โอมิครอนย่อย พบ14รายดับ1 สธ.ชี้อย่าวิตก

ยอดติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัว 7,587 ราย เสียชีวิต 19 ราย "กรมวิทย์" เผยคนไทยป่วยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้ว 14 ราย ดับ 1 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียงมีโรคประจำตัว "สธ." รับมอบไฟเซอร์สูตรเด็ก 5-11 ปีแล้ว 3 แสนโดส ประเดิมฉีดครั้งแรกที่ รพ.เด็ก 31 ม.ค.นี้  ยันอาการหลังฉีดไม่รุนแรง 1-2 วันหายได้เอง

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,587 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,325 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,267 ราย ค้นหาเชิงรุก 58 ราย เรือนจำ 106 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 156 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,801 ราย อยู่ระหว่างรักษา 81,299 ราย อาการหนัก 519 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 97 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 6 ราย หญิง 13 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 15 ราย มีโรคเรื้อรัง 2 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 2,398,944 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,295,569 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,076 ราย ยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 25 ม.ค. เพิ่มขึ้น 421,737 โดส ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 113,181,596 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,683 ราย,  สมุทรปราการ 644 ราย, ภูเก็ต 343 ราย,  ชลบุรี 335 ราย, นนทบุรี 324 ราย,  ขอนแก่น 225 ราย, ปทุมธานี 213 ราย,  ฉะเชิงเทรา 159 ราย, ราชบุรี 137 ราย และสมุทรสาคร 132 ราย 

ขณะที่​ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 ว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้ว 14 ราย โดยพบมาตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2565 แต่ที่ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบจนกว่าจะแน่ใจ

"โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่พบในปัจจุบัน ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าการแพร่ระบาดนั้นจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ ในขณะที่สายพันธุ์ BA.1 ยังพบมากกว่า แต่ถ้าสัดส่วนของ BA.2 เปลี่ยนจากตอนนี้ที่มีอยู่ร้อยละ 2 และเพิ่มมาเป็นร้อยละ 5 หรือ ร้อยละ 10 ก็อาจจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องอาการป่วยหนักนั้น จาก 14 รายที่พบขณะนี้ แบ่งออกเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย และพบติดเชื้อในประเทศ 5 ราย มี 1 รายที่เสียชีวิตคือผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคประจำตัว" นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในภาพรวมเราส่งข้อมูลของโอมิครอนทั้งหมดประมาณ 7,000 ราย ให้ทางกรมการแพทย์พิจารณา เบื้องต้นพบมีผู้เสียชีวิต 7 ราย ที่เกิดจากโอมิครอน คิดเป็นร้อยละ 0.1 เท่านั้น ซึ่งอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ท้ายที่สุดแล้วถ้าสายพันธุ์เดลตาจะถูกแทนด้วยสายพันธุ์โอมิครอน เดลตาที่กลายพันธุ์อาจจะไม่มีความหมายอะไร เพราะคนที่ติดเชื้อส่วนมากกลายเป็นโอมิครอนแล้ว ก็มาจับตาดูโอมิครอนแทน

"เราก็คงเหมือนหลายๆ ประเทศในโลกนี้ ที่คาดว่าในเดือน ก.พ.น่าจะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ โดยจะมีการแพร่เชื้อได้มาก ได้เร็ว แต่อัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตก็จะน้อย อย่างไรก็ตามยังจะต้องบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีโรคเรื้อรัง สูงอายุ เพราะถ้าเรามาดูถึงข้อมูลยิ่งชัดเจนที่คนที่มีร่างกายแข็งแรง ได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสที่จะเสียชีวิตมีน้อยมาก แต่ถ้ายิ่งอายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

ถามว่า กรณีสายพันธุ์ย่อย BA.2 ทั่วโลกพบเท่าไร มีโอกาสกลายพันธุ์อีกหรือไม่ และควรเฝ้าระวังอย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากถามว่ามีเท่าไร เราคงต้องใช้สัดส่วนจากรายงาน โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 พบ 11,000 ราย BA.1 พบ 420,000 ราย ก็ประมาณ 1 ใน 40 เศษๆ​ แต่เราจะใช้สัดส่วนนี้ทั้งหมด 100% เลยไม่ได้ แต่เราใช้สัดส่วนแบบคร่าวๆ ในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก ที่พบว่าสัดส่วน BA.2 มากขึ้น เราก็จะจับตาดูต่อไป ในขณะที่ประเทศไทยที่พบโอมิครอนแล้วกว่า 10,000 ราย แต่พบเป็น BA.2 อยู่ที่ 14 ราย เราก็จะดูในสัปดาห์ต่อๆ ไปว่าจะมีโผล่เพิ่มอีกเยอะอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร เพราะเขาไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด ส่วนการกลายพันธุ์อื่นทั่วโลกต้องช่วยกันเฝ้าระวัง

ซักว่าชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิต (ATK) ยังจะสามารถตรวจจับเชื้อ BA.2 ได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร ยังสามารถตรวจจับได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีตรวจ RT-PCR หรือตรวจด้วย ATK

นพ.ศุภกิจปฏิเสธที่จะยืนยันเชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อใด โดยระบุว่า ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าวันเวลาไหน แต่ธรรมชาติจะบอกให้เราเห็นเอง เช่น ไม่มีคนเสียชีวิตแล้ว หรือต่อไปอาจจะไม่ต้องตรวจแล้ว หรือป่วยก็ไปรักษา เพราะอาการอาจจะไม่หนักแล้ว แต่ที่เรากลัวคือถ้ามีการกลายพันธุ์ เป็น Variant ตัวใหม่ที่ไม่ใช่โอมิครอน และพฤติกรรมของมันอาจจะไม่ใช่แค่แพร่เร็ว แต่อาจจะรุนแรงกว่า แต่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นคือเราสามารถอยู่ด้วยกันได้

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวทางการกระจายวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีว่า วันที่ 26 ม.ค. ไทยได้รับวัคซีนดังกล่าวมาแล้ว 3 แสนโดส โดยวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็กฝาสีส้ม ขณะนี้เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. จะฉีดในเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี ตามขนาดและข้อมูลใช้ที่กระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำ ซึ่งทางผู้ผลิตแจ้งว่าจะส่งมอบวัคซีนดังกล่าวให้ไทยในช่วงไตรมาสแรกจำนวน 3.5 ล้านโดส

"กลุ่มเป้าหมายแรกที่จะเริ่มฉีดให้ก็คือกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัวป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะระบบทางประสาทรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า จะเริ่มคิกออฟฉีดวันแรกที่รพ.เด็กในวันที่ 31 ม.ค.นี้ และกระจายฉีดตาม รพ.ต่างๆ" นพ.โอภาสกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในส่วนเด็กที่เป็นนักเรียนในระบบสถานศึกษา ระดับชั้น ป.1-ป.6 และก่อนประถมศึกษา จะกระจายฉีดให้ตามโรงเรียน ตามความพร้อมของแต่ละแห่ง สำหรับเด็กที่เรียนโฮมสกูล ให้ไปฉีดที่โรงพยาบาล เช่นเดียวกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่มีอายุ 5-11 ปีที่เรียนอยู่นอกระบบการศึกษา หรือเป็นเด็กที่ตกค้างและยังไม่ได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนสูตรเด็กฝาสีส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ระยะห่าง 3-12 สัปดาห์ หากเด็กที่ได้รับวัคซีนมีอายุครบ 12 ปี หลังได้รับวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยไฟเซอร์สูตรสำหรับผู้ใหญ่ ฝาสีม่วง ขนาด 30ไมโครกรัม หากได้รับเข็มที่ 2 ขนาด 10ไมโครกรัม ก็ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับวัคซีนครบถ้วนและไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ

สำหรับอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน เช่น มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวด บวม มีรอยแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดเสมอ

จ.นครราชสีมา มีรายงานว่าในการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดนครราชสีมา ที่มีนายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รอง ผวจ.นครราชสีมา แสดงความกังวลการแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ หลังมีการเกิดคลัสเตอร์ 11 คลัสเตอร์ เป็นของเก่า 7 คลัสเตอร์ และคลัสเตอร์ใหม่ 4 คลัสเตอร์คือ แคมป์ก่อสร้าง อ.สีคิ้ว มีพนักงานทั้งหมด 121 คน ติดเชื้อจำนวน 27 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 16 ราย เสี่ยงต่ำ 78 ราย ทีมสอบสวนโรคค้นหาตรวจมาตรการเข้มข้นมีการทำบับเบิลแอนด์ซีลเข้มข้น อยู่ในความดูแลของ ศปก.อ.สีคิ้วใกล้ชิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง