บิ๊กตู่ฟังม็อบจะนะส่งรมต.คุย

ตร.แจงสลายและจับกุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37 คนหน้าทำเนียบฯ เหตุฝ่าฝืนกฎหมาย พบผู้ก่อความไม่สงบแฝงตัวเข้าร่วมชุมนุม "บิ๊กตู่” ยันรับฟังข้อเสนอผู้ชุมนุม ส่ง “ศอ.บต.-รมต.ประจำสำนักนายกฯ” ลงพื้นที่ หวั่นม็อบผสมโรงจึงต้องเร่งเคลียร์ พร้อมเร่งผลักดันกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ “นิพนธ์” หนุนสร้างนิคมอุตฯ แก้ปัญหาความยากจน อ้างคนส่วนใหญ่ 80-90% เอาด้วย "ลูกสาวทะเลจะนะ" ปลุกเครือข่ายขอสู้ เดิมพันชีวิตไม่หวั่นคดี

ภายหลังมีการสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อคืนวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ธ.ค. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ชี้แจงถึงการสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิด 37 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 31 คน การรวมกลุ่มทำกิจกรรมของกลุ่มนี้ปรากฏว่า 1.เข้าไปชุมนุมบริเวณกีดขวางทางจราจรเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทำการเจรจาแล้วยังทำการฝ่าฝืน 2.เกรงว่าจะเป็นการแพร่เชื้อโรค เจ้าหน้าที่จะเข้าทำการตรวจสอบการแพร่เชื้อโรค แต่กลุ่มดังกล่าวไม่ยินยอม 3.เจ้าหน้าที่มีการเจรจาหลายครั้ง ตลอดจนมีการจัดเตรียมสถานที่อื่น แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืน 4.การชุมนุมเมื่อปี 63 มีการฝ่าฝืนกฎหมาย และมาชุมนุมครั้งนี้ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง 5.การข่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมาจากกลุ่มอื่น อาจมีการใช้ความรุนแรงก่อความไม่สงบ ถ้าหากปล่อยให้การชุมนุมต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดความไม่สงบได้ 6.การเข้าดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นลักษณะสลายการชุมนุม แต่เป็นการเจรจาทำการจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมาย ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเป็นการใช้กำลังควบคุมฝูงชนหญิง เป็นการจับกุมตามปกติ

รอง ผบช.น.กล่าวว่า เมื่อทำการจับกุมผู้ชุมนุมแล้วนำตัวไปควบคุมที่ บช.ปส. มีกลุ่มผู้ชุมนุมตามไปยิงพลุ ประทัดทางเข้าสโมสรตำรวจ เป็นการยืนยันได้ว่ามีกลุ่มผู้ที่อาจจะก่อความไม่สงบและใช้ความรุนแรงเข้ามาร่วมชุมนุมดังกล่าวด้วย ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าจับกุมผู้ชุมนุมว่า ได้รับรายงานว่ากองร้อยน้ำหวานได้นำขบวนเข้าจับกุม เพราะทราบดีว่ามีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนารัฐบาลไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรงใดๆ เลย แต่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ เพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน จากนั้นจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นว่า ก็ต้องไปชี้แจงกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องทำ เพราะมีข่าวว่าจะมีคนมามั่วสุมเพิ่มเติม ตรงนี้ต้องช่วยรัฐบาลหน่อย เพราะตามกฎหมายสถานที่ราชการมีระยะห่าง 150 เมตร ที่ผ่านมาเมื่อมากันตรงนี้แล้วก็ไม่ไป แต่เราก็ไปฟังเขา เดี๋ยวอยู่ในขั้นตอนที่จะทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ตนได้ให้หน่วยงานไปฟังว่าอะไรอย่างไร สิ่งใดก็ตามตนเคยบอกแล้วว่าการไปเจรจาอะไรกับเขา อย่าไปรับปากอะไรเขามาทันที ถ้ายังไม่เข้าการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐบาล ไม่ว่าใครก็ตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เอ็มโอยูหรือข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันเมื่อปีที่ผ่านมามีความเป็นไปได้แค่ไหน นายกฯ ย้อนถามว่าใครตกลงล่ะ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อครั้งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลเมืองต้นแบบ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นผู้ไปเจรจา พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า แล้วตนไปตกลงหรือยัง ครม.ตกลงหรือยัง ก็ยัง เมื่อถามว่าจะต้องตั้งคนมาดูแลแทน ร.อ.ธรรมนัสหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า เดี๋ยวตนจะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปดูแลและติดตามดูว่าเกิดอะไรขึ้น และควรจะแก้ไขอย่างไร

"เราต้องมองสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นปัญหาก็ไม่ต้องไปทำ ต้องทำให้ถูกต้องตามกติกา กฎหมายอะไรก็ตาม บางทีการไปพบปะเจรจาของใครก็แล้วแต่ เวลาไปพูดไปตกลงกับเขาอย่าลืมว่าไม่ได้ผ่าน ครม. ผมเตือนหลายครั้งแล้ว เวลาไปให้รับข้อสังเกตมาแล้วนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในรัฐบาล นั่นคือวิธีการทำงานของรัฐบาลจะต้องรอบคอบ"

เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ประกาศว่าจะเดินทางมาที่ทำเนียบฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็บอกไปว่าอย่ามาเลย ก็ไปทำกันที่โน่นแหละ เดี๋ยวส่งคนไปดูแล เพราะเรามุ่งหวังให้ภาคใต้มีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมากขึ้น ตนฟังอยู่แล้วประชาชน เพราะนี่คือกระบวนการประชาธิปไตย ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับตัวไป เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปล่อยโดยการให้ประกันตัวอะไรสักอย่าง ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องตนฟังอยู่แล้ว แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็มีการขยายบานปลายไปทุกที

เร่งดัน กม.คุมเอ็นจีโอ

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในช่วงท้ายของการประชุม ครม. มีการรายงานเรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวว่า หากจะชุมนุมจะต้องขออนุญาตและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยให้คำนึงถึงระยะห่างรัศมี 150 เมตร เพื่อความปลอดภัยของสถานที่ราชการ อีกทั้งไม่ต้องการให้ม็อบมาชุมนุมค้างคืนข้างทำเนียบฯ เหตุที่ต้องดำเนินการเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เพราะเกรงว่าหากให้ปักหลักอยู่ตรงนี้ จะมีคนมาเติมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องรีบดำเนินการ หากไม่รีบเคลียร์ก่อนจะทำให้จัดการยาก ในอนาคตหากมีการมาชุมนุมข้างทำเนียบฯ เช่นนี้อีก อาจจำเป็นต้องปิดถนนพิษณุโลกก่อนที่ม็อบมาจะชุมนุม เราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย อะไรที่ทำได้ก็ทำ ถ้าไม่ทำจะเดินหน้าไปได้อย่างไร

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หรือร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ โดยเลขาฯ กฤษฎีกาชี้แจงว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่ ครม.ต่อไป

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้รับผิดชอบการแก้ปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ว่า คงต้องดูรายละเอียดก่อนว่าโครงการดังกล่าว รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นมาอย่างไร คืบหน้าถึงไหน มีการรับฟังประชาชนในพื้นที่ และคงต้องลงพื้นที่จริงเพื่อดูข้อเท็จจริงที่ อ.จะนะด้วย ตนไม่หนักใจที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านเพราะต้องพูดคุยอยู่บนพื้นฐานของประเทศชาติของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้น ทุกอย่างต้องทำเพื่อสังคมเป็นหลัก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเรากำลังทำประชาพิจารณ์อยู่ ขั้นตอนการดำเนินการอาจใช้เวลา แต่ทางผู้ชุมนุมรีบร้อน เราก็ต้องถามประชาชนทั้งหมดและทุกฝ่าย ก็เลยช้า

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมช.เกษตรฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า หลังจากที่ผมพ้นจากการเป็นตำแหน่ง รมช. เกษตรฯ ผมไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายๆ เรื่อง ผมได้รับการประสานจากเพื่อนๆ ส.ส.หลายท่าน ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผมไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก ผมยังเป็นห่วงพี่น้องชาวจะนะ และผมจะใช้ระบบสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะต่อไปครับ

ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายระบุว่าจะต้องให้มีการทำอีไอเอเสียก่อน ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน ตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนคนคัดค้านก็ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยไปตามขั้นตอน

เมื่อถามว่า กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมาเรียกร้องอยู่หน้าทำเนียบฯ และกล่าวหาว่านายนิพนธ์เองเป็นผู้รวบรวมโฉนดให้กับนายทุน นายนิพนธ์กล่าวว่า เรื่องที่ดินนั้นหากเอกชนเขาสนใจก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการเหมือนกับเรื่องทั่วๆ ไป แต่เมื่อรวบรวมที่ดินแล้วต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี การรวบรวมที่ดินไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าการที่จะทำโรงงานแล้วไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมายนั่นถือเป็นประเด็น ส่วนที่กล่าวหาตนว่าเป็นคนรวบรวมที่ดินนั้น ตนเห็นด้วยที่จะเข้าไปทำตรงที่ดินนั้น เนื่องจากที่ดิน อ.จะนะเป็นที่ดินที่ปลูกอะไรก็ลำบาก เป็นพื้นทราย ตอนนั้นตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งโครงการนี้เริ่มคิดมาตั้งแต่ปี 59

อ้างคนพื้นที่ 90% เห็นด้วย

นายนิพนธ์กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ อ.จะนะ จะเกิดการจ้างงานขึ้น การทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ศึกษากันมานานกว่า 20 ปี ศอ.บต.จึงคิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้มีงานทำ แต่ยอมรับว่ามีส่วนหนึ่งที่ต้องการทำประมงต่อ ถ้าไปสำรวจสอบถามเชื่อว่า 80-90% เห็นด้วย คนที่มาคัดค้านนี้เป็นส่วนน้อย ในพื้นที่นี้อย่าว่าแต่ทำนิคมอุตสาหกรรมเลย ปลูกมะม่วงหิมพานต์ยังปลูกไม่ขึ้น ปลูกปาล์มก็ไม่ต้องไปปลูก เพราะมันเป็นทราย

นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นว่า เป็นพฤติกรรมที่ชี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่รับรู้ความทุกข์ร้อน ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน ไม่แก้ปัญหาด้วยการเจรจาจับเข่าคุยกัน ตรงกันข้าม กลับเมินเฉยและใช้กำลังรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรงในยามวิกาลซึ่งไม่อาจรับได้ จึงมีคำถามว่าแท้จริงแล้ว การคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลนั้น คงไว้เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมของประชาชนใช่หรือไม่ พรรคเพื่อไทยจะไม่ยอมเด็ดขาด โดยอาจยื่นกระทู้สดหรือยื่นญัตติในการประชุมสภาในสัปดาห์นี้ต่อไป

ที่หน้าสำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หรือลูกสาวแห่งทะเลจะนะ พร้อมด้วยเยาวชนประมาณ 10 คน ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายฯ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ชุมนุมกลุ่มจะนะฯ ที่ชุมนุมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. โดย น.ส.ไครียะห์กล่าวว่า การเดินทางมาทำเนียบฯ เพื่อบอกรัฐบาลให้หยุดคุกคามแผ่นดินของคนจะนะ เพื่อให้หยุดสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลกลับนำที่ดินไปให้นายทุนเพียงสองบริษัทเกือบ 2 หมื่นไร่ และเหตุการณ์ วันที่ 6 ธ.ค. ย้ำชัดถึงการปกป้องกลุ่มทุน

“เราขอยืนยัน แม้จะถูกจับกุมอีกกี่ครั้งเมื่อออกมาแล้วก็จะกลับมายังทำเนียบฯ เหมือนเดิม เราไม่ไปไหนแม้จะถูกทำลายจากกลุ่มอำนาจสักกี่ครั้งก็ตาม ภารกิจนี้ขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอยืนหยัดจนถึงที่สุด”

น.ส.ไครียะห์กล่าวอีกว่า วันเดียวกันนี้ภาคีเครือข่าย 5 จังหวัดภาคใต้ถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นแสดงตนปกป้องแผ่นดินโดยจะต่อสู้จนกว่าโครงการดังกล่าวจะยุติ และขณะนี้มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ถูกจับกุม แต่มีการให้ข้อเสนอไม่ดำเนินคดีแลกกับการเคลื่อนไหว ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมไม่ยอม และยืนยันคดีแค่นี้ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของเราได้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ว่า ขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและเร่งรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่มีเงื่อนไข เร่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์อื่นๆ ได้ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี

ต่อมาเวลา 14.05 น. ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขห้ามชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในลักษณะที่ถูกจับกุม โดยนายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านจะนะยืนยันว่า ชาวบ้านที่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีจะไม่มีทางหมดกำลังใจแต่จะแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นสู้เพื่อท้องถิ่น
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความชาวบ้านจะนะ เผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับผู้ชุมนุม และในช่วงเที่ยงกลับแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา คือกีดขวางการจราจรและฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน และในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ พนักงานสอบสวนเรียกชาวบ้านทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง