรับผิดและมีโทษตามกฎหมายใดๆ รวมถึงมาตรา 180 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ส่วนอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่อ้างคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง อร. 24/2564 มาเทียบเคียงนั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวได้ขอข้อมูลข่าวสารของราชการในขณะที่การไต่สวนยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งศาลเห็นว่า หากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอแล้ว จะทําให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสําเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีดุลพินิจที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ได้ขอข้อมูลข่าวสารเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาและมีมติแล้วว่า ไม่รับเรื่องไว้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว จึงเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงต่างกัน อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่อาจรับฟังได้

การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 รายการที่ 2 เฉพาะความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอ ประกอบการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และรายการที่ 3 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งสามรายการ ตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 แก่ผู้ฟ้องคดี ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษา

นายวีระโพสต์เฟซบุ๊กหลังรับทราบคำตัดสินว่า “ป.ป.ช.แพ้คดีวีระราบคาบ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน และแก้คำพิพากษาให้ได้เอกสารเต็มที่ตามที่ขอ  ดีใจด้วยกันครับ”

ในขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ศาลปกครองยังไม่ได้ส่งคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมาให้สำนักงาน ป.ป.ช. แต่หากส่งมาถึงแล้วสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องสรุปเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาว่าศาลปกครองมีคำพิพากษาอย่างไร ให้เปิดเผยอย่างไร ส่วนจะเปิดเผยหรือไม่ถือเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.  เราจะเปิดโดยอัตโนมัติไม่ได้

“สำนักงาน ป.ป.ช.จะต้องสรุปเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในคำพิพากษาของศาล เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการ แต่โดยปกติหากศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุด ป.ป.ช.ก็ปฏิบัติตาม เพราะถือว่าศาลเป็นคนบอกให้เปิด เพราะฉะนั้นอะไรที่จะเกิดขึ้นศาลปกครองก็ต้องรับผิดชอบไปไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.” นายนิวัติไชยระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง