ผู้ว่าฯธปท.ชิ่งตอบ‘ดิจิทัล’ คลังโวเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

“ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ชิ่งตอบทุกคำถาม อุบเห็นด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้วหรือไม่ หลัง “เศรษฐา” อ้างทุกภาคส่วนเห็นด้วยแล้ว    "ภูมิธรรม" มั่นใจ 10 เม.ย. มีความชัดเจนและประกาศวันที่ ปชช.จะได้รับเงิน 1 หมื่นไปใช้ "คลัง" กางตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.2567 ปลื้มยังโตไม่หยุด รับอานิสงส์ส่งออกทะยาน 7 เดือนติด ท่องเที่ยวยังแรง พร้อมเกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจใน-นอกประเทศ หวั่นกระทบภาคการผลิต

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.05 น. วันที่ 28 มีนาคม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม

ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า  ธปท.ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทอย่างไร หลังจากอ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว แต่นายเศรษฐพุฒิไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

เมื่อถามอีกว่า มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ หากใช้งบประมาณปกติในการดำเนินโครงการ แต่นายเศรษฐพุฒิก็ยังไม่ตอบคำถาม และพยายามหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์

ผู้สื่อข่าวจึงพยายามสอบถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า ทุกภาคส่วนเห็นด้วยแล้ว รวมถึงผู้ว่าฯ ธปท. แต่นายเศรษฐพุฒิก็ไม่ได้ตอบคำถามเช่นกัน ก่อนจะขึ้นรถยนต์เดินทางออกจากทำเนียบฯ ไป

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital  Wallet ครั้งที่ 2/2567  ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธาน ในที่ประชุมช่วงต้น นายกฯ  ได้มองหานายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. พร้อมสอบถามว่า "ท่านผู้ว่าฯ ติดภารกิจหรือครับ" ทำให้นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินกล่าวตอบว่า “ท่านผู้ว่าฯ ติดภารกิจไปต่างประเทศ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า รัฐบาลยืนยันโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ได้ผลข้อสรุปต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปจัดรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น และให้นำผลสรุปไปเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยคาดว่าจะได้ผลสรุปความชัดเจนของโครงการทั้งหมดได้ โดยเฉพาะกรอบวงเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท จะใช้เงินกู้หรือในกรอบวงเงินงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะไปจัดทำตรงนี้ให้มีความชัดเจนอีกครั้ง

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้ไปดูในเรื่องของร้านค้าที่จะให้บริการแก่ประชาชนนั้น ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะร้านค้าที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมมืออยู่มีมากกว่า 20,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และโครงการนี้จะเปิดกว้างพร้อมที่จะให้โอกาสร้านค้าที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า หากสนใจที่จะเข้ามาร่วมก็สามารถเข้ามาได้ โดยจะมีข้อกำหนดการเข้าร่วมกันอีกที เพื่อจะได้บริการประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคได้อย่างทั่วถึง

 “เชื่อว่าการประชุมวันที่ 10 เม.ย.ทุกอย่างจะมีความชัดเจน และประกาศวันที่ประชาชนจะได้รับเงิน 10,000 บาทไปใช้กัน ซึ่งกำหนดใช้เงินภายใน 6 เดือน รัศมีจะอยู่ในตำบลหรือสถานที่ใกล้เคียง โดยรัฐบาลคาดหวังโครงการนี้เป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับเงินไปใช้อย่างแน่นอน ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจโครงการนี้เกิดขึ้นและมีแนวทางป้องกันปัญหาทุจริตทุกด้านสามารถตรวจสอบได้” นายภูมิธรรมกล่าว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  เน้นย้ำในการทำงานของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญว่าประเทศไทยต้องฟื้นตัวได้ในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน  ประเทศไทยจึงยังต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม  ป้องกันปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จึงมีข้อสรุปว่าโครงการ Digital Wallet มีความจำเป็น ที่จะช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่น สร้างโมเมนตัมให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ        "โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปโดยคำนึงถึงความเห็นของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ แต่ต้องเป็นไปภายใต้วินัยการเงินการคลังของรัฐ” นายชัย กล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้า ที่ขยายตัว 3.6% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 3.35 ล้านคน คิดเป็น 58.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยถึง 22.2 ล้านคน ขยายตัว 9.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.7% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.8 จากระดับ 62.9 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และสูงสุดในรอบ 48 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -29.4% ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -15.4%

 “การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าข้าว ยางพารา นมและผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวได้ดีตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย ชะลอตัว ขณะที่ตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดทวีปออสเตรเลีย สหรัฐ และอินโดจีน-4 รวมทั้งกลุ่มตลาดอื่นๆ อาทิ ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS)” นายพรชัยกล่าว

สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.5% จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ข้าวโพด ยังคงขยายตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.0 จากระดับ 90.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.พ.2567 อยู่ในระดับสูงที่ 251.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง