‘ตะวัน-แฟรงค์’ชวดประกัน ‘ไมค์’เบี้ยวฟังคำพิพากษา

ศาลไม่ให้ประกัน "ตะวัน-แฟรงค์" ชี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หลังพ่อยื่นครั้งที่ 7 หวั่นเสียชีวิต ออกหมายจับ “ไมค์ ระยอง” เบี้ยวฟังคำพิพากษาคดี 112 ปรับนายประกัน 9.5 หมื่นบาท นัดอีกครั้ง 8 พ.ค.นี้ "พีมูฟ" ร้อง ปธ.กมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบการบังคับใช้ "พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ"  ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ปชช.

 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายสมหมาย ตัวตุลานนท์  บิดาของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  หรือตะวัน เดินทางมาเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวบุตรสาว และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์  จำเลยในคดีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากกรณีโพสต์คลิปบีบแตรรถตำรวจรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมทางการเมืองอิสระ เดินทางมาให้กำลังใจด้วย

นายนภสินธุ์กล่าวว่า พ่อของตะวันมายื่นขอประกันตัวต่อศาล เนื่องจากว่าอาการของตะวันและแฟรงค์ทรุดหนักลง ซึ่งยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องฝากขังตะวันและแฟรงค์ และสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้คือการตรวจสอบกล้องหน้ารถของประชาชน แต่กล้องหน้ารถเป็นของประชาชนคนไหนตนไม่ทราบ ทั้งสองคนเป็นแค่เยาวชนคนหนึ่ง ไม่ใช่มาเฟีย ไม่มีเหตุอันใดเลยที่เขาสามารถไปคุกคามข่มขู่พยานเหล่านั้นได้ นอกจากนั้นทั้งสองคนยังคงเจ็บป่วยอยู่ ขณะที่กำลังอดน้ำอดอาหารอยู่ กระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่ได้มอบความยุติธรรมให้กับพวกเขา

น.ส.อรวรรณกล่าวว่า ค่าโพแทสเซียมของตะวันและแฟรงค์ต่ำมาก และแพทย์แนะนำให้รับการรักษา หากไม่รักษาจะมีอาการก่อนที่จะเสียชีวิตคือแน่นหน้าอก หรือบางคนอาจจะปากเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ได้ ตาหูอาจจะได้ยินแต่ตอบสนองไม่ได้ และทั้งสองก็ยังคงปฏิเสธการรักษา ทั้งนี้ ฝากไปถึงกระบวนการยุติธรรมว่าสิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเอาไว้ว่า การประกันตัวควรที่จะต้องให้เนื่องจากว่าทั้งสองคนเป็นแค่เพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด แต่ยังไม่ได้ถูกศาลตัดสินว่ากระทำความผิด ส่วนการขอประกันตัวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตะวันและแฟรงค์เป็นครั้งที่ 7 โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง

วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 714 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี อ.2380/2564 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก อายุ 28 ปี แกนนำม็อบคณะราษฎร เป็นจำเลย ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 8 ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว

อัยการโจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. เวลากลางคืน ถึงวันที่ 7 ธ.ค.2563 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กใช้ชื่อบัญชี “ภาณุพงศ์ จาดนอก” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 9 หมื่นคน ได้โพสต์ข้อความลักษณะหมิ่นสถาบันฯ ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายของพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยการโพสต์ของจำเลยดังกล่าว ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้ามาแสดงความคิดเห็น และแชร์ข้อความ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 25 ม.ค.2563 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบและทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่า จำเลยให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่ ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง, ต.บ้านคลอง อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก และท้องที่อื่นทั่วราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัด ปรากฏว่านายภาณุพงศ์และทนายความไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีเพียงนายประกันมาศาล ซึ่งแถลงต่อศาลว่า ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทราบนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับมาฟังคำพิพากษา และริบหลักประกันเต็มจำนวน 9.5 หมื่นบาทด้วย โดยนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งวันที่ 8 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ที่รัฐสภา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

โดยตัวแทนพีมูฟระบุว่า เป็นกลุ่มประชาชน คนจน เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ ในด้านที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องกับรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ครั้งล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 5-28 ก.พ. รวมทั้งสิ้น 24 วัน ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมหลังจากบรรลุข้อเรียกร้อง อาทิ การเดินหน้าแนวทางการจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน การเร่งรัดให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ..... การแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดยถือเป็นสัญญาร่วมกันระหว่างพีมูฟกับรัฐบาล จนมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 และมติ ครม. วันที่ 16 ต.ค.66 รับทราบผลสรุปการประชุมของพีมูฟ             

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการชุมนุม ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหาส่งมาถึงนายจำนงค์ หนูพันธ์ แกนนำพีมูฟ และนายธีรเนตร ไชยสุวรรณ โดยมีข้อกล่าวหาคือ เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ฝ่าฝืนคำสั่งประกาศ 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาล ในคดีอาญา สน.ดุสิตที่ 41/2567, 63/2567, 64/2567 และนัดหมายให้ไปพบพนักงานสืบสวนสอบสวน ณ สถานีนครบาลสวนดุสิต วันที่ 21 มี.ค. เวลา 11.00 น. หลังจากนั้นพีมูฟและทีมทนายได้ทำเรื่องถึง สน.ดุสิต เพื่อขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 28 มี.ค. เวลา 10.00 น.

ซึ่งพีมูฟยืนยันจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เพราะได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย นับเป็นการถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากการชุมนุมในรัฐบาลเศรษฐา เราเห็นว่าบรรยากาศการบังคับใช้กฎหมายปิดปากประชาชนเช่นนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นในรัฐบาลที่อ้างตัวว่ามาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาล ที่จะกระทำต่อผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหลังจากนี้ด้วยเช่นกัน

จึงขอเรียกร้องมายัง กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ดังนี้ 1.ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ โดยเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผกก.สน.ดุสิต รวมถึงตัวแทนของพีมูฟ เข้าชี้แจงเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิในการชุมนุมของประชาชน 2.เร่งประสานภาคส่วนต่างๆ  เพื่อหาแนวทางแก้ไขข้อจำกัดหรือยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถจัดการชุมนุมได้อย่างสันติ แต่กลับถูกนำมาจำกัดสิทธืเสรีภาพของประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง