"ยิ่งลักษณ์" ระทึก! จับตาศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดชดใช้จำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน "นัก กม.มหาชน" เปิด 5 แนวทางคำพิพากษา อดีตองค์คณะในศาลฎีกานักการเมืองชี้ศาลฯ นัดไต่สวนคดีชั้น 14 หลักนิติธรรมเริ่มสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมือง ยันการเอานักโทษออกจากระบบราชทัณฑ์ช่วงถูกบังคับโทษศาลต้องรับรู้ด้วย ลั่นไม่ใช่ศาลกิ๊กก๊อกศาลข้างถนนจะทำอะไรก็ได้ ตะลึงข้อกฎหมายของนายกสมาคมทนายฯ ชี้ถ้าการเอาตัวออกจากเรือนจำเป็นความผิด ต้องเอาผิดกับราชทัณฑ์ และหมอที่ให้ความเห็นทางการแพทย์ ส่วน "ทักษิณ" ไม่ผิด เพราะเป็นแค่ผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา อดีตองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวกับไทยโพสต์ถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดไต่สวนปมชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ว่า มีสื่อนำเสนอเรื่องหลักของ The Rule of Law คือที่เราคุยกัน เถียงกัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่กระบวนการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เกิดความชัดเจน มันเป็นเรื่องของ The Rule of Law
“การที่ศาลฎีกาฯ สั่งให้ไต่สวนคดีนี้ แสดงให้เห็นว่า The Rule of Law เริ่มสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในบ้านเมืองนี้”
นายวิชากล่าวต่อไปว่า The Rule of Law ก็คือหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นหลักที่ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ขอให้ช่วยดูว่าคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับศาลธรรมดา ไม่ใช่ศาลอะไรที่ไหน และยิ่งกว่าศาลยุติธรรมอีก เพราะเขาคือศาลพิเศษ คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตนก็เคยทำคดีแล้วส่งไปให้ท่าน แล้วให้ท่านช่วยไต่สวนอะไรต่ออะไร จนมีการพิจารณาคดีแล้วลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาหลายปี แล้วในที่สุดก็ได้รับพระกรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลดโทษให้เหลือ 1 ปี โทษนี้มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน
นายวิชากล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ อย่าได้หลงทาง ไปหลงทางกันว่าทำไมไม่เอากฎหมายราชทัณฑ์อะไรต่างๆ อะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ มันใช้ไม่ได้ เพราะในข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ในข้อ 61 การบังคับคดีอาญาให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีการพูดถึงกฎหมายอื่น รวมถึงคดีแพ่งก็ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเพื่อใช้ในการริบทรัพย์สิน เพราะฉะนั้นอย่าหลงทาง อย่าหลงผิด อย่าได้ประเมินศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเหมือนกับศาลที่บังคับคดีทั่วๆ ไป
หากเข้าใจตรงนี้ ทุกอย่างจะกระจ่างชัดหมด เพราะเป็นอำนาจของผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตรวจสอบว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงมาว่าทำถูกหรือไม่ กระบวนการก็ต้องมาดูว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เป็นต้นเค้าของข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ที่เขียนว่าให้ศาลฎีกาฯ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อะไรที่ขัดหรือแย้งจะทำไม่ได้ ต้องเป็นไปตามนี้เลย ที่หมายความว่า ต้องมีการทุเลาโดยผู้พิพากษาก่อน หากจะนำตัวออกมา ก็ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 อยู่ดีๆ จะไปเอาตัวออกมาไม่ได้ ต้องให้ศาลท่านทุเลาการบังคับฯ หากมีเหตุเช่นจำเลยวิกลจริตหรือมีเรื่องการตกบกพร่องอะไรก็ตามในการดำเนินการ
ไม่ใช่ศาลกิ๊กก๊อก
“เพราะฉะนั้น การถูกจับคุกไม่ใช่จำคุก ธรรมดาปกติเหมือนกับคดีทั่วไป เป็นศาลพิเศษ มีกฎหมายพิเศษ แล้วก็เขียนรองรับเอาไว้ว่าผู้พิพากษาต้องจัดการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วจะต้องไปถกเถียงอะไรกับใครอีก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่ศาลกิ๊กก๊อก ไม่ใช่ศาลข้างถนนจะทำยังไงก็ได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดว่าการบังคับโทษเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ศาลไม่เกี่ยว นายวิชาตอบว่า "อันนั้นไม่ใช่ The Rule of Law แล้ว Rule of Man หรือ 'Rule by Law' การปกครองโดยใช้กฎหมายแต่อาจกลายเป็นกฎหมู่ก็ได้ ไม่มีหลักมีเกณฑ์”
ถามอีกว่า การบังคับโทษ การบริหารโทษ ที่เป็นอำนาจของงานราชทัณฑ์ควรได้รับการปฏิรูปหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ต้องมาดูว่าคนที่ทำหน้าที่ในราชทัณฑ์ ไม่ใช่คนที่บังคับใช้กฎหมายโดยสมบูรณ์แบบอยู่คนเดียว จะเห็นว่าคนที่เป็นต้นธารของการบังคับใช้กฎหมายก็คือศาล โดยที่ตำรวจ อัยการ ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เวลาที่จะบังคับใช้กฎหมาย เราต้องอาศัยทุกฝ่ายอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างบางครั้งผมก็เห็นด้วยว่าเราก็จำเป็นต้องเอาเขา (นักโทษ) ออกไปยังสถานที่อื่นซึ่งมีการรักษาอย่างดี แต่ระบบตอนนี้ตนก็ทราบมาว่า รพ.ราชทัณฑ์ก็สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ไปโจมตีราชทัณฑ์ (รพ.) เพราะไม่อย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานของเราไม่มีความยุติธรรม คือหากคุณเป็นผู้ต้องขัง ก็ต้องเอาออกนอกระบบราชทัณฑ์เสมอไป
“การเอาออกจากระบบราชทัณฑ์ในขณะที่ถูกบังคับโทษมันต้องเป็นข้อยกเว้น ต้องอยู่ในมือของศาล คือศาลต้องรับรู้ด้วย ต้องช่วยพิจารณาด้วย ที่ก็ต้องเริ่มจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าต้องทุเลาโทษด้วยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง” อดีตประธานแผนกคดีในศาลฎีกาฯ ระบุชัด
ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นว่าการส่งตัวอดีตนายกฯ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ซึ่งมีอำนาจกระทำได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล เพราะเป็นขั้นตอนการบังคับโทษที่อยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์
'ทักษิณ' เป็นผู้ป่วยไม่ผิด
เขาระบุว่า หากผลการไต่สวนของศาลมีความเห็นตามแพทยสภาว่า อาการเจ็บป่วยของอดีตนายกฯ ไม่ได้วิกฤตด้วยขนาดต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจนครบกำหนดโทษ การส่งตัวอดีตนายกฯ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 55 ของกฎหมายราชทัณฑ์ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินคดีกับผู้บัญชาการเรือนจำซึ่ งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจัดการให้เป็นไปตามหมายจำคุกเป็นคดีใหม่ เพราะเป็นการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง แต่ศาลไม่มีอำนาจออกหมายจำคุกซ้ำ หรือมีคำสั่งให้นำอดีตนายกฯ ไปจำคุกใหม่ เพราะอดีตนายกฯ มิได้หลบหนีหรือแหกที่คุมขังออกไปรักษาตัวเอง อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 194 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
"จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าอดีตนายกฯ จะเจ็บป่วยจริงหรือไม่ เจ็บป่วยวิกฤตถึงขนาดต้องไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ ก็ไม่อาจเอาผิดกับอดีตนายกฯ ตามกฎหมายใดได้ เพราะการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นการถูกส่งไปรักษาตัวโดยผู้บัญชาการเรือนจำ ส่วนการมีความเห็นให้พักรักษาตัวต่อเป็นความเห็นของแพทย์ ไม่ใช่ความเห็นของอดีตนายกฯ หากการไปรักษาตัวนอกเรือนจำจะเป็นความผิดก็เป็นความผิดเฉพาะของผู้ส่งและผู้ที่ให้ความเห็นเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่อาจเอาผิดกับอดีตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัวได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย" นายนรินท์พงศ์ กล่าว
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน คาดว่าการเมืองหลัง 22 พ.ค.นี้จะรุมร้อนแรงขึ้น เมื่อมีผลวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องชดใช้เงิน 3.5 หมื่นล้านที่สร้างความเสียหายในโครงการจำนำข้าวหรือไม่
ถัดจากนั้นภายในวันที่ 12 มิ.ย. ผลสอบจริยธรรมแพทย์รักษาทักษิณชั้น 14 รพ.ตำรวจ ย่อมชัดเจนและครบถ้วนตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งจะนำพาไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพร้อมหรือไต่สวนบังคับให้เป็นไปตามหมายจำคุกหรือไม่ ในวันที่ 13 มิ.ย.
“สถานการณ์การเมืองจะกระเพื่อมแรงขึ้น ล้วนมีศูนย์กลางปัญหาอยู่ที่ทักษิณทั้งสิ้น ดังนั้นทักษิณจึงเป็นปัญหาของชาติและปัญหาของตัวเอง แม้กองเชียร์พยายามประโคมโหมบอกว่าทักษิณกลับมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่สภาพบ้านเมืองขณะนี้เศรษฐกิจปากท้องยิ่งย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก” นายจตุพรกล่าว
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วันที่ 22 พ.ค. นอกจากจะเป็นวันครบรอบ 11 ปีรัฐประหารของ คสช.แล้ว ยังเป็นวันสำคัญยิ่งในการพิสูจน์ความมีอยู่จริงของความศักดิ์สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ที่คนทำผิดต้องรับโทษและใช้หนี้คืนแผ่นดินหรือไม่? หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาใน : คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฯ มาตรา 123/1 ให้จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
ต่อมากระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ต่อมาในเดือน เม.ย.2564 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ซึ่งในวันที่ 22 พ.ค.นี้ สังคมรอความยุติธรรมจากการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ว่าจะยึดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้ 35,717 ล้านบาท ชดเชยความเสียหาย 5 แสนล้านบาท ที่ก่อไว้ได้หรือไม่
นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ได้วิเคราะห์แนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดอาจมีคำวินิจฉัยไว้ 5 แนวทางหลัก โดยระบุว่า แนวทางแรก หากศาลพิพากษา “ยืน” ตามศาลปกครองชั้นต้น หมายถึง ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชอบตามคำสั่งชดใช้เงินของกระทรวงการคลัง, แนวทางที่สอง หากศาลพิพากษา “กลับ” ความหมายคือ คำสั่งของกระทรวงการคลัง มีผลใช้บังคับ แต่ไม่อาจนำไปสู่การยึดทรัพย์ได้ทันที เพราะไม่ใช่หนี้ภาษี และยังไม่ใช่คำพิพากษาของศาลตามหลักกฎหมาย, แนวทางที่สาม ศาลอาจ “แก้ไข” คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในประเด็นจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ เช่น ลดหรือเพิ่มยอด โดยให้รับผิดบางส่วนแทนทั้งหมด
แนวทางที่สี่ หากพิพากษา “ยืน” จะไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่ตัดสินจำคุก 5 ปีไปแล้ว เพราะเป็นคนละคดีคนละศาล และไม่เกี่ยวกับมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ผลผูกพันต่อทุกองค์กรในกรณีศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แนวทางสุดท้าย หากบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกยึดและขายทอดตลาดไปก่อนหน้านี้ โดยอ้างอิงคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลัง ซึ่งหากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐอาจต้องคืนทรัพย์สินหรือจ่ายค่าชดเชยเท่ามูลค่าทรัพย์ให้ผู้เสียหาย
"แม้ผลคดีนี้จะไม่ย้อนลบคำพิพากษาทางอาญา แต่จะมีผลโดยตรงต่อกระบวนการบริหารจัดการทรัพย์สินและความรับผิดทางแพ่งของอดีตนายกฯ และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญว่ารัฐจะใช้อำนาจลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเชิงปกครองได้อย่างไรภายใต้หลักนิติธรรมในอนาคต" นักกฎหมายมหาชนผู้นี้ ระบุ
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ฝ่ายจำเลยเตรียมรับฟังคำวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด และมั่นใจในคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่เคยเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ของกระทรวงการคลังมาก่อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แบ่งเค้กสมใจอยาก
นายกฯ เซ็นคำสั่งแบ่งงานรองนายกฯ-รมต.ประจำสำนักนายกฯ ใหม่ กำกับดูแลแทนนายกฯ หลัง "อนุทิน" ลาออก เพื่อไทยกำกับดูแลมหาดไทยสมใจอยาก ส่ง "ภูมิธรรม" คุม ส่วน "พีระพันธุ์" ไม่ขยับ อยู่ที่เดิม
ยังกอดศพกันแน่น พท.ลั่นทำเพื่อชาติอยู่ครบเทอม/พรรคร่วมผีดิบแย่งชามข้าวฝุ่นตลบ
เช็กโผ ครม. "แพทองธาร 2" เปิด 2 ตัวเต็งนั่ง รมว.กลาโหม "บิ๊กเล็ก-พล.อ.สุนัย" อดีตนายทหารรบพิเศษ ด้าน ปชป. "เฉลิมชัย" รมว.ทส.เหมือนเดิม "เดชอิศม์" นั่ง มท.3 "ชัยชนะ" นั่ง รมช.สธ. ขณะที่ "รทสช." ยังอยู่ โควตาเท่าเดิม แต่แย่งชามข้าวกันฝุ่นตลบ เพื่อไทยโวมีในมือ 280 เสียง
ม็อบพรึ่บโคราช ตะเพิด‘นายกฯ’
ม็อบทุกสีไล่รัฐบาลพรึ่บ! โคราชเรียกร้อง "อุ๊งอิ๊ง" ลาออก เลือกนายกฯ ใหม่ เพราะไร้วุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถในการเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ สมคบคิด ตอบสนองอริราชศัตรู
ชำระแค้น‘ฮุนเซน’ ‘อิ๊งค์’สั่งเจาะยาง!
ก้นร้อนเร่งเอาคืน "ฮุน เซน" "แพทองธาร" นัดประชุมแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 23 มิ.ย.นี้ หลังพบฝั่งตะวันตกดีขึ้น
ชง‘รองนายกฯ-กห.’ดึง‘พปชร.’
“อนุทิน” เปิดใจเป็นฝ่ายค้านแล้ว ไม่จัดตั้งรัฐบาลสู้ “ภูมิธรรม” ตีปี๊บพรรคร่วมที่เหลือเสียงปึ้ก “ไผ่” โวมีเสียง 263 บวกๆ
DSIหอบคดีฮั้วตึกสตง.ให้‘ปปช.’ฟัน
"อธิบดีดีเอสไอ" เผยคดีฮั้ว สว.พบเส้นเงินโยงพรรคการเมือง-นักการเมือง 3 ภาค อีสาน เหนือ ใต้