33ปีรัฐประหารหลอน

ตั้งวงเสวนา 33 ปีพฤษภาทมิฬ "ชัชชาติ" เผยเหตุการณ์นี้นั่งร้องไห้กับเพื่อนที่อเมริกา  ปัจจุบันยังต้องสู้กับประชาธิปไตยสีเทา "เท้ง" ลั่นเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ผ่านรัฐประหารมาแล้ว 3 ครั้ง ไม่เข้าใจทำไมยังเกิดอีก ยำหน้าตารัฐบาลไม่ตรงปก "ปริญญา" วอนกองทัพ พรรคการเมือง อย่าสร้างเงื่อนไขยึดอำนาจอีก

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ที่สวนสันติพร  อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จัดกิจกรรมรำลึก 33 ปีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม โดยมีคนการเมืองร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายศุภชัย ใจสมุทร แกนนำพรรคภูมิใจไทย และบรรดาญาติผู้สูญเสียจากเหตุพฤษภาคม 2535 โดยในช่วงเช้าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา พร้อมวางมาลา และรัฐพิธี

โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤกษาประชาธรรม กล่าวว่า เมื่อ 33 ปีที่แล้วได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดเกิดขึ้น เราไม่คิดว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนจะทำให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ เราบอกว่าจากเหตุการณ์นี้กองทัพจะไม่แทรกแซงการเมือง เราควรให้พรรคการเมืองเสนอตัว และปล่อยให้ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ตนนั่งร้องไห้กับเพื่อนที่อเมริกา ปัจจุบันนี้เราสู้กับประชาธิปไตยสีเทาๆ ทุกคนรู้เท่าทันเพราะฉลาดขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้การให้ความรู้กับประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ตอนนั้นตนอายุ 48 ปี เหตุการณ์ในครั้งนั้นคล้ายกับอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือเป็นการต่อสู้โดยประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเหตุการณ์นี้มีเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด เพราะต้นเหตุมาจากการตั้งรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร  มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ไม่จบ เพราะมีผู้ไม่พอใจออกมาประท้วง เป็นความวุ่นวายในสภา ลุกลามจนสู่การชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ที่หลายคนจำได้ในชื่อ “ม็อบมือถือ” ของคนชนชั้นกลาง เราคิดว่าการสูญเสียในครั้งนั้นอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย  รัฐธรรมนูญปี 40 จะดีที่สุด แต่ก็ถูกฉีก ดังนั้นต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชนว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน  ให้ประชาชนหวงแหนประชาธิปไตย เหมือนหลายๆ ประเทศที่เราได้เห็นถึงพลังในการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย

ผ่านการปฏิวัติมา 3 ครั้ง

ขณะที่นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของคนอีกหนึ่งรุ่นปฏิวัติที่ผ่านการปฏิวัติมา 3  ครั้ง ซึ่งก็ไม่เข้าใจทำไมประเทศไทยในขณะนั้นถึงต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีก สิ่งที่น่ากลัวกว่าการปฏิวัติรัฐประหารคือต้นทุนของประชาธิปไตยที่เราไม่สามารถเสียไปได้อีก คือความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต่อการเมืองและในระบบรัฐสภา ถ้าเมื่อไหร่ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เลิกเชื่อมั่นศรัทธาในคำว่าประชาธิปไตย นั่นคือจุดจบของประเทศนี้ ที่เราไม่สามารถปลูกต้นไม้เพื่อประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นมาในประเทศได้อีก

การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ได้เลือกพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาจากมรดกการรัฐประหารของ คสช. อยากชวนขบคิดถึงหน้าตาของรัฐบาลในขณะนี้ว่าตรงตามที่ประชาชนเลือกมาหรือไม่ ดังนั้นจากนี้เราทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อว่านักการเมืองสัญญาอะไรไว้ก็ต้องดำเนินการอย่างนั้น เข้าสู่อำนาจการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน นี้เป็นสิ่งสำคัญที่ตนจะให้คำมั่นสัญญา และไม่ขอเรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้นอกจากขอให้ทุกพรรคการเมืองดำรงตนเพื่อประชาชน

ก่อนหน้านี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ท่านผู้นำเหล่าทัพ สามารถที่จะรับปากกับประชาชนและวีรชนทุกเหตุการณ์ว่าจากนี้ไปกองทัพจะไม่มาแทรกแซง หรือจะไม่ล้มล้างรัฐธรรมนูญอีก รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รับปากได้หรือไม่ว่า จะช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว แล้วกลายเป็นเงื่อนไขกองทัพยึดอำนาจอีก และประชาชนที่รักประชาธิปไตยจะช่วยกันได้หรือไม่ว่าจากนี้จะไม่ไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง หรือไปเรียกให้กองทัพมาปฏิบัติอีก ช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของทุกฝ่าย

 "ประชาธิปไตยเห็นต่างได้ แต่ขัดแย้งกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การไปล้มล้างรัฐธรรมนูญ  เหมือนการแข่งกีฬา เราเลือกพรรคการเมืองต่างพรรคกันได้ ก็ว่ากันตามกติกา ใครชนะเป็นรัฐบาล ใครแพ้เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งควรจะประสบความสำเร็จหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 มาแล้ว ไม่ควรจะล้มเหลวอีก"

ยึดอำนาจไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน

เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมืองตอนนี้จะเป็นการยั่วยุทำให้เกิดเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่  นายปริญญาตอบว่า ถ้าดูจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา กองทัพไม่ได้อยู่ดีๆ ออกมายึดอำนาจกันได้ง่ายๆ เหมือนสมัยก่อน แล้วที่เขาออกมาได้เพราะไปทำให้เขาออกมา ซึ่งทางออกที่พอมีก็ไปทำให้ตัน และความจริงเรามีเครื่องมือในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ขอให้เราใช้เครื่องมือตามวิถีทางประชาธิปไตย ฉะนั้น ไม่มีเหตุใดที่จะเป็นความชอบธรรมใดๆ ให้มีการรัฐประหารอีก และไม่เกิดแน่ๆ ถ้าไม่มีใครไปทำให้เกิด

ซักว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคสีแดงและพรรคสีน้ำเงินในขณะนี้คิดว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตหรือไม่ นายปริญญากล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีน้ำเงิน สีส้ม สีเขียวหรือสีอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนก็เหมือนกับกีฬา ว่าไปตามกติกา เหมือนสีแดงกับสีน้ำเงินเปรียบเหมือนมวย ก็ต้องชกกันตามกติกา ถ้าเป็นฟุตบอลมีกี่ทีมกี่สีก็แข่งกัน ประชาธิปไตยแค่นี้ และ 4 ปีประชาชนก็มาตัดสินอีกครั้งว่าใครควรจะมาเป็นรัฐบาล เว้นแต่ว่ามีการยุบสภาเลือกตั้งก่อน ล้วนอยู่ในกติกา เราจะไม่นองเลือดหรือรัฐประหารอีก แต่เราจะตกลงกันภายใต้กติกา และเลือกตั้งคือเจตจำนงของประชาชน ใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็แสดงออกด้วยประชาชนในการเลือกตั้ง

ขณะที่นายณัฐพงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจรัฐดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ในประเด็นการตรวจสอบที่มาของ สว. โดยให้เดินหน้าตามหลักฐาน พยานต่างๆ ที่มี  หากที่มาของ สว.ไม่ได้โปร่งใสตรงไปตรงมาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ดำเนินการไปตามนั้น ไม่อยากให้มีการเร่งเครื่องหรือไปดำเนินการใดๆ โดยมองว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองทั้งหมด

"สิ่งที่เราตั้งสมมุติฐานว่าเป็นเกมการเมือง ที่พรรคร่วมรัฐบาลใช้อำนาจรัฐห้ำหั่นกันเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลก็อาจมีปัญหา   แต่สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาลคืออยากให้รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน และใช้อำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมามากกว่า" ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง