ของแพงดันเงินเฟ้อพุ่ง ควักอีก70สต.อุ้มดีเซล

เอกชนหวั่นราคาสินค้าขึ้นพรวด ดันเงินเฟ้อทะยาน ไตรมาสแรกอาจแตะ 3% วอนรัฐคุมราคาสินค้า-พลังงานช่วยประชาชน พร้อมคงจีดีพีปี 65 ที่ 3-4.5% จ่อคุยคลังขยายเวลาช้อปดีมีคืน “สุพัฒนพงษ์” ย้ำรัฐบาลทำเต็มที่แก้น้ำมันพุ่ง-ของแพง กบน.ไฟเขียวควักเงินกองทุนเพิ่มอีก 70 สตางค์ ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และ ส.อ.ท. ประจำเดือน ก.พ.65 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สถานการณ์การปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ โดยเฉพาะในหมวดอาหารสดและพลังงาน ทยอยปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก อาจส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะชะลอการบริโภคลง ประกอบกับประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น สะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทำให้ราคาสินค้าและบริการในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งในกรณีที่แย่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสแรกของปี 2565 อาจพุ่งสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

 “ที่ประชุม กกร.จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในกรอบ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้อยู่ที่ 1.2-2% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้” นายสุพันธุ์ระบุ

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ปี 65 ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จะกดดันให้การค้าโลก รวมถึงการค้าระหว่างไทยและรัสเซียได้รับผลกระทบ แต่หากทางรัสเซียตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จะยิ่งกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตราเงินเฟ้อ

ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบกับผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้า ขอให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่ เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน และขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เตรียมเข้าหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เพื่อหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติม โดยเฉพาะการขยายเวลาโครงการช้อปดีมีคืน ที่จะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. เนื่องจากโครงการเริ่มช้า ระยะเวลาน้อย ทำให้ยอดการใช้จ่ายน้อย จากที่ภาคเอกชนพยายามเสนอปรับเปลี่ยนโครงการจากยิ่งใช้ยิ่งได้ มาเป็นช้อปดีมีคืน ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งเสนอเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง เพราะวงเงินปัจจุบัน 1,200 บาท ประชาชนมองว่ายังน้อยเกินไป ซึ่งเป็นโครงการที่กระตุ้นใช้จ่ายได้จริง อาจจะหารือว่ากลับมาเป็นวงเงิน 1,500 บาทได้หรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ ​พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีปัญหาราคาสินค้าสูงขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายใน แต่เป็นปัจจัยภายนอก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลทำให้ดีที่สุดที่จะประคับประคอง เราเชื่อว่าปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาถาวร ทั้งนี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เผยว่านักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีนี้เป็นบวก คือดีขึ้นกว่าเดิม ถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี

มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์เป็นประธาน ได้เห็นชอบใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคากลุ่มดีเซลเพิ่มอีกลิตรละ 70 สตางค์ มีผลตั้งแต่ 3 ก.พ.เป็นต้นไป ส่งผลให้การชดเชยกลุ่มดีเซลเพิ่มจาก 3.09 บาทต่อลิตรเป็น 3.79 บาทต่อลิตร เนื่องจากผลจากระดับราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงเพิ่มสูง ขณะที่รัฐมีนโยบายตรึงราคากลุ่มดีเซลบี 7 ที่เป็นเกรดเดียวเอาไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดผู้ค้าเมื่อ 2 ก.พ. ติดลบ 0.119 บาทต่อลิตรส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมัน โดยเฉพาะ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ กับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ที่ยังคงตรึงราคาดีเซลไว้ตามนโยบายต้องแบกรับภาระมากขึ้น มาตรการครั้งนี้จึงเป็นการผ่อนคลายภาระผู้ค้าที่จะยังคงดำเนินนโยบายตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตรได้ต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้เห็นชอบในการลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี 100) ในดีเซลให้เหลือไม่ต่ำกว่า 5% และสูงสุดไม่เกิน 7% มีผลตั้งแต่ 5 ก.พ.-31 มี.ค. แล้วแต่ช่วยลดต้นทุนได้เพียง 50-60 สตางค์ต่อลิตร

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะสุทธิกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 30 ม.ค.65 ติดลบ 14,080 ล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากการตรึงราคาแอลพีจี ไว้ไม่เกิน 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 1,900 ล้านบาทต่อเดือน และเงินไหลออกจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง