ตีปี๊บสมัครสว.แสนราย ขีดเส้นการเมืองอย่าจุ้น

"ประธาน กกต." ตีปี๊บเลือก สว. เปิดเวทีใหญ่ติวเข้มสื่อ ฟุ้งหนักแห่สมัครนับแสนรายแน่ ชี้หนังคนละม้วนยุค 61 รอบนี้เต็มรูปแบบ 3 ระดับ ไม่มี คสช.เกาะหลัง ขีดเส้นพรรคการเมืองอย่าจุ้นเป็นเวที ปชช. ปิดประตูคณะก้าวหน้าโผล่ว่อนในสนาม "ปกรณ์" ห่วงวินิจฉัยคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามผู้สมัครตกม้าตายถือหุ้นสื่อ 

เมื่อวันจันทร์ เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง  ประธาน กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือก สว. พร้อมทั้งพบปะพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางและการบูรณาการความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเลือก สว. โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2560 เคยเลือก สว.มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2561 แต่ตอนนั้นเป็นการเลือกตามแบบบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นการเลือกกันเองรอบเดียว และเป็นการเลือกเฉพาะ 10 กลุ่มอาชีพ ซึ่งยุบรวมมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ แต่ครั้งนี้จะเป็นการเลือก สว.เต็มรูปแบบที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเอง จำนวน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

นายอิทธิพรกล่าวว่า จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้มาสมัครเป็น สว. เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการเลือก สว.ครั้งนี้ โดยวาระของ สว.ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พ.ค. 2567 และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. อีก 15 วันหลังจากนั้นจะมีการรับสมัคร สว.เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วันจะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นอีก 7 วันจัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด  ต่อจากนั้นอีก 10 วันถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ จึงคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม เมื่อรู้ผลแล้วกฎหมายบอกว่าให้ กกต.รอไว้ก่อน 5 วัน เผื่อมีประเด็นอะไรต่างๆ ที่จะต้องทบทวน แล้วจึงประกาศผล

 “ฝากผู้สมัครว่ากรุณาศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามในการสมัครให้ดีๆ และสำรวจตัวเองว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ และกลุ่มอาชีพใด เพราะมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัครให้ถูกกลุ่ม และศึกษารูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและบทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 แก้ไขรองรับออกมาแล้ว และหากมีข้อสงสัยต้องการข้อมูลสามารถสอบถามได้จาก สำนักงานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่างๆ สายด่วน กกต. 1444 หรือแอป Smartvote"  นายอิทธิพรระบุ

นายอิทธิพรกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายระบุว่า กกต.จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ โดยจะได้รับการสนับสนุนชุดปฏิบัติการข่าวและชุดเคลื่อนที่เร็ว หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปที่ กกต.จังหวัดต่างๆ หรือแอปตาสับปะรดได้ ส่วนบุคคลใดที่สามารถแจ้งเบาะแสอันนำไปสู่การกระทำที่ไม่ทุจริตและเที่ยงธรรม มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลตามระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการให้เงินรางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแส โดยรางวัลจะเป็นไปตามลำดับขั้นว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอย่างไร มีจำนวนสูงสุดคือ 1 ล้านบาท

นายอิทธิพรระบุว่า การเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน เมื่อทำการเลือกในระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่ม เป็น 60 คน โดยอำเภอทั่วประเทศคือ 928 อำเภอ เมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน โดยทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด เพื่อเลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นการเลือกระดับประเทศจะเหลือ 200 คน จำนวน 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน

ตั้งเป้าสมัครรับแสนคน

 “แต่ขณะนี้ที่ตั้งเป้าตัวเลข 1 แสนคน เพราะเป็นการเลือกเต็มรูปแบบไม่ใช่บทเฉพาะกาล โดยผู้ที่ได้รับเลือกก็จะได้รับเลือกเลย แตกต่างจากปี 2561 ที่เลือกเพียงรอบเดียว เมื่อได้ 200 รายชื่อในระดับจังหวัดต้องส่งให้ คสช.เลือกอีก 50 คน ดังนั้นปัจจัยการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกับครั้งนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงหวังว่าตัวเลขที่ 1 แสนคนไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ทั้งนี้ย้ำว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ยังมีข้อห้ามหาเสียงเช่นเดิม” นายอิทธิพรระบุ

เมื่อถามว่า มีความพยายามที่จะทำให้ผู้สมัครเป็นที่เข้าใจว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลัง ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า  มาตรา 77 ได้กำหนดโทษเอาไว้แล้ว ส่วนจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ยังไม่แน่ใจ ทั้งนี้เห็นชัดแล้วว่าเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชน ซึ่งเหตุที่จัดให้มีการเลือกโดยประชาชน เพราะเคยมีการจัดให้มีการเลือกตั้งแล้วมีการอิงกับพรรคการเมือง และมีการใช้หัวคะแนน ดังนั้นอะไรก็ตามที่ไม่เป็นการดำเนินการสมัครหรือดำเนินการสมัครด้วยตัวเอง  ก็ถือว่าเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย

เมื่อถามว่า ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมือง จะสามารถลงสมัครได้ต้องเว้นวรรค 5 ปีหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ต้องเว้นวรรค 5 ปี แต่อดีต สว.ที่จะรวมตัวกันส่งผู้สมัครไม่สามารถทำได้ เพราะเฉพาะ สว.เองก็ลงสมัครไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งการรวมตัวจะยิ่งถือว่าไม่เป็นอิสระ และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.ที่จัดให้มีการเลือกในระบบนี้เป็นครั้งแรก ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เข้ามาแทรกแซงก็เสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย

เมื่อถามว่า คณะก้าวหน้าที่ดำเนินการในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น สว.หรือไม่ ประธาน กกต.ย้ำว่า "ไม่สามารถยึดโยงกันได้  เพราะเป็นการให้ประชาชนผู้สนใจมาสมัคร จึงขอให้ยึดมั่นในคำนี้" ขณะที่การตรวจสอบของ กกต.นั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้มายื่นคำร้อง หากมีข้อเท็จจริงว่ากระทำการที่เข้าข่าย หรืออาจจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กกต.สามารถตั้งเรื่องตรวจสอบเองได้

ด้านนายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการ กกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า ทำอย่างไรการตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาสมัครจะทำให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้สมัครหลายหมื่นคน และมีเวลาเพียงแค่ 5-7 วัน ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงแล้วพนักงาน กกต.ไม่สามารถไปเป็นเลขาฯ ได้หมด เช่นกรณีจังหวัดนครราชสีมามี 32 อำเภอ มีพนักงาน กกต.ที่ทำหน้าที่เลขาฯ ได้ไม่ถึง 10 คน นี่คือปัญหาและอุปสรรคของคณะกรรมการระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน จะต้องวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งจะต้องมาดูว่าเคยกระทำความผิดหรือไม่ เคยต้องโทษจำคุกหรือไม่ โทษจำคุกนั้นเป็นลักษณะใด เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่ยุ่งยากมาก

"แต่ที่ยุ่งยากมากกว่าเหมือนที่เป็นข่าวตลอดเวลาคือ เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ คณะกรรมการระดับอำเภอต้องวินิจฉัยดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กกต.กับสำนักทะเบียนพยายามร่วมมือกันทำงานในจุดนี้ กกต.อนุมัติเงินให้สำนักทะเบียนกลางไป 20 กว่าล้านบาทเป็นการเร่งด่วน เพื่อสำนักทะเบียนจะดำเนินการพิจารณาใบสมัคร ตรวจสอบเลขทะเบียน ภูมิลำเนา ส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทางทะเบียนอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ พวกนี้เคยต้องโทษหรือไม่ เคยกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกำหนดหรือไม่ ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งเรากำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนประสานขอความร่วมมือจากเรือนจำและศาลทั่วประเทศ สำนักทะเบียนต่างๆ เพื่อขอทราบสิ่งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว.ไม่เกิดปัญหา” นายปกรณ์ระบุ 

'เต้' ยื่นฟัน 'พิธา-ก้าวไกล'

นายอิทธิพรให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทยว่า พรรคก้าวไกลนั้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา กกต.ก็ได้ขอให้สำนักงานและนายทะเบียนพรรคการเมืองไปศึกษาคำวินิจฉัยและตัวบทของพ.ร.ป.​ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นสำนักงานก็เสนอผลการศึกษาเบื้องต้น  อย่างไรก็ตามยังไม่มีกรอบเวลา แต่กระบวนการนี้คงใช้เวลาไม่เยอะ แต่ก็จะดำเนินการอย่างไม่ชักช้า

 “ส่วนคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยนั้น กกต.ได้รับคำร้อง โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างกันพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่าคำร้อง ข้อเท็จจริงตามที่มีอยู่นั้นถือว่ามีมูลหรือไม่ หากเห็นว่ามีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเสนอความเห็น และหากเห็นว่ามีมูลจะต้องดำเนินการต่อไป ก็จะเสนอ กกต. เรื่องนี้จะดำเนินการโดยไม่ล่าช้า ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ 30 วัน หรือ 60 วัน  แต่ก็ต่ออายุได้ เพราะกระบวนการนอกจากรวบรวมข้อมูลแล้ว ยังต้องมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล โดยหลักเราพยายามทำในกรอบเวลา” ประธาน กกต.ระบุ 

ที่ศูนย์รับแจ้งความ บช.ก. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ฉบับเต็มรวม 32  หน้า มามอบให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีอาญากับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้บริหารพรรคก้าวไกล รวม 10 ราย โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความชัดเจนว่า การกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นความผิดร้ายแรง  แต่เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เชื่อว่าหากพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจะมีผู้ถูกออกหมายจับ  อาจต้องโทษถึงประหารชีวิตถึง 10 ราย และจำคุกตลอดชีวิตอีกหลายคน

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงผลซูเปอร์โพลที่ระบุว่าประชาชนพึงพอใจการทำงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ให้โอกาสอยู่ครบวาระว่า หน้าที่มีเยอะ ดังนั้นต้องทำต่อไป ตนยังทำไม่ดีพอ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ

เมื่อถามว่า ผลสำรวจที่ออกมาทำให้ใจชื้นขึ้นหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ทราบอย่างเดียวว่ามีภารกิจอีกเยอะมากที่ต้องทำ โดยระหว่างเดินทางมาสนามบินได้โทรศัพท์สั่งงานมาโดยตลอด ทั้งเรื่องของความมั่นคง เรื่องปัญหาชายแดนที่กำลังดำเนินการอยู่

ถามว่า ผลสำรวจออกมาแบบนี้ประชาชนพอใจ แต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมืองว่า นายกฯ เดินสายปฏิบัติภารกิจหลักแค่การลงพื้นที่ต่างจังหวัดและบินไปต่างประเทศ นายเศรษฐากล่าวว่า ให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์  บางเรื่องต้องทำไปก่อนแล้วค่อยๆ มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น เชื่อว่ากลับมาวันที่ 15 มี.ค.หรือวันที่ 16  มี.ค.จะมีการแถลงผลการทำงานของรัฐบาลครบ 6 เดือน  ว่าที่เราทำงานมา 6 เดือน มีความคืบหน้าในด้านใดบ้าง  ทั้งเรื่องการพูดคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายว่าสำเร็จไปถึงขั้นตอนไหนบ้างแล้ว ตามที่ได้รับเสียงสะท้อนมาว่า แค่ไปต่างประเทศก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ดังนั้นตนรับฟังและจะมาชี้แจง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง