กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ขยับแตะ2.25% ห่วงมีรบ.ใหม่ช้า

“กนง.” มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% ต่อปี ชี้ตลาดไม่เซอร์ไพรส์เป็นไปตามคาด แทงกั๊กรอบหน้าขยับต่อหรือพอแค่นี้ ตั้งรัฐบาลใหม่ยังประเมินยาก ห่วงล่าช้ากระทบลงทุนเอกชน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายปิติ ดิษยทัต    ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทั้งจากภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ไม่ได้สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด  เพราะน่าจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ ดังนั้นคาดว่าธนาคารพาณิชย์ก็คงจะส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้าของธนาคารบ้างตามที่ควรจะเป็นเหมือนที่ผ่านมา” นายปิติระบุ

เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ตั้งแต่ ส.ค.2565 กนง.ได้ดำเนินการถอนคันเร่งนโยบายการเงิน ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาระยะหนึ่ง ซึ่ง ณ จุดนี้ กนง.มองแล้วว่าเข้าใกล้จุด Neutral Rate มากขึ้น (จุดที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงไม่ติดลบ) ซึ่งถือว่าถอนคันเร่งจนเกือบหมดมากขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายใกล้จุดที่เป็นบวกแล้ว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแท้จริงเริ่มเข้ามาในโซนบวก และการเข้าใกล้จุดดังกล่าวก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่มองว่า กนง.จะหยุดอยู่ที่ไหน ซึ่งจะเป็นภาวะการเงินที่เราจะอยู่ไปสักพัก เพราะเศรษฐกิจเรากำลังฟื้นเข้าสู่ระดับศักยภาพ ไม่ได้เกินศักยภาพเหมือนต่างประเทศ ภาพใหญ่กำลังเข้าสู่จุดที่ควรจะเป็น จากนี้บริบทที่ต้องดูว่าคือผลระยะกลางและระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินมากขึ้น ส่วนภาพระยะสั้นมีความไม่แน่นอนเยอะ  ทั้งเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในประเทศ โดยการประชุมครั้งต่อไปก็ต้องดูความชัดเจนของแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ ณ ตอนนี้ไม่ได้มีการปักหมุดอะไรชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรในการประชุมรอบหน้า แม้ว่าหลายอย่างเริ่มเข้ามาสู่จุดที่เริ่มจะลงตัวมากขึ้นแล้ว

สำหรับภาพรวมข้อมูลใหม่ที่เข้ามา คือ แนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นแผ่วลงบ้าง ซึ่งคาดว่าจะสะท้อนออกมาในประมาณการรอบต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ลดลง แต่ กนง.จะให้น้ำหนักในการมองแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าเป็นหลัก ส่วนภาพการส่งออกที่ผ่านมาแย่กว่าที่คาดระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยชั่วคราวและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจมีผลกับเศรษฐกิจในระยะสั้นบ้าง แต่เชื่อว่าข้างหน้าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แง่นักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะกว่าที่คาดการณ์ แต่เม็ดเงินในการใช้จ่ายน้อยกว่าที่ประเมินเล็กน้อย ตรงนี้มองว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มองว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลัง และในปี 2567 นั้น เงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับขึ้นมาอีกครั้ง

ส่วนประเด็นเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนหรือไม่นั้น นายปิติกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่สูงมานาน สิ่งที่ กนง.ดูมาตลอดคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหรือไม่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยสิ่งที่ กนง.ต้องดูแล คือภาพรวมเศรษฐกิจให้อยู่ในแนวโน้มที่สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อและเศรษฐกิจระยะปานกลาง  และเห็นว่าปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเฉพาะที่ เครื่องมืออื่นๆ ซึ่งทาง ธปท.ได้ออกมานั้น จะช่วยดูแลปัญหานี้ได้แบบเฉพาะจุดมากขึ้น เพราะหนี้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปัญหาที่แก้ได้ด้วยการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยตรง

 “การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะช้า 2 ไตรมาส คือไตรมาส 1/2567 จากเดิมคิดว่าแค่ 1 ไตรมาส จะมีผลต่อ 2 ส่วน คือการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งในแง่ของงบรายจ่ายประจำจะยังไปได้ แต่ตัวที่จะถูกกระทบคือการลงทุนภาครัฐที่อาจจะต้องชะลอโครงการ ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้เมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพีอาจจะไม่เยอะจนทำให้ภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก แต่ส่วนที่จะมีน้ำหนักเยอะกว่าคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นตัวแปลหลักที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนกันต่อไป” เลขานุการ กนง.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง