ไทยลงทุนสหรัฐ หนึ่งในอาเซียน เอกชนพร้อมลุย

"นลินี" ลั่นไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน ที่ลงทุน-จ้างงานมากสุดในสหรัฐฯ แย้มหากสถานการณ์เอื้ออำนวย เอกชนไทยพร้อมลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ "เพื่อไทย" ชี้รัฐบาลต้องเร่งสื่อสารสร้างเชื่อมั่น ปมทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้า

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม SelectUSA Investment Summit 2025 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้นำคณะผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนไทยเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกับพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจของสหรัฐฯ รวมถึงแสดงออกถึงศักยภาพของเอกชนไทยในการลงทุนและสร้างงานเพิ่มเติมในสหรัฐฯ                                     

ทีมประเทศไทยที่นำโดยนางนลินี ประกอบด้วยนายชุตินทร คงศักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึง ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะผู้บริหารจากบริษัทเอกชนชั้นนำของไทย เช่น ปตท.สผ., เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), อินโดรามา เวนเจอร์ส, เอสซีจี แพคเกจจิ้ง, ไทยซัมมิท และบ้านปู โดยมี ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ทำหน้าที่หัวหน้า “ทีมประเทศไทย” ในสหรัฐฯ รับบทบาทประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานสหรัฐฯ รวมถึงจัดการนัดหมายคณะ                          

นางนลินีกล่าวว่า เรามาที่นี่เพื่อแสดงศักยภาพของเอกชนไทยในตลาดสหรัฐฯ และสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและสมดุล ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความเป็นพันธมิตร และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา เราพร้อมจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สมดุล  เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ร่วมกัน                                           

นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีการลงทุนและการจ้างงานในสหรัฐฯ มากที่สุด โดยมีมูลค่ารวมกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างการจ้างงานไม่น้อยกว่า 15,000 ตำแหน่ง สะท้อนถึงบทบาทของไทยในฐานะพันธมิตรด้านเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งหากสถานการณ์การลงทุนเอื้ออำนวย ไทยมีศักยภาพที่จะขยายการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้ บริษัทไทยจำนวนมากไม่ได้มองสหรัฐฯ เป็นเพียงตลาดส่งออกเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของสหรัฐฯ ในฐานะฐานการผลิตระดับโลก โดยมีแผนจัดตั้งหรือขยายโรงงานเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยง ลดแรงต้านด้านการค้า และสร้างห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain)  ที่เข้มแข็งและยั่งยืน ไทยต้องการให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ  เป็นไปในลักษณะ “หุ้นส่วนแบบวิน-วิน (Win-Win Partnership)” โดยเฉพาะในสาขาพลังงานและเกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองประเทศมีศักยภาพเสริมกันได้อย่างดี ไทยมีทรัพยากรและแรงงานที่มีคุณภาพ ขณะที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคง                 

โดยในช่วงการประชุม SelectUSA 2025 คณะของไทยยังมีกำหนดเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ นักลงทุนรายสำคัญและหอการค้าท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น พลังงานสะอาด, เทคโนโลยีชีวภาพ, สุขภาพ และ AI                                                   

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ระบุว่า ประชาชนกว่า 76% ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยนายนพดลกล่าวว่า หากผลโพลดังกล่าวมาจากการดำเนินการที่มีมาตรฐาน รัฐบาลควรรับฟังและชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน ทั้งกรอบเวลาการดำเนินการและสาระสำคัญที่จะนำไปเจรจากับสหรัฐฯ ในภาพรวม           

นายนพดลยังเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย ภาคเอกชน หอการค้าและสมาคมเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลเองก็รับฟังอยู่แล้ว ทั้งนี้สาเหตุที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น อาจเป็นเพราะยังไม่ทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง การที่นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงจึงเป็นประโยชน์ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรองนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาควรสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา เมื่อถูกถามถึงมุมมองที่ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

นายนพดลยอมรับว่า เศรษฐกิจขณะนี้ไม่ดีจริง แต่มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น โดยมีปัจจัยภายนอกที่กดดันเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เช่น ภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าทั่วโลก นอกจากนี้นายนพดลยังกล่าวถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1.เร่งแก้ไขปัญหา ยกระดับความปลอดภัยทุกด้านให้เป็นวาระแห่งชาติ และ 2.ต้องสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เป็นสภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ หากประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ แม้รัฐบาลจะดำเนินการอยู่ก็อาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นได้                                         

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีนำเข้าของจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นสัญญาณบวกต่อระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก ข้อตกลงในการลดภาษีระหว่างกันลง 115% เป็นเวลา 90 วัน ทำให้อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนจะลดลงเหลือเพียง 30% ขณะที่อัตราภาษีนำเข้าของจีนต่อสินค้าสหรัฐฯ จะลดลงเหลือเพียง 10% อัตราภาษีนำเข้าในระดับดังกล่าวจะทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปรกติ ส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการค้าต่อกันไม่มากนัก และเป็นการปรับสมดุลทางการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าอัตราภาษีระดับดังกล่าวจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ 90 วัน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสองอันดับแรกของโลกจะไม่รุนแรงอย่างที่วิตกกังวลกัน หากยังคงอัตราภาษีในระดับ 10-30% ต่อไป ปัญหาแรงกดดัน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ การขาดแคลนสินค้าในสหรัฐอเมริกาจะบรรเทาลงอย่างชัดเจน ห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตของบรรษัทข้ามชาติปรับตัวในทิศทางดีขึ้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก และธนาคารโลก ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมาก ภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวมกระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การผ่อนคลายลงของสงครามการค้าย่อมทำให้เกิดผลบวกต่อหลายภาคเศรษฐกิจ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า (Trade Diversion) ที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวม (Social Deadweight Loss)  น่าจะบรรเทาลงจากข้อตกลงการค้าลดภาษีล่าสุด นอกจากนี้น่าจะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกลดลงโดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา.          .          

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘โจรใต้’ก้าวอีกขั้น ใช้โดรนขนระเบิด บึ้มเขตเศรษฐกิจ

โจรใต้ขยับไปอีกขั้น! แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบโดรนต้องสงสัยถูกฝังดินในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เผยบินได้ไกล 10 กม. บรรทุกน้ำหนัก 15 กิโลกรัม คาดเตรียมก่อเหตุเมืองเศรษฐกิจ-ขนสิ่งผิดกฎหมาย

‘เพื่อไทย’ดาหน้าไล่‘หนู’

เพื่อไทยดาหน้าประกาศแยกทางภูมิใจไทย “สุทิน” ชี้ “อนุทิน” แค่อยากรักษาสถานะตัวเอง ใช้วิธีต่อรอง ขู่ จี้ปรับ ครม.เร็วๆ อ้างทำให้นโยบายรัฐบาลเป็นรูปธรรม “วรชัย”

พท.เพ้อเจ้อหนัก ชั้น14ไม่โยงศาล

เพื่อไทยเพ้อหนัก! "อนุสรณ์" อ้างมติแพทยสภากับคดีชั้น 14 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เชื่อมโยงกัน “เด็จพี่”

เขมรไปศาลโลกแล้ว ‘ฮุนเซน’ ชูนิติธรรมควํ่าโต๊ะJBCซัดไทยเหมือนรัสเซียรุกรานยูเครน

เขมรป่วนก่อนประชุม JBC “ฮุน มาเนต” ยันไปเจอกันที่ศาลโลก ยื่นข้อพิพาท 4 พื้นที่ตาเมือนธม ตาเมือนโต๊ด ตาควาย และบริเวณช่องบก-มุมไบ จะไม่คุยใน JBC