รุมถล่มพท.เตะถ่วงนิรโทษกรรม

วงเสวนานิรโทษกรรมขยี้ "เพื่อไทย" ส่วน  "หมอระวี" แนะใช้ร่างฯ ของก้าวไกลเป็นเชื้อไฟวิป 2 ฝ่ายร่วมเสนอญัตติด่วน เชื่อมีอีกหลายพรรคยื่นเพิ่ม จี้ "พท." เป็นแกนนำ กังขาจ่อตั้ง กก.ศึกษาฯ เพื่อเตะถ่วงรอ "คนชั้น 14" หรือไม่ "สส.ก้าวไกล" เหน็บรัฐบาล พท.อาจแสลงหูคำว่านิรโทษกรรม ย้ำร่างฯ ก.ก.ดูมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก "จตุพร" ลั่นต้องปล่อยทุกคนรวมทั้งคดี ม.112 ด้วย เหตุนักการเมืองจูบปากมีศูนย์รวมใจอยู่ที่ชั้น 14 กันหมด เหลือเพียง ป.ป.ช. "วิชา" กระตุก "ผู้นำ" ต้องมีความกรุณา

ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 วันที่ 29 มกราคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ และเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวทีสาธารณะสภาที่ 3 เรื่อง "ข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง" โดยมีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงาน และผู้ร่วมอภิปรายโต๊ะกลมได้แก่ ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คณะหลอมรวมประชาชน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายยิ่งชีพ  อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) พร้อมด้วยผู้แทนพรรคการเมือง อาทิ  นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ พรรคก้าวไกล

โดย นพ.ระวีกล่าวว่า การนิรโทษกรรมกับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง ถ้าไม่ใช่การนิรโทษประชาชน ก็ไม่ใช่การสมานฉันท์ที่แท้จริง การที่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มรัฐบาลเดิมมารวมกัน จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลปรองดองหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่รัฐบาลประสานผลประโยชน์หรือไม่ หากมีการนิรโทษกรรมทั้งหมดถึงจะเป็นการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจจนถึงปัจจุบัน ก็มีความพยายามหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 62 แต่ในขณะนั้นการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ และแม้ผู้มีอำนาจจะบอกว่าทำได้ และเห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรม  แต่ในที่สุดผู้นำก็ตีตกไป โดยบอกว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย  ทำตามกฎหมายบ้านเมืองดีที่สุด

 “การที่พรรคเพื่อไทยจะตั้งคณะกรรมการศึกษาเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทางการเมือง ผมไม่รู้ว่าคิดอย่างนั้นจริงๆ  หรือต้องการเตะถ่วงรอคนชั้น 14 ไม่รู้จะรออะไร ไม่รู้จะต้องตั้งคณะกรรมการศึกษาไปทำไม ตั้งมาก็เหมือนเดิม” นพ.ระวี กล่าว

นพ.ระวีกล่าวว่า การที่ตนยื่นร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสังคมสันติสุขในช่วงกลางปี 65 นั้น ได้มีการหารือกับแกนนำฝ่ายอื่นๆ รวมถึงพรรคการเมืองด้วย แต่เกิดการยุบสภาไปก่อน คาดว่าในช่วงเดือนมีนาคมนี้ หากกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นก็จะมี 3 ร่างที่จะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุม ตอนนี้ร่างฯ ของพรรคก้าวไกลผ่านแล้ว เรียกว่าเป็นเชื้อไฟที่สามารถยื่นร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาได้แล้ว ถ้า สส.วิปรัฐบาลและ สส.วิปฝ่ายค้านทำร่วมกันได้ ผ่านกระบวนการญัตติด่วน  หากไม่ทำเช่นนั้นอาจจะต้องรอคิวถึง 1 ปี สำหรับการเจรจานอกรอบกับพรรคการเมืองต่างๆ นั้น เกือบทุกพรรคที่ได้หารือล้วนเห็นด้วยกับการให้มีการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น ยังไม่มีพรรคใดปฏิเสธว่าไม่เห็นด้วย

นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องพรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำในสมัยหน้า เพื่อนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาให้ทันสมัยประชุมนี้เร็วที่สุด ความเห็นต่างมีอยู่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไก จุดสำคัญคือเพื่อไทยจะเอาอะไรมาสู้กับก้าวไกลสมัยหน้า ถ้าคุณไม่นิรโทษกรรม นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่คุณจะทำคะแนนได้ ขอเรียกร้องวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านให้มีการพูดคุยกันภายในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดว่าจะให้ สส.พรรคใดเป็นผู้เสนอเลื่อนญัตติด่วน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยโอเค และเรียกร้องต่อฝ่ายประชาชน สถานการณ์การเมืองตอนนี้เป็นเรื่องยากที่พรรคการเมืองจะลงมติเรื่องมาตรา 112 เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ทางที่ดีแกนนำของทุกฝ่ายควรยื่นฎีกาขออภัยโทษเมื่อ พ.ร.บ.นี้เข้าสภา ส่วนตัวเชื่อว่าอาจจะมีข่าวดี คือได้นิรโทษทุกฝ่าย

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีแนวคิดนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกกลุ่ม ไปจนถึงก่อนการรัฐประหาร 2549 เนื่องจากมองว่าประชาชนทุกกลุ่มในทุกช่วงเวลาล้วนแล้วแต่มีความหวังดีกับบ้านเมือง และเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีได้ เพราะฉะนั้นประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ต้องนิรโทษกรรมประชาชนให้กลับออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ทั้งนี้ก็ย่อมเข้าใจรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย เพราะคำว่านิรโทษกรรมอาจเป็นคำแสลงหูที่นำไปสู่ชนวนของการรัฐประหาร แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  นิรโทษกรรมเป็นการหาจุดร่วมของประชาชนที่ได้รับความสมานฉันท์จริงๆ

"ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล มีใจความสำคัญคือ การดูมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ก่อนจะนำมาสู่คณะกรรมการวินิจฉัย เพื่อชี้ขาดว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลจะถูกสั่งให้ถอยในเรื่องมาตรา 112 แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล จะไม่ได้มีการระบุเป็นมาตรา แต่ไม่ได้มีการตัดสิทธิเพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ดังนั้นถ้าเราไม่หลับตาข้างหนึ่งก็จะเห็นปัญหาตรงกัน และไม่มีปัญหากับมาตรานี้" น.ส.ศศินันท์กล่าว

นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า นับแต่สมัย นปช. ตนเป็นผู้ที่โดนคดีมากที่สุด ในความขัดแย้งเดิมคือ แดง-เหลือง  หรือระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ นั้น ในส่วนของนักการเมืองได้คืนดีกันหมดแล้ว จูบปากจัดตั้งรัฐบาลกันหมดแล้ว เหลือในส่วนของประชาชน โดยในส่วนใหญ่อยู่ในสภาพถูกหามไปชุมนุมกันหมดแล้ว ในช่วงรอยต่อของรัชกาลที่ 10 พบว่าคดี 112 ในชั้นศาลทั้งหมด รวมถึงในชั้นอัยการสืบสวน จะยกฟ้องทั้งหมดและอภัยโทษย้อนหลังด้วย ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ผู้ปกครองก็มีส่วน

นายจตุพรกล่าวว่า วันนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เล่าเรื่องนี้ ที่ผ่านมารู้เฉพาะผู้ที่ต้องดำเนินคดี แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ก็ พล.อ.ประยุทธ์การันตีแล้วก็พูดได้พูดเอา  สุดท้ายกลับหลังหันมาดำเนินคดี 112 กันอีกรอบหนึ่ง หลังจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ประสงค์จะดำเนินคดีตามความคิดที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านแล้ว สังคมเราต้องจิตใจใหญ่กว้าง  และต้องเห็นพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ที่ได้ดำเนินการล่วงหน้ากันมาแล้ว ผมไม่ได้วิตกในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หากว่าเข้าบรรจุระเบียบวาระ สามารถเสนอให้ประชุมลับและลงมติ ไม่มีอะไรน่ากลัวในทางปฏิบัติ  ถ้าเราจะเริ่มต้นนับหนึ่งประเทศสักที และเราก็เห็นพระบรมราโชบายของพระเจ้าแผ่นดินมาแล้ว เป็นที่ประจักษ์ 3 ปี มีหลักฐานชัดเจน ไม่มีทางเป็นอื่นเลย ถ้าให้ก็ให้ทุกคน ถ้าไม่ให้ก็ไม่ต้องให้

"อย่าไปเสียเวลากับการตั้งคณะกรรมการศึกษาตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ เพราะจะถ่วง วันนี้ทุกอย่างสมประโยชน์จบกันแล้ว ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน ก็มีศูนย์รวมใจอยู่ที่ชั้น 14 หมดแล้ว แต่เราจะทิ้งบรรดาลูกหลานไม่ได้ หากจะเริ่มต้นการนิรโทษกรรมควรปล่อยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม อย่างน้อยที่สุดผมไม่เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นห่วงมันจะแรงขึ้น มีแต่เพียงเบา" นายจตุพรกล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ศ.วิชา มหาคุณ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการยื่นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ถูกเปลี่ยนชื่อ เพื่อลดแรงเสียดทานทางสังคมว่า ไม่ขัดต่อความเป็นธรรมใดๆ เลย เพราะมีการนำเสนอเพื่อสร้างเสริมสังคมสันติสุข และเป็นเรื่องการคุ้มครอง เพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีในทางยืดเยื้อ ป้องกันการทำให้เกิดความรู้สึกปรปักษ์ต่อกันในทางการเมือง การนิรโทษกรรมแตกต่างจากการอภัยโทษ เพราะการอภัยโทษนั้นเป็นพระราชอำนาจเต็มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการนิรโทษกรรมนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

"แนวทางของการนิรโทษกรรมนั้น การปกครองบ้านเมืองต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาขององค์รัฏฐาธิปัตย์ แม้การปกครองประเทศจะเป็นอำนาจของราษฎร แต่การวางเกมในทางการเมือง เมื่อขึ้นมามีอำนาจสูงสุดแล้วก็ต้องมีความกรุณา จะใช้ความอาฆาตมาดร้ายหรือความพยาบาทต่อกันไม่ได้" ศ.วิชากล่าว.                

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง