พลังเงียบเริ่มขยับตัว ซูเปอร์โพลชี้หนุนขั้วรัฐบาลน้อยลงหวังเปลี่ยนนายกฯ

ซูเปอร์โพลเผย "อนุทิน"   เบียด "พิธา" เหมาะนั่งนายกฯ ทิ้งห่างไม่ถึง 1% ตามด้วย "จุรินทร์-แพทองธาร-ประยุทธ์" ยังหนุนขั้วเก่าตั้งรัฐบาล เผยแนวโน้ม "กลุ่มพลังเงียบ" เริ่มขยับตัวสนับสนุนขั้วการเมืองฝั่งรัฐบาลน้อยลง หวังเปลี่ยนนายกฯ เข้ามาแก้ปัญหาความเดือดร้อน ปชช. "ธนกร" โต้โพลไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง ลั่นต้องทำให้ลุงตู่เป็นนายกฯอีกรอบ "เศรษฐา" ไม่หวั่นกระแสก้าวไกลแซงเพื่อไทย มั่นใจยังได้เสียงเกินครึ่ง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาต่อเนื่องเรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศ  จำนวน 2,324 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2566 โดยเมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งนี้ พบแนวโน้มคนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 70.8 ในช่วงสัปดาห์ก่อน ขึ้นเป็นร้อยละ 73.2 ในการสำรวจล่าสุดสัปดาห์นี้

ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของผู้นำการเมืองที่เชื่อว่าจะมีผลงานแก้วิกฤต ดูแลสุขภาพ สวัสดิการกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 30.2 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, อันดับสองหรือร้อยละ 27.3 ระบุนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับสามหรือร้อยละ 27.2 เท่าๆ กันกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อันดับสี่หรือร้อยละ 24.4 ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และอันดับห้าหรือร้อยละ 23.3 ระบุเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตามลำดับ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ต้องการเห็นร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 40.6 ระบุพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และอื่นๆ รองลงมาคือร้อยละ 30.2 ระบุพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และอื่นๆ, ร้อยละ 12.3 ระบุพรรคภูมิใจไทย เพื่อไทย และอื่นๆ, ร้อยละ 5.1 ระบุพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอื่นๆ และร้อยละ 11.8 ระบุอื่นๆ เช่น พรรคอะไรก็ได้ ไม่ระบุ

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรก ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับหนึ่งได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 22.0 ทิ้งห่างไม่ถึง 1% จากอันดับสอง ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 21.5  อันดับสามได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 18.8, อันดับสี่ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 16.1 และอันดับห้าได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 11.1 ตามลำดับ

รายงานของซูเปอร์โพลระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีกระแสความนิยมสนับสนุนสูสีแบบหายใจรดต้นคอไม่แตกต่างกัน อาจเป็นเพราะทั้งสองท่านนี้อยู่ในกระแสของความต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งคู่ แต่ต่างกันตรงที่นายอนุทินอาจจะอยู่ในซีกของการเปลี่ยนแปลงเชิงอนุรักษนิยม แต่นายพิธาจะอยู่ในซีกเปลี่ยนแปลงเชิงเสรีนิยม จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไรในวันเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ว่าจะเทคะแนนของตนเองไปในทิศทางใด

นอกจากนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเสนอผลสำรวจเรื่อง "สุดขั้วการเมือง" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป  ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน 2566 โดยผลสำรวจพบแนวโน้มของกลุ่มพลังเงียบขออยู่ตรงกลาง เริ่มกระจายตัวออกไปยังขั้วการเมืองต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ จากร้อยละ 36.4 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ลดลงเหลือร้อยละ 27.5 ในช่วงปลายเดือนเมษายน และพบว่าได้กระจายตัวฐานสนับสนุนไปยังขั้วการเมืองที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่า คือจากร้อยละ 24.5 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.8 ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยฐานสนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 39.1 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.7 ในการสำรวจล่าสุด

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามประเด็นความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ พบว่าในกลุ่มขั้วรัฐบาลร้อยละ 51.1 ระบุเป็นพรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 32.1 ระบุเป็นพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 21.6 ระบุพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่กลุ่มขั้วฝ่ายค้าน ร้อยละ 45.0 ระบุเป็นพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 22.0 ระบุเป็นพรรคก้าวไกล และร้อยละ 3.1 ระบุอื่นๆ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่เป็นหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน แบ่งออกระหว่างกลุ่มขั้วต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มขั้วที่ไม่ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 76.8 ที่ระบุพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ไม่ต้องการเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม แม้แต่กลุ่มขั้วที่ระบุพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคหลักแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 29.2 ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่ร้อยละ 70.8 ไม่ต้องการ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.4 ที่ระบุพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 34.6 ไม่ต้องการ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ที่ระบุพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

นอกจากนี้ ในขั้วการเมืองฝ่ายค้านพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.8 ที่ระบุพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 73.4 ที่ระบุพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนนครสวรรค์ เลือกพรรคไหน” สำรวจระหว่างวันที่ 11-19 เมษายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดนครสวรรค์ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 600 หน่วยตัวอย่าง  เมื่อถามถึงบุคคลที่คนนครสวรรค์จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 34.33 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 2 ร้อยละ 19.67 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล), อันดับ 3 ร้อยละ 16.67 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ), อันดับ 4 ร้อยละ 8.83 ระบุว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 5 ร้อยละ 7.67 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 6 ร้อยละ 3.00 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย), อันดับ 7 ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย), อันดับ 8 ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), อันดับ 9 ร้อยละ 1.50 ระบุว่าเป็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์), อันดับ 10 ร้อยละ 1.33 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ), อันดับ 11 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)

สำหรับพรรคการเมืองที่คนนครสวรรค์จะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 48.17 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 21.33 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 13.67 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ,  อันดับ 4 ร้อยละ 3.67 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย, อันดับ 5 ร้อยละ 3.34 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 6 ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ตัดสินใจ

ส่วนพรรคการเมืองที่คนนครสวรรค์จะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.17 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 22.00 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 14.33 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 2.83 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน, อันดับ 5 ร้อยละ 2.17 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 6 ร้อยละ 2.00 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 7 ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย, อันดับ 8 ร้อยละ 1.17 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมตรี และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงผลโพลพรรครวมไทยสร้างชาติที่ออกมาไม่ดี ว่า ได้ที่ 2 ได้ที่ 3 พลโพลไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง เพราะผลการเลือกตั้งอยู่ที่พี่น้องประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นเราต้องทำลายผลโพลให้ได้ เราต้องทำให้ผลการเลือกตั้งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกรอบ อย่างคำที่ว่าน้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของลุงตู่

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงผลโพลของบางโพลที่มีคะแนนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำพรรคพท.มีนัยสำคัญหรือไม่ว่า อยู่ที่วิธีการ บางโพลจะใช้ออนไลน์มากกว่า ส่วนบางโพลเน้นลงพื้นที่มากกว่า ซึ่งแตกต่างกัน ส่วนตัวคิดว่าแฟนคลับของพรรค พท.อยู่ต่างจังหวัดเยอะ และไม่ได้ใช้ออนไลน์มาก อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกหวั่นกับกระแสพรรค ก.ก.  

เมื่อถามว่า ผลโพลจะสะท้อนการลงคะแนนเสียงของประชาชนหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องเอาผลของหลายโพลมาวิเคราะห์ และจัดการเรื่องความลำเอียงออกไป แต่มั่นใจว่าพรรค พท.ยังไงก็ได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง ส่วนเรื่องเสียงออฟไลน์ที่อยู่ต่างจังหวัดนั้น ย้ำว่าจากการลงพื้นที่มีความมั่นใจว่าพรรค พท.มาถูกทาง และนโยบายโดนใจ

เมื่อถามว่า กระแสพรรค ก.ก.ที่แรงขึ้นเรื่อยๆ พรรค พท.จะปรับยุทธศาสตร์อย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มี เรายังทำเหมือนที่ทำมา และลงพื้นที่ให้เยอะขึ้นเพื่อพบปะประชาชน ซึ่งมั่นใจในทุกพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง