‘รุ้ง’ได้ประกันตัว ปลดกำไลอีเอ็ม ป้องสถาบันพรึ่บ

"รุ้ง" ได้ประกันตัวถึง 16 มิ.ย. คดีปักหมุดสนามหลวง เจ้าตัวหวังเพื่อนได้ออกคุกเร็วๆ นี้ ศาลอยุธยาปล่อยตัวชั่วคราวอีกคดี ปลดกำไลอีเอ็มได้ ปกป้องสถาบันพรึ่บ 4 ภาค! อดีตหมู่บ้านเสื้อแดงน้อมรำลึก "ในหลวง ร.9" ทุกวันที่ 13 ของเดือน

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่่ 13 มกราคม เวลา 10.00 น. ศาลนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 (คดีชุมนุมปักหมุดสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563) ให้ปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎรต่อหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการประกันตัวพร้อมเงื่อนไข จนครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 โจทก์, น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง จำเลยที่ 5 และนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บิดาและมารดา จำเลยที่ 5 และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาฟังคำสั่งศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากที่ศาลได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอย่างจำกัด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2564 จนถึงวันที่ 12 ม.ค.2565 โดยวางเงื่อนไขต่างๆ ให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 5 ขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ต่อเนื่องไป เพื่อที่จะทำการเรียนและสอบให้สำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปี 4 ซึ่งจะต้องมีการทำการวิจัยส่วนบุคคลเพื่อจบการศึกษา ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและเก็บข้อมูลภาคสนามและทำรายงาน จำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ออกนอกราชอาณาจักร ตลอดจนถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลจะกำหนด ซึ่งมี ผศ.ดร.บุญเลิศรับจะกำกับดูแลให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด

ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างจำกัด ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด ไม่ประพฤติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามที่ศาลกำหนดไว้ กรณีจึงไม่ปรากฏพฤติการณ์ในอันที่จะทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปก่อภยันอันตรายอื่นในช่วงเวลานี้แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามคำรับรองของอาจารย์ผู้ดูแล จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ในระยะเวลาจำกัดต่อไป นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย.2565 โดยมีประกันในวงเงิน 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยที่ 5 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยที่ 5 เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยที่ 5 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ตั้ง ผศ.ดร.บุญเลิศ เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 5 ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยชั่วคราวอันจำกัดนี้ และให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวและส่งตัวภายในวันที่ 16 มิ.ย.2565 เวลา 10.00 น. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังฟังคำสั่ง นายกฤษฎางค์ให้สัมภาษณ์ว่า เงื่อนไขที่ศาลกำหนดออกมา เป็นการห้ามในกรณีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ได้ห้ามการไปชุมนุม โดยศาลได้ยืนยันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความวุ่นวาย คงเป็นรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวังตัว เพราะในขณะนี้มีหลายฝ่ายที่เขาอาจจะมีความประสงค์ให้ น.ส.ปนัสยาไม่ได้รับการประกันตัว อาจจะใช้คำสั่งศาลมาเป็นข้ออ้าง

น.ส.ปนัสยากล่าวว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องอยู่ที่บ้าน 24 ชั่วโมง แต่เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาคือ ‘ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน’ ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตกับเงื่อนไขดังกล่าว และมองว่าเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ต้องมีก็ได้ จะให้ประกันตัวแบบไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาทุกคนน่าจะทราบกันดีว่าเป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตน

 “นักโทษทางการเมืองหรือใครก็ตาม ทุกคนควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยเฉพาะผู้ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ อย่างเรา หรืออย่างเบนจา (อะปัญ) หรือเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เอง ที่ต้องลงทะเบียนเรียน พวกเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เล่าเรียนต่อ แต่ก็คาดหวังว่าเพื่อนเราจะได้ออกมากันในเร็วๆ นี้ ได้ออกกลับมาเรียนหนังสือ” น.ส.ปนัสยาระบุ

ต่อมาเวลา 13.00 น. ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา ในคดีชุมนุมปราศรัย #อยุธยาจะไม่ทน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 โดยมีการถ่ายทอดวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังศาลอาญา

จากนั้นนายกฤษฎางค์เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จากเดิมที่ครบกำหนดวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ไปจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น ซึ่งนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 ก.พ.นี้ โดยไม่มีเงื่อนไขอื่น ให้ปลดกำไลข้อเท้าอีเอ็มได้ และไม่จำกัดเวลาการอยู่ที่บ้าน ยกเว้นเรื่องห้ามไปกระทำการใดๆ ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามไปร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง และห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นก็มีเฉพาะศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ห้ามออกจากบ้านเวลา 18.00-06.00 น. ติดกำไลข้อเท้าอีเอ็ม อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน เพราะว่าช่วงนี้เป็นปีสุดท้ายก่อนจะเรียนจบ คงจะปรึกษากับพ่อแม่ของ น.ส.ปนัสยา แล้วอาจจะทำหนังสือชี้แจงขอความกรุณาจากศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ช่วยลดเงื่อนไขได้หรือไม่

วันเดียวกันนี้ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว น.ส.เบนจา อะปัญ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ใน 2 คดี ซึ่งนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ให้นัดฟังคำสั่งพรุ่งนี้ 14 ม.ค.2565 เวลา 14.00 น."

ที่หอประชุมเทศบาลตำบลขามเรียง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม นายอานนท์ แสนน่าน ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย นางนิตยา นาโล อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคอีสาน ได้ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นักการเมืองท้องถิ่น และพสกนิกรชาวเทศบาลตำบลขามเรียง ได้จัดพิธีจุดเทียนชัยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะถึงในวันที่ 13 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 ให้ดำเนินการจุดเทียนชัยน้อมรำลึกทุกวันที่ 13 ของเดือน ไปจนถึง 13 ตุลาคม แล้วจัดงานใหญ่ร่วมกับทางรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ในหลายจังหวัดได้จัดกิจกรรมจุดเทียนน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่นกัน อาทิ ที่หอประชุมโรงเรียนบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ นำโดยนายสมชัย แสงทอง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคเหนือ ที่อาคารหอประชุมโรงเรียนบ้านทุ่งเกราะ ต.โมคลาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นำโดยนายทวี ประหยัด อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคใต้ ที่ท่าเรือหนองเล็งทราย บ้านสันสลี ต.เจริญราช อ.แม่ใจ จ.พะเยา นำโดยนางบุญญิสา อินทร์จันทร์ อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงจังหวัดพะเยา รวมถึงที่สำนักงานเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นำโดยนายไวทิต ศิริสุวรรณ อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคกลาง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง