ตร.กัดฟันทำตามกม.อุ้มหาย

“บิ๊กเด่น-อัยการ” ประสานเสียง พร้อมใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มหาย “โกศลวัฒน์” ชี้พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานราชการเข้าใจถึง พ.ร.บ. 

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ค. ยังมีความต่อเนื่องในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 เพื่อขยายเวลาการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 1 จึงไม่มีผลบังคับใช้มาแต่ต้น ทำให้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ทันทีนั้น

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ได้ประชุมและกำชับกันอีกรอบหนึ่ง ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ของเรามีไม่พอเพียง แต่จะหมุนเวียนทำให้มีคุณภาพสูงสุด และในวันนี้กระทรวงยุติธรรมจะเชิญไปประชุมเรื่องการเตรียมการออกระเบียบการ ถึงระเบียบจะยังไม่ออก เราก็วางแนวทางของตำรวจไปก่อน เพื่อให้ปฏิบัติไปได้ไม่ผิดกฎหมาย โดยจะทำให้ดีที่สุดภายใต้ปัจจัยที่มีอยู่ โดยให้ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ หัวหน้าสถานีไปกำกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หัวใจของ พ.ร.บ.อุ้มหายคืออะไร ผบ.ตร.ตอบว่า ในการจับกุมหรือควบคุมตัวไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ขั้นตอนที่เป็นปัญหาของตำรวจคือเรื่องการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุม ตำรวจมีกว่า 2 แสนนาย แต่อุปกรณ์เราไม่เพียงพอ ที่จัดซื้อไปก็เสียไปบ้าง  เมื่อมี พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็จะเป็นการหมุนเวียนใช้ พ.ร.บ.นี้จะมีขั้นตอนออกมาจำนวนมาก การจับกุม การควบคุมตัว การแจ้งต่อฝ่ายปกครองหรืออัยการ ต้องมีการแจ้งบันทึกตลอดเวลา ไฟล์ข้อมูลต่างๆ จะมีขั้นตอนการเก็บข้อมูลและเสียง เมื่อคดีเสร็จก็ต้องมีหน่วยจัดเก็บจำนวนมาก เป็นขั้นตอนที่เราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เราจะได้พยายามทำตามกฎหมายให้พลางๆ ก่อนไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง

 “ข้อมูลต่างๆ เราได้ให้ใช้คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลโรงพักไปก่อน อยู่ระหว่างการจัดอุปกรณ์เก็บข้อมูลเพิ่มเติมไป ความพร้อมน่าจะหลังจากมีอุปกรณ์ครบถ้วนและมีระเบียบการออกมา แต่ขณะนี้ก็ไม่ได้มีปัญหามากมาย”  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าว

ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง   รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด  (อสส.) กล่าวว่า ส่วนของอัยการก่อนหน้านี้ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อสส. ได้สั่งเรื่องการอบรมให้ความรู้ จัดบุคลากรเพื่อเข้าเวร แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีบางส่วนที่ชะลอการบังคับใช้ แต่บุคลากรของอัยการเราพร้อมแล้ว และได้รับเรื่องที่บัญญัติตามกฎหมายมาบางส่วน  ส่วนไหนที่กฎหมายให้เราทำได้เลย เราก็ทำไปแล้ว ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร แต่อัยการเราพร้อมทำงานมาก่อนหน้านี้แล้วตามนโยบาย  อสส.

“เรื่องอุปกรณ์และบุคลากร ก่อนหน้านี้เราได้ขอสนับสนุนเกี่ยวกับงบประมาณทางอุปกรณ์เเละบุคลากรไปแล้ว ที่ยังได้รับไม่ครบถ้วนเราก็ต้องจัดสรรเพื่อเเชร์กันไปก่อน เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านไปได้ เพราะอัยการถือว่าหน้าที่ที่จะคุ้มครองดูแลประชาชน ให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันตามกฎหมาย เป็นหน้าที่หลักที่ต้องทำให้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่มีเบอร์ติดต่อ  และยังมีศูนย์คุ้มครองสิทธิช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สายด่วน 1157 ที่จะช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศอีก 117 สาขา สนับสนุนงานประกอบกัน ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์ก็มีการเข้าเวรรับเรื่อง 24 ชั่วโมง”

นายโกศลวัฒน์ยืนยันว่า อัยการพร้อมให้ความช่วยเหลือเเละเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานภาครัฐหากยังสงสัยประเด็นใดในกฎหมาย เพราะอัยการเราคิดเสมอว่ากฎหมายถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้คุ้มครองประชาชน  ซึ่งข้าราชการทุกคนเวลาเลิกงานก็คือประชาชนเช่นเดียวกัน เราจะไม่ให้กฎหมายมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนา  ถ้าติดขัดตรงไหนเราก็จะมีการประชุมปรึกษาหารือข้อติดขัดนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ 

“เดิมเจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกยังขาดอุปกรณ์ ก็คงสถานะเดียวกับอัยการ ซึ่งก็ยังไม่มีอุปกรณ์ครบถ้วนอย่างเเท้จริง แต่เพื่อปฏิบัติครบถ้วนตามกฎหมาย เราจะนำสิ่งที่มีอยู่มาทำงานกันไปให้ได้ก่อน เเล้วจะขอสนับสนุนงบจากภาครัฐเพื่อทำตามกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ใช้ทุกมาตราเเล้ว การรายงานการจับกุม บันทึกภาพเสียง ทุกฝ่ายต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เเต่ถ้ามีอุปสรรคก็ให้หารือมา เราก็จะให้คำแนะนำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา” รองโฆษก อสส.กล่าวย้ำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง