พท.-ภท. เสียวสุด! 71เขตลูกผีลูกคนกกต.ไม่รับรอง/ปมหุ้นพิธาต่างจากทอน

เปิดเอกสาร กกต.ยังไม่ประกาศรับรอง 71 ว่าที่ ส.ส.ใน 37 จังหวัด เหตุโดนร้องคัดค้าน "ภท.-พท." เยอะสุด "ก.ก." แค่ 7 เขต "เลขาฯ สภา" เล็งเชิญ “พล.ต.ท.วิโรจน์” นั่งประธานชั่วคราวเลือก ปธ.สภาฯ "ป.ป.ช." เผย "พิธา" ยื่นทรัพย์สินเพิ่มปี 62 มีคำสั่งศาลแนบเป็น ผจก.มรดกหุ้นไอทีวี "สมชัย" แย้มหลักฐาน "เรืองไกร" ระบุชัด "ทิม" โอนหุ้นไม่ใช่สละมรดก "วิษณุ" ชี้ปมหุ้นสื่อ "พิธา" เทียบเคียง "ธนาธร" ไม่ได้  โหวตนายกฯ ได้หรือไม่อยู่ที่คำสั่งศาลรธน. "ก้าวไกล" ยกขบวนขอบคุณชาวลำปาง "อิ๊งค์" รับครอบครัวห่วง "ทักษิณ"   บอกพ่อยังไม่เปลี่ยนใจกลับไทยเดือนก.ค. ย้ำยังไม่พลิกขั้วตั้งรัฐบาล

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ได้มีเอกสารข้อมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต (ครั้งที่ 1) ที่มีการเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ถูกเผยแพร่ออกมา โดยรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เสนอให้ กกต. พิจารณาจากจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 เขต เสนอประกาศผล 329 เขต ส่วนอีก 71 เขตจาก 37 จังหวัด เสนอไม่ประกาศผล เนื่องจากมีเรื่องร้องคัดค้าน แบ่งเป็นจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 21 เขต, พรรคเพื่อไทย (พท.) 20 เขต, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 14 เขต, พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 7 เขต, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 3 เขต, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 3 เขต, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 2 เขต และพรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 1 เขต

มีรายละเอียดดังนี้ กรุงเทพมหานคร มี 33 เขต มีความเห็นเสนอประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 32 เขต ยกเว้นเขต 28 น.ส.รักชนก ศรีนอก พรรคก้าวไกล, จังหวัดกาญจนบุรี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต และไม่ประกาศรับรอง 3 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน พรรคภูมิใจไทย และเขต 4 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ พรรคเพื่อไทย, จังหวัดกำแพงเพชร 4 เขต เสนอประกาศรับรอง 3 เขต ไม่ประกาศรับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายไผ่ ลิกค์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดขอนแก่น 11 เขต เสนอประกาศรับรอง 9 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 4 นายเอกราช ช่างเหลา พรรคภูมิใจไทย และเขต 11 นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ พรรคภูมิใจไทย     

จังหวัดฉะเชิงเทรา 4 เขต ประกาศรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 3 นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย,  จังหวัดชลบุรี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 8 นายจรัส คุ้มไข่น้ำ พรรคก้าวไกล เขต 9 นายยอดชาย พึ่งพร พรรคก้าวไกล และ เขต 10 นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดชัยภูมิ 7 เขต เสนอประกาศรับรอง 4 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 3 นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 5 นายศิวะ พงศ์ธีระดุลย์ พรรคเพื่อไทย และเขต 7 นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ พรรคพลังประชารัฐ

จังหวัดเชียงใหม่ 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 8 เขต ไม่ประกาศรับรอง 2 เขต คือ เขต 1 น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล และเขต 9 นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดตรัง มี 4 เขต เสนอรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 คือ เขต 2 นายทวี สุระบาล พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดนครพนม มี 4 เขต เสนอรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นางมนพร เจริญศรี พรรคเพื่อไทย

จังหวัดนครราชสีมา 16 เขต เสนอรับรอง 13 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 5 นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล พรรคเพื่อไทย เขต 10 นายอภิชา เลิศพัชรกมล พรรคเพื่อไทย และเขต 12 นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล พรรคเพื่อไทย, จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 7 นายษฐา ขาวขำ พรรคภูมิใจไทย เขต 8 นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล พรรคภูมิใจไทย เขต 9 นางอวยพรศรี เชาวลิต พรรคประชาธิปัตย์ และเขต 10  น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พรรครวมไทยสร้างชาติ

 จังหวัดบึงกาฬ มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายสุวรรณา กุมภิโร พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดบุรีรัมย์ มี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 4 นางรังสิกร ทิมาตฤกะ พรรคภูมิใจไทย เขต 5 นายโสภณ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 6 นายศักดิ์ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย และเขต 7 นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายสังคม แดงโชติ พรรคภูมิใจไทย

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 2 นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พรรคก้าวไกล เขต 3 น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ พรรคภูมิใจไทย และเขต 5 นายประดิษฐ์ สังขจาย พรรคภูมิใจไทย,  จังหวัดพังงา มี 2 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายอรรถพล ไตรศรี พรรคภูมิใจไทย และเขต 2 นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดพัทลุง มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นางสุพัชรี ธรรมเพชร จากประชาธิปัตย์

เปิด 71 เขต กกต.ยังไม่รับรอง

จังหวัดพิจิตร มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดพิษณุโลก มี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล และเขต 3 นายพงษ์มนู ทองหนัก พรรครวมไทยสร้างชาติ, จังหวัดจังหวัดเพชรบุรี มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายฤกษ์ อยู่ดี จากภูมิใจไทย

จังหวัดเพชรบูรณ์ มี 6 เขต เสนอประกาศรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 2 นายจักรัตน์ พั้วช่วย พรรคพลังประชารัฐ เขต 5 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ และเขต 6 นายอัคร ทองใจสด พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดภูเก็ต มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 ว่าที่ ร.ต.สมชาติ เตชถาวรเจริญ พรรคก้าวไกล, จังหวัดมหาสารคาม มี 6 เขต เสนอประกาศรับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ พรรคเพื่อไทย, จังหวัดมุกดาหาร มี 2 เขต เสนอประกาศรับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายวิริยะ ทองผา พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดยโสธร มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นางสุภาพร สลับศรี พรรคไทยสร้างไทย, จังหวัดร้อยเอ็ด มี 8 เขต เสนอประกาศรับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 3 นางรัชนี พลซื่อ พรรคพลังประชารัฐ 

จังหวัดเลย มี 4 เขต เสนอประกาศรับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 1 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ พรรคเพื่อไทย และเขต 4 นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ พรรคเพื่อไทย, จังหวัดศรีสะเกษ มี 9 เขต เสนอประกาศรับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 1 นายธเนศ เครือรัตน์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายธนา กิจไพบูลย์ชัย พรรคภูมิใจไทย และเขต 8 นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดสกลนคร มี 7 เขต เสนอประกาศรับรอง 5 เขต ไม่รับรอง  2  เขต คือ เขต 4 นายพัฒนา สัพโส พรรคเพื่อไทย และเขต 5 นายชัยมงคล ไชยรบ พปชร., จังหวัดสงขลา มี 9 เขต เสนอประกาศรับรอง 8 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง พรรคประชาธิปัตย์, จังหวัดสระแก้ว มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นางขวัญเรือน เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ และเขต 3 นายสรวงศ์ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย

จังหวัดสิงห์บุรี มี 1 เขต เสนอไม่รับรอง 1 เขต คือ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 7 เขต เสนอประกาศรับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต  2 นายพิพิธ รัตนรักษ์ รวมไทยสร้างชาติ, จังหวัดอำนาจเจริญ มี 2 เขต เสนอไม่ประกาศรับรองทั้ง 2 เขต คือ เขต 1 นางสุขสมรวย วันทนียกุล พรรคภูมิใจไทย และเขต 2 นางญาณีนาถ เข็มนาค พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดอุดรธานี มี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 9 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ ส.ส.เขต 3 นายหรั่ง ธุระพล พรรคไทยสร้างไทย, จังหวัดอุบลราชธานี มี 11 เขต เสนอประกาศรับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 1 นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เพื่อไทย เขต 4 น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี เพื่อไทย เขต 7 น.ส.สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เพื่อไทย และเขต 10 นายสมศักดิ์ บุญประชม พรรคเพื่อไทรวมพลัง

สำหรับจังหวัดที่เสนอให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มีจำนวน 329 เขต ใน 40 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่, กาฬสินธุ์, จันทบุรี, ชัยนาท, ชุมพร,เชียงราย, ตราด, ตาก, นครนายก,  นครปฐม, นครสวรรค์, นนทบุรี, นราธิวาส, น่าน, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี,ปัตตานี, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน,  ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, สตูล, สมุทรปราการ,  สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี,  สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี

เชิญ 'วิโรจน์' ปธ.สภาชั่วคราว

ที่รัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงความพร้อมในการรับรายงานตัว ส.ส.ใหม่ ที่บริเวณชั้นบี 1 อาคารรัฐสภาว่า  ทางสภาได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งชุดที่ 26 ทั้งการจัดทำเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ หนังสือคู่มือ รวมทั้งยังได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อรองรับและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ

ถามถึงการเตรียมการทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา (ครั้งแรก) นางพรพิศกล่าวว่าทางสำนักงานเลขาฯ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมการจัดพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกมาประชุมเป็นครั้งแรก

"ทางสภายังเตรียมความพร้อมการเปิดประชุมสภาครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว โดยได้ประสานไปยัง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่ง อาวุโสสูงสุด อายุ 89 ปี มาเป็นประธานชั่วคราวแล้ว รวมทั้งให้สำนักประชุมและที่ปรึกษาซักซ้อมความเข้าใจในข้อกฎหมาย ข้อบังคับการประชุมร่วมกัน รวมถึงการโหวตเลือกประธานสภาฯ  และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะมีประเด็นถกเถียงด้านข้อกฎหมาย หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกับสภา ได้เตรียมขั้นตอนต่างๆ ไว้พร้อมทั้งหมด แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานอื่น ต้องให้หน่วยงานนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการ" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าว

ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลว่า จากการตรวจสอบเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 62 แล้ว พบว่ากรณีการถือหุ้นไอทีวี นายพิธาแนบเอกสารคำสั่งศาลว่าเป็นผู้จัดการมรดกมาด้วย ซึ่งเป็นเอกสารประมาณปี 50 กว่าๆ ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารกับทางศาล แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีสถานะอื่นด้วยหรือไม่  ส่วนความคืบหน้าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหลังพ้นตำแหน่ง ส.ส.นั้น ขณะนี้นายพิธายังไม่ได้มีการยื่นมาให้กับ ป.ป.ช. แต่ยังคงเหลือกรอบเวลายื่นได้ถึงวันที่ 18 มิ.ย.

ถามว่า คำสั่งศาลดังกล่าวมีน้ำหนักหรือไม่ว่านายพิธาเป็นผู้จัดการมรดกโดยศาลสั่ง ไม่ได้เป็นผู้ที่ตั้งใจจะถือหุ้นมาตั้งแต่ต้น นายนิวัติไชยกล่าวว่า เรื่องเจตนาก็ต้องไปดูกัน แต่ทรัพย์สินที่เขายื่นมาไม่ว่าจะยื่นในนามส่วนตัวหรือในนามผู้จัดการมรดกเขาก็ยื่นมา และเป็นการยื่นตามกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. โดยตามกฎหมาย ป.ป.ช. เมื่อเขายื่นมาเราจะตรวจสอบตามประเด็นที่เขายื่น ส่วนจะเป็นผู้จัดการมรดกจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมตามที่เขาได้ชี้แจงไว้ ส่วนจะเปิดเผยข้อมูลนี้ในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินกรณีนายพิธาพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่นั้น ป.ป.ช.กำลังพิจารณาอยู่ แต่ยืนยันว่า ป.ป.ช.พร้อมให้ข้อมูลหาก กกต.ขอข้อมูลหลักฐานส่วนนี้เข้ามา เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว

ซักว่า นายพิธาได้ยื่นข้อมูลต่อ ป.ป.ช.กว่า 4 ปีแล้ว เหตุใดยังสอบทานเอกสารกับศาลไม่แล้วเสร็จ นายนิวัติไชยกล่าวว่า ตอนนี้เอกสารที่ตรวจสอบกับศาล ทางศาลบอกว่าไม่ได้เก็บเอาไว้แล้ว เราต้องพยายามหาเอกสารตัวนี้มาเพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ศาลรับรองถูกต้องใช่หรือไม่ ทั้งนี้ เอกสารที่ผู้ยื่นมาทุกอย่าง ป.ป.ช.จะต้องมีการตรวจสอบซ้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่รีเช็กไปต่างยังอาจจะหาไม่เจอ เพราะว่ามันนานแล้ว

มีรายงานว่า ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ป.ป.ช.มีกำหนดเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 104 ราย แต่จะยังไม่มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธา เนื่องจากได้ขอขยายระยะเวลาการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 มิ.ย.

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมเอกสารที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการโอนหุ้นของนายพิธาที่นายเรืองไกรยื่น กกต.วันที่ 13 มิ.ย.ระบุว่า หลักฐานการโอนหุ้นที่เรืองไกรยื่นต่อ กกต.เพิ่มเป็น "การโอน" ไม่ใช่ "การสละมรดก" อย่างไรก็ดี นายพิธาเคยยืนยันชัดเจนว่าไม่ใช่การขายหุ้น แต่โอนให้ทายาทไปเมื่อปลายเดือน พ.ค.

พิธาถือหุ้นเทียบทอนไม่ได้

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายพิธาออกมาโต้แย้งกรณีที่ระบุว่าผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จะไม่สามารถนำชื่อนั้นไปโหวตนายกฯ ได้ว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. สื่อตั้งคำถามหลายคำถาม โดยเริ่มต้นถามจากการถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 และมีการขยับไปถามเกี่ยวกับการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 หลักง่ายๆ ที่คนมาโต้แย้งตนตามข่าวเรื่องคุณสมบัตินายกฯ นั้นถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะประเด็นที่ตนพูดหมายถึงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เป็นคนละประเด็นกัน และหลักหากฟ้องตามมาตรา 151 เป็นการฟ้องไปยังศาลอาญา ซึ่งจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ โดยศาลที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้คือศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ สื่อถามว่าการหยุดปฏิบัติหน้าที่จะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด คำตอบคือ เริ่มตั้งแต่ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ถึงจะเข้าชื่อยื่นตรวจสอบใดๆ ได้ แต่ถ้าถามว่านายพิธาปฏิญาณตนได้หรือไม่ ต้องตอบว่าได้ในฐานะ ส.ส. และถ้ามีการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องไปดูว่าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อะไร หากเป็นหน้าที่ ส.ส.ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่การเป็นว่าที่นายกฯ ศาลไม่ได้สั่ง เมื่อไม่ได้สั่งก็ดำเนินการโหวตนายกฯ ไปได้ ตนไม่อยากชี้ช่อง

 “เว้นแต่ในคำร้องซึ่งผู้ร้องร้องประเด็นอะไรยืดยาวมากกว่านี้ แล้วศาลสั่งให้หยุดทั้งหมด ถ้าหยุดทั้งหมดก็ไปเสนอไม่ได้ เพราะเสนอไปแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ จะนำความไปกราบบังคมทูลฯ ว่าอย่างไร และเมื่อทรงแต่งตั้งแล้ว ตั้งรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เพราะการตั้งรัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือนายกฯ ซึ่งกระบวนการจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับแบบนี้ ซึ่งผมไม่รู้ว่าศาลจะสั่งอย่างไรในเวลานั้น เหมือนสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ท่านเป็น รมว.กลาโหม ก็ปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหมได้” นายวิษณุกล่าว

ถามว่า ผลที่จะออกมาเป็นอย่างไรต้องขึ้นกับคำร้องใช่หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า "ใช่" เมื่อถามว่าหากศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ระหว่างที่เลือกนายกฯ ยังไม่เสร็จ ปรากฏว่าศาลสั่งให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. ต้องดูไปถึงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ด้วยหรือไม่ เพราะคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯเหมือนกับ ส.ส. นายวิษณุพยักหน้าพร้อมบอกว่า ต้องไปดูว่าคำร้องร้องว่าอย่างไร คำสั่งศาลว่าอย่างไร เราจะบอกว่าศาลไม่มีอำนาจสั่งก็ไม่ได้ ตนไม่แน่ใจ ศาลอาจจะบอกว่ามีก็ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งแปลกๆ หลายครั้งแล้ว

ซักว่า กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกร้องเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.ประเด็นเดียวถึงโหวตนายกฯ ได้ แต่นายพิธาถูกร้องทั้งการเป็น ส.ส. แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรค รวมถึงสถานะ ส.ส.ปี 62 นายวิษณุตอบว่า กรณีนายพิธามีอันนี้พ่วงมาด้วยถึงได้เป็นปัญหา ซึ่งเราไม่มีตัวอย่างมาก่อน จึงเอามาเปรียบเทียบไม่ได้ เมื่อถามอีกว่า ต้องรอให้มีตำแหน่งนายกฯ ก่อนถึงร้องได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบคำถามนี้เพราะเดี๋ยวจะเป็นการชี้ช่อง 

ถามว่า สุดท้ายประธานสภาฯ จะมีบทบาทที่สุดใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ประธานสภาฯ มีบทบาทสำคัญที่สุด ที่จะควบคุมเรื่องนี้ เพราะประธานสภาฯ จะเป็นผู้กราบบังคมทูลฯ แต่งตั้งนายกฯเพื่อให้บริหารราชการแผ่นดิน ขอย้ำว่า เริ่มต้นมีการเสนอชื่อ ประธานสภาฯ จะรับชื่อนั้นหรือไม่ ถ้าไม่รู้ไม่ชี้รับเข้ามา เพราะต้องมีการโหวตแข่ง หากไม่ได้ก็ตกไป ประธานสภาฯ ไม่ต้องรับผิดชอบ   แต่หากได้ขึ้นมา ประธานสภาฯ จะคิดหนัก

ย้ำว่ากรณีคนที่ร่วมลงมติรายชื่อที่มีปัญหาจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง หมายถึง ส.ส. ส.ว. แม้ไม่มีความรับผิดชอบทางก็กฎหมาย แต่มีความรับผิดชอบทางการเมือง เมื่อถามว่าแสดงว่าบทบาทประธานสภาฯ หากเห็นอะไรควร-ไม่ควรก็ควรจัดการก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่ตรงนี้ที่ต้องรับผิดชอบ   เหมือนการแต่งตั้งข้าราชการทุกวันนี้ จะมาจากกระทรวงไหนก็ช่าง แต่นายกฯ เป็นคนเซ็น นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ

อิ๊งค์ยันยังไม่พลิกขั้วตั้ง รบ.

ที่ จ.ลำปาง นายพิธา พร้อมคณะพรรคก้าวไกล เดินสายขอบคุณประชาชนในจังหวัดภาคเหนือ ท่ามกลางประชาชนที่มารอต้อนรับจนเต็มพื้นที่ ทั้งหน้าวัดและลานวัดพระธาตุลำปางหลวง ก่อนที่จะมีการเปิดเวทีปราศรัยที่บริเวณลานด้านข้างวัด พร้อมว่าที่ ส.ส.ลำปาง พรรคก้าวไกล ทั้ง 3 เขต ที่ชนะการเลือกตั้ง

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.  กล่าวถึงกระแสข่าวครอบครัวชินวัตรเบรกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับประเทศไทยว่า จริงๆ แล้วไม่มีมิติทางการเมืองอะไรเลย มีแต่มิติทางครอบครัว หากเรื่องนี้ซีเรียสขนาดนั้นเราคงไม่นัดกันทานข้าวนอกบ้าน คงคุยกันที่บ้านแล้วจบได้ คิดว่าเป็นแค่ความห่วงใยของคุณแม่ (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) ที่ตอนนี้เป็นเสาหลักของครอบครัว และห่างกับคุณพ่อมา 17 ปี ซึ่งคุณแม่ก็มีความเป็นห่วงทุกเรื่อง

 “เรื่องอยากให้กลับก็อยากให้กลับอยู่แล้ว แต่อิ๊งค์อยากให้คุณพ่อเป็นคนตัดสินใจเองว่าท่านอยากกลับมาตอนไหน อยากกลับมาอย่างไร เพราะท่านเองก็ออกไปนานมากแล้ว ก็คงมีความตั้งใจที่อยากจะกลับมา ท่านอยากกลับมาเลี้ยงหลาน ยิ่งตอนนี้เพิ่งจะมีหลานคนที่ 7 ก็ยิ่งอยากกลับ แต่ตรงนี้ก็ให้ท่านตัดสินใจเองดีกว่า” น.ส.แพทองธารกล่าว

ถามว่า นายทักษิณยังยืนยันจะกลับเดือน ก.ค.เหมือนเดิมใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า คุยล่าสุดก็ยังเป็นเช่นนั้น เมื่อพวกตนถามว่าได้ดูสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ท่านก็ตอบว่าดูอยู่แล้ว ท่านไม่อยากกลับมาแล้วเป็นความวุ่นวาย แน่นอนคุณพ่อมีความสำคัญทางการเมือง หากจะกลับมาก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสม หากจะเปลี่ยนแพลนกลับหรือไม่เปลี่ยน ก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสมด้วย

พอถามถึงปมหุ้นของนายพิธาส่งผลกระทบกับการเลือกนายกฯ แนวทางการจัดตั้งรัฐบาลจะยังเป็นฝ่ายประชาธิปไตยใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า แน่นอน ฝ่ายประชาธิปไตยต้องจับมือกันให้แน่น เราเคารพเสียงของประชาชนไปตามนั้น กระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ

"ขอปฏิเสธกระแสข่าวการพลิกขั้วในช่วงที่ผ่านมา เราไม่มีแผนที่จะพลิกขั้วใดๆ ทั้งสิ้น งงข่าวดีลลับที่ออกมาจำนวนมาก คงลับมากเพราะไม่รู้เรื่อง  ซึ่งมันไม่ใช่ อยากให้หนักแน่นไว้ พรรคพท.ที่คุยกับพรรค ก.ก.ไว้อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" น.ส.แพทองธารระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล