ส.ว.ปลุก‘รัฐบาลแห่งชาติ’

"เสรี" เชื่อ "พิธา" ตั้ง 7 คณะทำงานเป็นกระบวนการสร้างมวลชนกดดัน กกต.-ศาล-ส.ว. ติงควรจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน "จเด็จ" ปลุก "รัฐบาลแห่งชาติ" ชี้ประเทศไม่ขัดแย้งก็มีได้ ชงงดเว้น รธน.บางมาตรา เตือนก้าวไกลเลิกมีลุง ไม่มีเรา เพราะจะไม่มีคุณ ไม่มีผม   และไม่มีเรา

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน   วุฒิสภา เปิดเผยถึงการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในกรณีที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีมติตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล  มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นประธาน และตั้ง 7 คณะทำงานแก้ปัญหาประชาชน เป็นธรรมดาของการเตรียมความพร้อม ซึ่งเห็นว่าเป็นความพยายามสร้างมวลชนกดดันองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคำร้องขาดคุณสมบัติของนายพิธา ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่วินิจฉัยประเด็นคุณสมบัตินักการเมือง และกดดันวุฒิสภาที่มีบทบาทเลือกนายกรัฐมนตรี

 “ความจริงควรต้องผ่านการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อย แต่เมื่อเวลาไม่ลงตัวจึงต้องทำเพื่อสร้างศรัทธาจากมวลชน รวมถึงเรียกมวลชนให้ออกมาปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาจัดทำขึ้นที่อาจจะได้มวลชน เพราะขณะนี้ยังมีเวลาเหลืออีกพอสมควรก่อนที่ กกต.จะรับรองผลเลือกตั้ง” ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ระบุ

 ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลพยายามสร้างมวลชนเพื่อสู้กับนิติสงครามที่หัวหน้าพรรคเผชิญใช่หรือไม่    นายเสรีกล่าวว่า ไม่ขอใช้คำรุนแรงแบบนั้น แต่ตอนนี้เห็นว่าเขาพยายามสร้างมวลชนเป็นแรงสนับสนุนและผลักดัน รวมถึงเป็นแรงกดดัน กกต.ที่ต้องรับรอง ส.ส.ตรวจสอบข้อมูล ก่อนจะประกาศรับรองตามกระบวนการเลือกตั้ง

ถามอีกว่า พรรคก้าวไกลใช้มวลชนเพื่อกดดันพรรคเพื่อไทยไม่ให้เป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งด้วยหรือไม่ นายเสรีเชื่อว่ากดดันพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะพรรคนี้เขามีวิทยายุทธ์ลึกล้ำ และวางสเต็ปทางการเมืองไว้ว่าจะเดินอย่างไร และสร้างการแสดงออกที่สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจในกลุ่มตั้งรัฐบาล แต่ในอนาคตนั้นตนเชื่อว่าเขาเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเขารู้อยู่แล้ว

 ซักว่าการที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศจะร่วมตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล ถือเป็นคำมั่นให้นายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ ส.ว.ผู้นี้ บอกว่า การันตีไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน สัญญาคือลมปาก สิ่งที่เพื่อไทยแสดงความเป็นสุภาพบุรุษว่าจะสนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนมาก แต่เขาก็รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายหวยก็ออกที่พรรคเพื่อไทย

 ถามถึงประเด็นคุณสมบัตินายกฯ หรือการแก้มาตรา 112 จะทำให้นายพิธาไม่ได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และมีเจตนาที่จะเสนอแก้ไขแม้ไม่ระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่มวลชนและเจ้าของพรรคก้าวไกลต้องการ ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมนายพิธาต้องยืนหยัดที่จะแก้ไข ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาของบ้านเมือง และเชื่อว่าประเด็นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งของบ้านเมืองได้ในอนาคต

ด้านนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่มีข้อกังวล และดีใจที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ยืนยันจุดยืนที่ไม่ลงมติให้พรรคก้าวไกลและนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะข้องใจการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งความคิดของตนนั้นมีส.ว.ที่คิดเหมือนกันไม่น้อย ส่วนกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลตั้งคณะทำงาน ตนไม่ก้าวล่วง เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง อีกทั้งหน้าที่ส.ว.มีหน้าที่เพียงเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เท่านั้น

เมื่อถามว่า ขณะนี้ในกลุ่ม ส.ว.มีการพูดถึงแคนดิเดตจากพรรคชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งอาจไม่ได้เป็นนายกฯ ได้มองตัวเลือกอื่นจากพรรคอันดับสองไว้หรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ไม่มองพรรคอื่น แต่มีแนวคิดที่อยากเสนอในชั้น กมธ. การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะเป็นรองประธาน กมธ. ว่าสิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ตอนนี้คือรัฐบาลแห่งชาติ แต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยโมเดลของตนคือ ให้ทุกพรรคนำส่วนที่ดีมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของชาติ

ถามต่อว่า ขั้นตอนจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะตามกติกามีเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นายจเด็จกล่าวว่าสามารถงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่มีปัญหาได้ เพื่อเป็นทางออก  การเมืองไทยไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้  ทุกอย่างเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ชาติ

ซักว่า ที่ผ่านมารัฐบาลแห่งชาติจะถูกพูดถึงเมื่อมีความขัดแย้งหรือปัญหา  แต่ขณะนี้ไม่มีสัญญาณขัดแย้งใดๆ นายจเด็จตอบว่า ไม่จำเป็นต้องให้เกิดความขัดแย้งหรือรอให้เกิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม หากห้ามก็งดใช้ เชื่อว่ามีหนทางทำได้ อยู่ที่จะทำหรือไม่

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลแห่งชาติคือ การรวมทุกพรรค ทั้งรวมไทยสร้างชาติ  พลังประชารัฐ เป็นรัฐบาลทั้งหมด ไม่มีฝ่ายค้านใช่หรือไม่ ส.ว.ผู้นี้ตอบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ   ให้นำส่วนที่ดีมารวมกันเพื่อรักษาประโยชน์ ประสานความคิด ไม่เบียดเบียน จะทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง เจริญรุ่งเรือง

 ถามด้วยว่า พรรคก้าวไกลมีจุดยืนและนโยบายมีลุง ไม่มีเรา จะทำให้โมเดลรัฐบาลแห่งชาติเกิดได้หรือไม่    นายจเด็จกล่าวว่า คิดแบบนั้น จะไม่มีคุณ ไม่มีผม และไม่มีเรา ทางที่ดีต้องรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทางการเมือง ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งชาติเป็นข้อเสนอ ที่จะเสนอใน กมธ. หากสังคมมีมุมมองอย่างไรพร้อมรับฟัง และขณะนี้ยังมีเวลาจนกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ช่วงเดือนส.ค..

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....