"ก้าวไกล" เฮ! "พรรคใหม่-ชาติพัฒนากล้า" เข้าร่วมตั้งรัฐบาล รวมเป็น 10 พรรค 316 เสียง "ชัยธวัช" รับในเอ็มโอยูยังไม่ลงรายละเอียด ม.112 "ฝ่าย กม.พรรค ก.ก." ย้ำต้องเดินหน้าตามเจตจำนง พร้อมเปิดพิมพ์เขียวร่างพ.ร.บ.แก้ ม.112 ออกจากหมวดความมั่นคงไปสิทธิเสรีภาพ ถูกฟ้องยอมความได้ เตรียมชงเข้าสภาแน่ "2 พรรคร่วมรบ." โวย MOU ก้าวไกลบีบทุกพรรคเดินตาม "พท." ค้านนิรโทษฯ หวั่นโดนโยงเอื้อทักษิณ "ปช." ไม่เอาสมรสเท่าเทียม-สุราเสรี ขัดหลักศาสนา "ชูศักดิ์" ชี้ปม 112 ทำสังคมแตกแยก "ทสท." ก็ส่ายหน้าหากยกเลิกไม่เอาเด็ดขาด "กกต." เตรียมพิจารณาปมร้อง "พิธา" ถือหุ้นสื่อ สะพัดล็อบบี้หนัก "ส.ว.สายอิสระ" หวังยกมือเชียร์ "ทิม" นั่งนายกฯ
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำเอ็มโอยู (MOU) กับ 8 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้ส่งให้ครบทั้ง 8 พรรคแล้ว โดยเนื้อหาเป็นภาพกว้างๆ จากนั้นจะให้ส่งกลับมาภายใน 21 พ.ค. และจะมีการพูดคุยกับตัวแทนทุกพรรคถึงรายละเอียด ก่อนจะแถลงวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเสียงตอบรับจากทุกพรรคยังไม่มีปัญหาอะไร เสียงส่วนใหญ่สอดคล้องกัน แต่อาจจะมีการเสนอบ้างเรื่องใดควรพูดหรือควรจัดลำดับความสำคัญเรื่องใดควรเป็นเรื่องหลัก
ถามถึงการลงรายละเอียดในเอ็มโอยูถึงมาตรา 112 นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่จะยุติความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการนิติบัญญัติ และในช่วงการเลือกตั้งหลายพรรคก็ยอมรับว่าเรื่องนี้ควรไปเปิดการพูดคุย และมีความคิดเห็นร่วมกันในสภา โดยยอมรับว่าเอ็มโอยูที่เสนอให้พรรคร่วมทั้ง 8 พรรคเรื่อง ม.112 แต่ยังไม่มีการลงรายละเอียด
ซักว่า หลายฝ่ายกังวลว่าพรรคก้าวไกลอาจจะสะดุดถูกสกัดในหลายคดี เลขาธิการพรรคก้าวไกลยืนยันว่า ไม่กังวล เรื่องเหล่านี้เราได้มีการเก็งข้อสอบเบื้องต้นไว้แล้ว และมีแนวทางรับมือ โดยการพูดคุยกับ ส.ว. เชื่อว่า 1 เดือนจากนี้จะมีสัญญาณที่ดีในหลายๆ อย่าง เพราะทุกคนเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ส่วนนายธีรัจชัย พันธุมาศ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแก้ไข ม.112 ว่า สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ร.ศ.118 รัชกาลที่ 5 ตอนนั้น 112 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่หลังรัฐประหารปี 2519 ฝ่ายรัฐประหารต้องการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามเลยอาศัยเงื่อนไขตรงนี้มาเพิ่มโทษมาตรา 112 เป็น 3-15 ปี และใช้เป็นเครื่องมือโดยให้ใครก็ได้มาแจ้งความแล้วใช้เป็นเครื่องมือขจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยการดำเนินคดีให้หยุดโดยอาศัย 112 กรณีแบบนี้เราเห็นว่าเราต้องการให้สถาบันอยู่นอกเหนือการเมือง อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามหลักสากล โดยการแก้ไขดังกล่าวก็จะเสนอให้การแจ้งความต้องให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กลั่นกรอง ไม่ใช่ให้ใครก็ได้จะไปดึงสถาบันมาปะทะกับคนที่เห็นต่าง ซึ่งมองว่าไม่เป็นผลดีกับสถาบันโดยรวม
นอกจากนี้ ก็แก้ไขในส่วนของบทลงโทษ โดยมีหลักคือต้องมีการคุ้มครองประมุขของรัฐ คือพระมหากษัตริย์ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สองหลักนี้ต้องเหมือนกัน การคุ้มครองก็คือว่าประมุขของรัฐหากมีใครมาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ต้องมีโทษที่สูงกว่าคนธรรมดา และบทลงโทษต้องไม่มีโทษขั้นต่ำ โดยเปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจได้ และแก้ไขโดยย้ายมาตรา 112 ออกจากหมวดเดิม ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคง ก็แก้ไขโดยให้ย้ายมาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ โดยหมวดความมั่นคงนั้นเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ทำให้พอมีการแจ้งความแล้วจะยอมความไม่ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสถาบันกับประชาชน เราเลยเสนอให้ย้ายหมวดมาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ และหากคดีใดไม่ใช่คดีที่ร้ายแรงอะไร สถาบันก็อาจให้มีการยอมความกัน ที่จะทำให้สถาบันไม่ต้องปะทะกับคนที่เห็นต่าง
ก้าวไกลเดินหน้าแก้ 112
"แนวทางดังกล่าวจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงสถาพร อยู่คู่แผ่นดินไทยได้นาน ที่จะเป็นการส่งเสริม แต่อีกฝ่ายกลับมาบอกว่าแตะสถาบันไม่ได้เลย ถ้าแตะคือต้องการจะดึงลงมา ถามว่าอันไหนทำลายมากกว่า ผมเชื่อว่าอันหลังทำลายมากกว่า เพราะเป็นความคิดแบบเดิมๆ แบบเก่าๆ ผมเชื่อว่าเป็นวิธีนี้เท่านั้นในโลกสมัยใหม่ ที่่มีการสื่อสารสูง และมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดสูง จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของเราอยู่มั่นคงสถาพร คู่แผ่นดินนี้มากกว่า เราใช้เวทีคุยแบบมีวุฒิภาวะในสภา ผมเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดี และช่วยกันถกเถียงในแง่มุมต่างๆ ไม่ใช่มาโจมตีอะไรกัน หรือมาบอกว่า 112 แก้ไม่ได้" คณะทำงานฝ่าย กม.พรรคก้าวไกลระบุ
นายธีรัจชัยย้ำว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลประกาศไว้เราต้องเอามาทำ แต่ว่ามันจะถูกขวางอย่างไรก็ต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งที่พรรคประกาศไว้อย่างไรก็ต้องเป็นแบบนั้น และก็อยู่ที่ว่าการตั้งรัฐบาลจะมีการต่อรองกันอย่างไรบ้าง อันนั้นคือด่านแรก แต่เจตจำนงของเราคือต้องทำตามนโยบายทุกอย่างที่เราได้ทำสัญญาประชาคมไว้
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรายังเชื่อว่าจะสามารถโน้มน้าวให้ ส.ว.เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เราไม่ใช่ผู้ทำลาย เราเป็นผู้สร้าง ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคม และตอบสนองให้ประชาชนกลุ่มใหญ่และคนทั้งประเทศที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง หากถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของการประชุมร่วมรัฐสภาในวันนั้น ก็จะมีวิธีการตามกฎหมายตามขั้นตอนอีกหลากหลาย
"เชื่อว่านายพิธาจะนำพารัฐนาวาลำนี้ฝ่ามรสุม ส.ว.ที่เป็นหมากเกมอันสุดท้ายนี้จนจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยภาวะหรือฉันทามติที่ประชาชนได้ลงคะแนนเสียงมาให้ 14 ล้านเสียง และบวกกับพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลเช่นเพื่อไทยอีก 10 ล้านเสียง ซึ่งเท่ากับรวมแล้วก็ 24 ล้านเสียง ที่มากกว่า 16 ล้านเสียงเดิม ตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้ายังไม่พออีกก็ลองกระทำ ผมไม่ได้ท้าทาย แต่สังคมจะลงโทษคนกลุ่มนี้เอง แต่ผมยังเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มว่าเราจะสามารถดำเนินการตั้งรัฐบาลได้ และเราจะดำเนินการอย่างประนีประนอม อะไรถอยได้ก็จะถอย แต่อะไรที่รับปากประชาชน พรรคก็ต้องทำ" พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าว
ถามถึงกรณี ส.ว.หลายคนติดใจนโยบายแก้ไขมาตรา 112 รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ในประเด็นนี้ก็ต้องรอฟังมติกรรมการบริหารพรรคอีกสักระยะหนึ่ง แต่เราก็ยังยืนยันว่าเรายังมีจุดหมายเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานถึงเอ็มโอยูที่พรรคก้าวไกลส่งไปให้พรรคต่างๆ ว่า เป็นการลงรายละเอียดโดยยึดหลักนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก อาทิ คืนความยุติธรรมจากผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองโดยไม่รวมความผิดคดีคอร์รัปชัน และเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งพรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเพื่อไทย (พท.) ที่มองว่าหากผลักดันเรื่องดังกล่าว จะถูกโยงว่าทำไปเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และจะไม่ร่วมเซ็นในเอ็มโอยูหากมีประเด็นนี้ แต่ถ้าพรรค ก.ก.จะเสนอในนามพรรคในวาระต่อไปก็ไม่ติดใจ
'พท.-ปช.' โวยเอ็มโอยู 'ก.ก.'
เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติ (ปช.) มีรายงานว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับประเด็นการยกเลิกการผูกขาดอุตสาหกรรมผลิตสุรา ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรค
"จากประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอมาในเอ็มโอยูนั้น ทุกพรรคเห็นว่าเป็นประเด็นที่ผูกมัด บีบให้ทุกพรรคยอมรับในเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลมากเกินไป จึงอยากให้ปรับ โดยเขียนเป็นหลักการกว้างๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยนำนโยบายของแต่ละพรรคมาปรับใช้ในภายหลัง อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาเอ็มโอยูไม่มีการพูดถึงการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งประเด็นนี้ทุกพรรคเห็นด้วย เพราะไม่มีใครอยากให้นำประเด็นนี้มาผูกมัดในเอ็มโอยู" แหล่งข่าวจากพรรคการเมืองระบุ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า พรรคได้พิจารณาเอ็มโอยูแล้วเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นนโยบาย จึงได้มอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดูและประสานกับพรรคก้าวไกล และเมื่อพิจารณาเบื้องต้นมีความเห็นว่าหากจะนำนโยบายมาใส่ในเอ็มโอยู ก็ควรใส่ให้ครบทุกพรรค
"ส่วนตัวเห็นว่าควรทำแค่เรื่องหลักการก่อน เช่น รับหลักการที่จะร่วมรัฐบาลด้วยกัน รับหลักการว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะรวมนโยบายของแต่ละพรรคมาเป็นนโยบายรัฐบาล ก่อนแถลงต่อสภา เรื่องการบริหารจัดแบ่งผู้บริหารกันอย่างไรตามความเป็นธรรม และจะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เช่นนั้นจะมัวแต่ไปยุ่งว่าจะใส่นโยบายของใคร อย่างไร เรื่องนี้ควรไปพูดคุยกันหลังจัดรัฐบาลก่อนแถลงต่อสภาดีกว่า" นายชูศักดิ์กล่าว
ถามว่า ในเอ็มโอยูจะยังไม่มีเรื่องมาตรา 112 ใช่หรือไม่ รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เข้าใจว่าจะพูดคุยเรื่องนี้ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่สร้างความแตกแยกในสังคมมาก จึงอยากให้ไปคิดดูให้ดี
ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงท่าที ส.ว.ในการสนับสนุนตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลว่า จากการพูดคุยกับ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี ทาง ส.ว.เองก็รับฟังในเหตุและผล ระหว่างนี้ก็รอเพียงแนวทางการทำงานและนโยบายต่างๆ หากเอ็มโอยูทำออกมาได้ดี ก็เชื่อว่าเสียงของ ส.ว.จะไหลเข้ามาเพิ่มอย่างแน่นอน
“การตั้งรัฐบาลนี้ คนสนับสนุนไม่ได้มีเพียงแค่ ส.ว.บางส่วน เพราะยังมี ส.ส.บางส่วนพร้อมยกมือสนับสนุนจากการพูดคุย ทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศเดินหน้า อยากเห็นประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น" นายสมศักดิ์กล่าว
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อม น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรค ทสท. ลงพื้นที่ตลาดละลายทรัพย์ ขอบคุณผู้ที่สนับสนุนพรรคและฝ่ายประชาธิปไตย โดยหลายคนได้เข้ามาให้กำลังใจเพื่อขอให้จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยให้สำเร็จ พร้อมมอบดอกไม้ เข้าคิวขอถ่ายภาพจำนวนมาก
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เอ็มโอยูในการจัดตั้งรัฐบาล พรรค ทสท.มอบหมายให้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 20 พ.ค. เพื่อเพิ่มเติมนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายที่พรรคเตรียมผลักดันดูแลคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดจนแก่ เช่น บำนาญประชาชน 3,000 บาท การพักใช้ใบอนุมัติใบอนุญาต ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชน 1,400 ฉบับ เพื่อให้ประชาชนสามารถลุกขึ้นมาทำมาหากินได้ทันที
น.ต.ศิธากล่าวถึงการแก้ไข ม.112 ว่า ยังไม่ถูกบรรจุไว้ในเอ็มโอยู เนื่องจากเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ดังนั้นในเอ็มโอยูจึงจะเขียนเป็นหลักการที่ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องการว่าต้องการผลักดันเท่านั้น ส่วนข้อกังวลเรื่องมาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจะเป็นขั้นตอนที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร
"พรรค ทสท.มีความชัดเจนว่าหากมีการยกเลิกมาตรา 112 ไม่เอาเด็ดขาด หากมีการแก้ไขและทำให้สถาบันอ่อนแอลง ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความเสื่อมเสียเราก็ไม่สนับสนุนเช่นกัน" น.ต.ศิธากล่าว
เพิ่มอีก 2 พรรคร่วมรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กของพรรคใหม่ ที่มีนายกฤดิทัช แสงธนโยธิน หรือทนายวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค ระบุว่า มติคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคใหม่สรุปเข้าร่วมรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำงานให้ประสบผล เพื่อ 1 เสียงที่ประชาชนสนับสนุนพรรคใหม่
นอกจากนี้ มีรายงานว่า พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ซึ่งมีว่าที่ ส.ส. จำนวน 2 เสียง ได้ตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลแล้ว โดยเป็นพรรคลำดับที่ 10 หลังจากก่อนหน้านี้ พรรคใหม่เพิ่งประกาศตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลไปแล้ว ทำให้ตอนนี้มีพรรคร่วม 10 พรรค รวบรวมเสียงได้ 316 เสียง ในการสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี
"ในวันที่ 20 พ.ค. เวลา 17.00 น. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งได้ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว จะเข้าร่วมงานราตรีร้อยดวงใจ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และจะมีการแถลงประเด็นดังกล่าว" แหล่งข่าวระบุ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. ชี้แจงกรณีมีข่าวพรรค ปชป.ขอเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลว่า ไม่เป็นความจริง ขอให้สื่อมวลชนตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ โดยเฉพาะการอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ระบุตัวตน เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองดิสเครดิตพรรคโดยไม่รู้ตัว
นายสมบัติ ยะสินธุ์ ว่าที่ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรค ปชป. กล่าวว่า พรรค ปชป.ไม่น่าจะร่วมรัฐบาล เพราะเห็นว่าพรรคก้าวไกลสุดโต่ง แต่ถ้าเกิดพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แล้วกลายเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายจัดตั้งแทน และไม่มีเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ก็มีความเป็นไปได้ที่ ปชป.จะร่วมรัฐบาลด้วย โดยเอานโยบายของเราไปผสม เหมือนกับครั้งที่แล้วที่เราไปร่วมรัฐบาล
“ผมคุยกับท่านเฉลิมชัยอยู่ ท่านก็ยืนหลักเหมือนกับผมนี่แหละ ถ้าเป็นของก้าวไกลเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนขั้วเป็นเพื่อไทย ออกมาในโทนกลางๆ เพื่อลดความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อ อีกทั้งไม่แตะสถาบัน เรารับได้” นายสมบัติกล่าว
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. ให้สอบเรื่องการถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวีฯ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
"ขอให้ กกต.เร่งรัดตรวจสอบกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะ ป.ป.ช.ก็แถลงแล้วว่านายพิธาได้แจ้งเรื่องการถือหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาก็มีคนร้องเรียนแล้ว กกต.จึงไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัยอะไรมากมายไปกว่านี้ แต่ให้ส่งเรื่องไปสู่ศาลฎีกาหรือส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโปรดวินิจฉัย หาก กกต.ไม่มีกระบวนการตามที่กล่าว อีก 2 อาทิตย์ ผมจะไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วถ้าภายใน 60 วันผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็จะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ” นายสนธิญากล่าว
กกต.จ่อพิจารณาปมพิธา
มีรายงานจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีมีการยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งตรวจสอบนายพิธาว่ามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) จากการมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด จำนวนกว่า 42,000 หุ้นหรือไม่ โดยต้องการให้ กกต.ดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนนายพิธาได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สำนักงาน กกต.ได้พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.2561 มาตรา 61 กำหนดเฉพาะก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น ที่หาก กกต.เห็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร แต่ขณะนี้เป็นช่วงหลังวันเลือกตั้ง แต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้กกต.ดำเนินการส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลใดพิจารณา หากดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จ
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ว่า กรณี กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.หรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ด้วย
ดังนั้นช่องทางที่ กกต.จะดำเนินการเรื่องนี้ หากมีมติว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.ได้ จะต้องเป็นหลัง กกต.ประกาศรับรองนายพิธา เป็น ส.ส.แล้ว ระหว่างนี้การดำเนินการกับคำร้องดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน สืบสวนสอบสวนตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนและไต่สวน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ตั้งแต่เวลา 09.12 น. โดยเป็นการเข้ามาเซ็นเอกสาร เคลียร์งานต่างๆ และในวันเดียวกันนี้ไม่มีการแจ้งวาระงานการประชุมใดอย่างเป็นทางการ
มีรายงานว่า ในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 16.00 น. พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นัดประชุม ส.ส.ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งทั้ง 36 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค จะเดินทางเข้าที่ทำการพรรคด้วย
สำหรับความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีรายงานว่า ขณะนี้แกนนำฝ่ายที่กำลังฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลเริ่มเดินสายล็อบบี้ขอคะแนนจาก ส.ว.ให้ช่วยโหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพุ่งเป้าขอคะแนนจาก ส.ว.สายอิสระ จำนวน 50 คน ซึ่งมีที่มาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ เนื่องจาก ส.ว.ดังกล่าวมีคอนเนกชันที่คุ้นเคยกับนักการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มบ้านใหญ่ จนเริ่มเห็นท่าที ส.ว.ในกลุ่มดังกล่าวบางส่วนประกาศพร้อมจะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ
ขณะเดียวกัน ส.ว.ในกลุ่ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพล.อ.ประยุทธ์ก็เริ่มได้รับสัญญาณจากแกนนำกลุ่มมาแล้วให้ลงมติงดออกเสียงการโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา เพื่อแสดงถึงการวางตัวเป็นกลางของ ส.ว. โดยให้การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องเฉพาะของสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ว.กลุ่ม 2 ลุงได้ประเมินแล้วว่า เสียง ส.ว.กลุ่มอิสระ รวมถึง ส.ว.บางส่วนที่ต้องการโหวตหนุนนายพิธาจะได้เสียงสนับสนุนเต็มที่อยู่ประมาณ 20 เสียง บวกลบเล็กน้อย และประเมินว่านายพิธาไม่น่าจะได้รับคะแนนสนับสนุนจาก ส.ว.ถึง 63 เสียง เมื่อไปรวมกับ 313 เสียงของ 8 พรรคที่จับมือตั้งรัฐบาล จะไม่ถึง 376 เสียง ทำให้ไม่เพียงพอส่งนายพิธาเป็นนายกฯ ได้
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีถูกผลักไปอยู่ข้างโหวตให้คุณพิธาโดยไม่มีข้อแม้ว่า การตัดสินใจลงมติต้องรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะยังมีเงื่อนไขระหว่างนี้อีกมาก กกต.ยังไม่ได้รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. 95% จำนวน ส.ส.ในแต่ละพรรคยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะคุณสมบัติและการทำผิดกฎหมายของว่าที่ ส.ส.แต่ละท่าน คุณพิธายังมีคดีค้างอยู่ในมือ กกต. จะส่งให้ศาลฎีกาหรือศาล รธน.ก็ยังไม่รู้ หรือพรรค ก.ก.อาจรวมเสียง ส.ส.ได้มากจนสามารถปิดสวิตช์ ส.ว.ก็เป็นได้
"ข้อสำคัญผมมีเงื่อนไขสองข้อคือ ต้องไม่แตะมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในประเทศ และต้องไม่ยอมให้ขั้วอำนาจใดอำนาจหนึ่งสร้างฐานทัพในประเทศ อันจะเป็นการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ" นพ.เจตน์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม
ประชานิยมภาค2 ‘อิ๊งค์’โชว์เดี่ยวขายฝันปี68แจกแหลก ปชน.ฟันฉับ!สอบตกแค่ฝากงานรมต.
"นายกฯ อิ๊งค์" ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้