ปชป.ยึดคืนภาคใต้ ‘เดชอิศม์’ คุมเลือกตั้งโวกวาด35ที่นั่ง ‘ซ่อม’ เขาถล่มเราเต็มที่

ประชาธิปัตย์เลือก "เดชอิศม์" คุมภาคใต้ คุยลั่นจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เลือกตั้่งครั้งหน้ากวาด 35 ที่นั่ง  พูดแปลกเลือกตั้งซ่อมเชื่อว่าฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าเราเขาถล่มเราเต็มที่   ส่วน "เดชเดโช" คะแนนท่วมเป็นรองเลขาฯ พรรค "อันวาร์" เสียดายไม่เสียใจ แต่หดหู่ที่พรรคเป็นเหตุสภาโจ๊ก ซัด "นิพนธ์" ผู้ทรงอิทธิพลภายในพรรค

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ธันวาคม 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ พรรคประชาธิปัตย์จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 โดยสมาชิกทยอยเริ่มเดินเข้าร่วมงานตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป ซึ่งมีแกนนำของพรรคเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ และรักษาการดูแลภาคใต้, นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ส.ส. อดีตส.ส. เป็นต้น

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายจุรินทร์ กล่าวกับสมาชิกพรรคว่า ตลอดระยะเวลาร่วมรัฐบาล 2 ปีเศษของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง ถ้าเปรียบพรรคเป็นเครื่องบิน ก็เหมือนว่าที่ผ่านมาเครื่องบินนี้เปลี่ยนกัปตันคนใหม่ กว่าจะนำเครื่องขึ้นได้ก็ใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง วันนี้สถานการณ์นิ่งขึ้น เครื่องบินประชาธิปัตย์มีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะมีตกหลุมอากาศบ้างชั่วคราว เชื่อว่าพวกเราได้สัมผัสถึงคำปรามาส เรื่องประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ แม้ยังมีเลือดไหลออกอยู่บ้าง แต่มีเลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับทดแทน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์อยู่มาก ที่เห็นเป็นรูปธรรมเลือดใหม่คุณภาพ คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ยังไม่นับรวมว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อีก ที่เป็นคนเก่าของพรรค 13 คน ที่เหลือเป็นเลือดใหม่ของพรรค 37 คน และยังไม่นับรวมผู้สมัครส.ส. นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการเลือดใหม่รุ่นใหม่เข้าร่วมอีกด้วย

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปเมื่อปี 62 พรรคกลายเป็นพรรคขนาดกลาง ได้รับเสียงจากประชาชนเหลือเพียง 52 เสียง ในตอนนั้นทำให้พรรคมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ไม่สามารถทำงานได้เหมือนกับตอนเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แต่สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินใจตามวิถีประชาธิปไตยภายในพรรค ผลออกมา 61 ต่อ 16 เสียง ให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาล

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า เราไม่ได้สักแต่ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อเอาตำแหน่ง ตนได้มอบหมายให้นายนิพนธ์และนายเฉลิมชัยไปเจรจาขอ 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะเราตั้งมั่นเล็งเห็นแล้วว่าได้ 3 กระทรวงนี้ จะมีโอกาสดูแลประชาชนในทุกสาขาอาชีพให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง ภายใต้วิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ผู้ด้อยโอกาสต้องได้รับการดูแล นี่คือสาเหตุที่เราเลือก 3 กระทรวงดังกล่าว

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังได้ประกาศว่า เงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล 3 ข้อ ประกอบด้วย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินนโยบายประกันราคา และต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ขณะนี้ไม่มีข้อใดที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ทำ และไม่มีข้อใดที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้ เราทำแล้วครบทุกข้อ

นายจุรินทร์กล่าวเสริมว่า มีข่าวสะเทือนใจหลายคน คือการลดโทษให้กับนักโทษในคดีทุจริตจำนำข้าวเหลือไม่ถึง 10 ปี ได้สร้างกระแสไม่ยอมรับในสังคม ที่การลดโทษเป็นอำนาจของกรมราชฑัณฑ์ ที่มีอธิบดีตัดสินใจเพียงคนเดียว และในกฎหมายกรมราชฑัณฑ์ก็มีช่องโหว่ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงขอเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้การลดโทษในคดีทุจริต เป็นอำนาจของศาล ไม่ใช่อำนาจของกรมราชฑัณฑ์เพียงอย่างเดียว ถือเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ตั้ง

"เดชอิศม์ ขาวทอง"คุมภาคใต้

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในพรรคที่ประชาชนตั้งความหวังไว้มากที่สุด เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของประชาชน ต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง พร้อมย้ำภารกิจ 2 ปีเศษที่ผ่านมาต้องพิสูจน์ว่าอะไรที่พรรคพูดกับประชาชน เราทำได้ และขึ้นปีที่ 3 เราต้องเดินหน้าต่อไป ทำได้ไว ทำได้จริง และจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนพรรคมาโดยตลอด ตั้งแต่ประชาชน สมาชิกพรรค รวมถึงนายชวน นายบัญญัติ และขอบคุณนายอภิสิทธิ์ ที่มีความตั้งใจจะเข้าไปช่วยรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำชัยมาสู่พรรคอีกด้วย

ต่อมาเวลา 11.25 น. เข้าสู่ขั้นตอนการเลือกกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่าง ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ แทนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ลาออกไป โดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเสนอชื่อนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ขณะที่นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้เสนอชื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ จากนั้นผู้ได้รับเสนอชื่อทั้ง 2 คน ได้จับฉลากหมายเลข ซึ่งผลปรากฏว่านายชินวรณ์ได้หมายเลข 1 และนายเดชอิศม์ได้หมายเลข 2 โดยใช้วิธีเข้าคูหากาบัตรลงคะแนน

หลังการลงคะแนนเสร็จสิ้น ผลปรากฏว่านายเดชอิศม์ได้คะแนน 58.9 เปอร์เซ็นต์, นายชินวรณ์ ได้คะแนน 39.4 เปอร์เซ็นต์, ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เปอร์เซ็นต์ จากองค์ประชุมทั้งสิ้น 350 คน  ทำให้นายเดชอิศม์ได้ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคใต้อย่างเป็นทางการ

จากนั้นเป็นการเลือกตั้งรองเลขาธิการพรรค แทนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่ลาออกไป โดยที่ประชุมมีมติเลือกนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นรองเลขาธิการพรรค ด้วยคะแนน 91.9 เปอร์เซ็นต์

นายเดชอิศม์ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังได้รับตำแหน่งตนจะทำงานอย่างเต็มที่ มั่นใจจะประสานคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ได้ ขอประกาศว่าจะเอาที่นั่ง ส.ส.ภาคใต้กลับมาให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต่ำกว่า 35 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้เพียง 22 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดสงขลา เขต 6 และจังหวัดชุมพร เขต 1 ตามมารยาทพรรคพลังประชารัฐไม่ควรที่จะส่งผู้สมัครลงแข่ง แต่เมื่อส่งลงแข่ง ตนขอสู้เต็มที่และพร้อมชน เพราะเลือกตั้งซ่อมเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ เชื่อว่าฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าเรา เขาถล่มเราเต็มที่ แต่มั่นใจว่าชาวใต้เข้าใจการเมืองช่วงนี้อย่างละเอียดถ่องแท้ จึงคิดว่าตัดสินใจไม่ยากนัก นอกจากนี้ จะชูนโยบายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภาคใต้ เพราะแต่ละปีรัฐจัดซื้องบอาวุธเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยทำสงครามอะไร แต่กลับละเลยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนเสียชีวิตจากโรคเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ดังนั้นเราจะรณรงค์ในเรื่องนี้

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ชัดเจนอยู่แล้วว่าต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตย ขอแสดงความยินดีด้วยกับนายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ได้ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคแทนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี เท่ากับว่าทั้งสองคนเข้ามาเป็นจิตอาสาที่จะเดินหน้านำพรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงไปตามแนวความคิดของทีมผู้ชนะต่อไป ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องที่พวกตนต้องสนับสนุน

เมื่อถามว่า แสดงว่ายังสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่มีความขัดแย้งกันใช่หรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ในเรื่องกระบวนการทำงาน ทีมที่ชนะก็ต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงกับพรรค และขอให้คิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก จะต้องนำพรรคไปสู่ชัยชนะ และเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนการทำงาน ทั้งนี้ ตนอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มานาน ยึดถือพรรคเป็นหลักในการทำงานการเมือง ทั้งนี้ ส่วนตัวมีหน้าที่เป็นประธานวิปของพรรค และเป็นรองประธานวิปรัฐบาล รับภารกิจเต็มเวลาอยู่แล้ว

หดหู่ที่พรรคเป็นเหตุสภาโจ๊ก

ส่วนนายจุรินทร์กล่าวว่า ทุกคนก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และใน 1-2 วันที่ผ่านมา ตนได้เชิญผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้มาพบ ซึ่งทุกคนยืนยันว่าพร้อมที่จะยอมรับไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และพร้อมจะทำงานร่วมกับพรรคต่อไป

ขณะที่นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งนำจดหมายเปิดผนึกถึงประชาธิปัตย์ เปิดใจเสียดายไม่เสียใจ แต่หดหู่ที่พรรคเป็นเหตุสภาโจ๊ก

โดยนายอันวาร์กล่าวว่า วันนี้ต้องการมาขอคำตอบและพูดความจริงที่เกิดขึ้นภายในพรรค ส่วนที่ต้องทำจดหมายเปิดผนึก เพราะมองว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้พูดในที่ประชุมเหมือนครั้งที่ผ่านมา ที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครเป็นเจ้าของนั้น ไม่ใช่ความจริง เพราะวันนี้พรรคมีเจ้าของตัวจริง และเป็นผู้ทรงอิทธิพลภายในพรรค คือนายนิพนธ์ บุญญามณี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตามภารกิจและรองหัวหน้าพรรครักษาการภาคใต้ ที่แม้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.สงขลา) จากการถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ 2 คัน จำนวน 50 ล้านบาท ให้เอกชน และถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้ ซึ่งทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จึงถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวจริง

ส่วนนายนิพนธ์บอกว่า ไม่อยากตอบโต้ เพราะนายอันวาร์เป็นเหมือนน้อง ตนเป็นผู้คัดเลือกนายอันวาร์มาสมัครเป็นส.ส.เองเมื่อปี 2548 จึงไม่ประสงค์ที่จะไปตอบโต้ สงสารน้องด้วยซ้ำ ส่วนตัวไม่มีเจตนาร้ายหรือเรื่องส่วนตัวอะไรกับนายอันวาร์ ตั้งแต่คัดเลือกนายอันวาร์มาเป็นผู้สมัครตัวแทนพรรค ก็ได้ให้การดูแลไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

“ทุกเรื่องผมไม่เคยทำอะไรให้นายอันวาร์เสียหาย เป็นเรื่องที่นายอันวาร์ทำตัวเอง ที่ไม่ยึดถือและเคารพมติพรรค ซึ่งทางการเมืองเราถือว่ามติพรรคเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นไม่อยากไปพูดอะไรมากไปกว่านี้ ถ้าจะน้อยใจบ้างก็น้อยใจว่าข้าวบ้านผมมันไม่มียาง” นายนิพนธ์กล่าว

ขณะที่นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ และจะไม่สอบถามถึงสาเหตุ เพราะที่ผ่านมานายอันวาร์ทำหนังสือมาบ่อยครั้ง และพรรคยังมีภารกิจที่จะต้องเดินไปข้างหน้าจำนวนมาก รวมถึงการประชุมใหญ่พรรคในวันนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้พรรคมีกระบวนการและข้อบังคับอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถจะดำเนินการอะไรที่บิดเบือนข้อบังคับพรรคได้ ส่วนการที่ใครจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อบังคับพรรคที่กำหนดให้เป็นเรื่องการพิจารณาของสมาชิกพรรคในพื้นที่ เพราะขณะนี้ยังจำเป็นต้องทำไพรมารีโหวต และการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ตนคิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องพูดถึงประเด็นดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง