"ศาลปกครองสูงสุด" กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่ง "ยิ่งลักษณ์" ชดใช้คดีจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท เหตุประมาทเลินเล่อร้ายแรง ปล่อยให้เกิดการทุจริตการระบายข้าว "อดีตนายกฯ ปู" โอดขอความเป็นธรรม เป็นฝ่ายบริหารไม่ได้ทำอะไรผิดต้องมาโดนบังคับใช้หนี้แทนฝ่ายปฏิบัติ บอกชดใช้ทั้งชีวิตก็ไม่มีวันหมด "ทนาย" สบช่องยื่นหลักฐานใหม่ โชว์ยอดขายข้าวค้างโกดังแสนล้านใช้หักลบกลบหนี้
ที่ศาลปกครองสูงสุด วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองสูงสุด โดยนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะในคดี ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการเป็นเงิน 35,717,273,028 บาท ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รมว.การคลัง รมช.การคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษา เป็น ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป และให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศและการดำเนินการใดๆ ของกรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการทางปกครอง ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป รวมทั้งให้ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดตามสิทธิของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 37 รายการ และแจ้งให้กรมบังคับคดีจัดทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อกันส่วนให้นายอนุสรณ์ ในฐานะเจ้าของรวม รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้แก่นายอนุสรณ์ทราบ ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา
ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า คดีนี้รับฟังได้ว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แยกพฤติการณ์การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (ประธาน กขช.) ออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่ 1 การดำเนินการในส่วนของนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก ที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่มีส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง แต่ในส่วนที่ 2 ในการดำเนินการให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการที่คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น อนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกประจำปีการผลิต ระหว่างปี 2554-2557 ใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2.การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก 3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร และ 4.การระบายข้าว
สั่งยิ่งลักษณ์ใช้จำนำข้าวหมื่นล.
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับทราบว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ปล่อยปละละเลย เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริต อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นถึงการประมาทเลินเล่อ
ศาลพิจารณาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการจำนำข้าวเปลือก ประจำปีการผลิต ระหว่างปี 2554-2557 แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายการระบายข้าวโดยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี จากความเสียหายกว่า 20,057,723,761.66 บาท เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบปัญหาการทุจริตแล้ว แต่ไม่ได้ติดตามกำกับดูแล เห็นได้จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช.เพียงครั้งเดียว จนเกิดการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ ในสัญญาซื้อขายข้าว 4 ฉบับ ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานาน จนข้าวเสื่อมคุณภาพ และสูญเสีย
พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง และต้องกำหนดสัดส่วนรับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 10,028,861,880.83 บาท ดังนั้น คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เฉพาะส่วนที่เรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยึด อายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มาภายหลังจากการอยู่กินฉันสามีภริยากับนายอนุสรณ์ โดยมีเจตนาเปิดเผยตั้งแต่เดือน พ.ย.2538 อีกทั้งทั้งสองยังได้มีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน นายอนุสรณ์จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีส่วนในทรัพย์สินเท่ากันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะไม่ปรากฏชื่อนายอนุสรณ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวก็ตาม
ดังนั้น นายอนุสรณ์จึงเป็นผู้มีสิทธิขอกันส่วนในทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 การที่กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิเสธการขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อนายอนุสรณ์ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายานว่า ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 6 พ.ค.58 หลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯ พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินรวม 612 ล้านบาท อาทิ เงินสดและเงินฝาก 16 บัญชี มูลค่า 24 ล้านบาท หุ้นและกองทุน 9 รายการ มูลค่ากว่า 115 ล้านบาท ที่ดิน 14 แปลงในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ มูลค่า 117 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 36 รายการ มูลค่า 162 ล้านบาท
ปูโอดไม่ผิดยังต้องรับผิดชอบ
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก "Yingluck Shinawatra" ระบุว่า วันที่ 22 พ.ค.ปีนี้ เป็นวันครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนทั้งประเทศ และเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำวินิจฉัยให้ดิฉันต้องชดใช้หนี้กว่า 10,000 ล้านบาท จากคดีระบายข้าว ทั้งที่ดิฉันไม่ได้เป็นจำเลยในคดีนี้ และศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยว่าดิฉันไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีดังกล่าวมาแล้ว
"จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ ทำให้ดิฉันต้องชดใช้หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ความเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ต้องมารับภาระหนี้ที่เกิดจากการระบายข้าวของฝ่ายปฏิบัติ โดยที่ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านั้นแต่อย่างใด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็พิพากษาในคดีของดิฉันว่า ปล่อยปละละเลยในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น" น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
อดีตนายกฯ ยังได้โพสต์ถึงนโยบายรับจำนำข้าวโดยสรุปว่า เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เจตนาช่วยเหลือให้พี่น้องชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่หากการดำเนินนโยบายแบบนี้กลับถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดความเสียหาย ต่อไปใครจะกล้าคิดนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อีก
"ดิฉันไม่มีเจตนาจะทำให้โครงการเสียหาย การดำเนินโครงการแต่ละขั้นตอน เกี่ยวข้องกับหน่วยงานและบุคลากรหลายฝ่าย มีลำดับขั้นการบังคับบัญชาตามระบบราชการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่หัวหน้าฝ่ายบริหารจะไปก้าวก่ายแทรกแซงในรายละเอียดได้ แต่ดิฉันกลับต้องรับผิดชอบกับความเสียหายเพียงลำพัง หากจะบอกว่าสิ่งนี้คือความเป็นธรรม ก็เป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่งที่ดิฉันจะเข้าใจและยอมรับได้ หนี้ 10,000 ล้านบาท ชดใช้ทั้งชีวิต ยังไงก็ไม่มีวันหมดค่ะ การทุ่มเททำงาน แบกรับแรงเสียดทานทั้งทางการเมืองและอีกหลายรูปแบบ เพื่อค้ำยันราคาข้าวให้สูงและมีเสถียรภาพ เพื่อพี่น้องชาวนาได้มีชีวิตที่ดีกว่า พลิกผืนนาเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของครอบครัว กลับมีบทสรุปที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับดิฉัน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
ท้ายโพสต์ดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ตลอดเวลา 11 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สิ่งที่ดิฉันจำต้องพบเจอซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ ยึดอำนาจ ยัดคดี อายัดทรัพย์ และเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาบังคับให้ใช้หนี้ ความรู้สึกแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับตัวเองก็คงไม่มีใครรู้ แต่ถึงกระนั้นดิฉันก็จะเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในชีวิต จนถึงที่สุดตามกฎหมายที่พึงกระทำได้ ถ้านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมที่แท้จริง ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ สำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเช่นกันค่ะ
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้ได้รับมอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ศาลพิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบจำนวนหมื่นกว่าล้านบาทนี้ ถ้าจำได้เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.2557 มีข้าวคงเหลือในคลังประมาณ 18.9 ล้านตัน ในส่วนนี้คำสั่งของกระทรวงการคลังบอกถ้าทางราชการขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่อนุฯ ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวคำนวณไว้ เมื่อ 22 พ.ค.2557 ก็สามารถนำมาหักทอนกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบได้
นายนรวิชญ์กล่าวว่า ปัจจุบันข้าวจำนวนนี้ได้ขายไปหมดแล้วในรัฐบาลนี้ กิโลกรัมละ 25 บาท ถ้าขายจริงๆ จะได้เงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และเมื่อนำมาหักทอนกัน ก็สามารถหักทอนกันได้กับเงินหมื่นล้านบาท ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะไม่ต้องชดใช้เลย
"ผมในฐานะทนายความเห็นว่าการจำหน่ายข้าวส่วนนี้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งความจริงเราพยายามยื่นเข้าไปในคดีนี้แล้ว แต่การยื่นนั้นมันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลท่านจึงไม่ได้รับไว้ แต่ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ ดังนั้นในเรื่องนี้ทีมทนายจะหารือกันว่าจะนำประเด็นนี้ไปขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เราก็จะดำเนินการในส่วนนี้จนถึงที่สุด ซึ่งมีการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 90 วัน ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เพื่อคืนความเป็นธรรมให้อดีตนายกฯ” นายนรวิชญ์กล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เข้าใจว่าเดิมศาลได้ตัดสินไป 30,000 กว่าล้านบาท ซึ่งการพิจารณาทำให้เห็นว่ามีประเด็นหรืออะไรที่ยังทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งทำให้การพิจารณาลดทอนลงมาเหลือ 1 ใน 3 ศาลยังไม่ได้วางกรอบระยะเวลา ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งยังสามารถพิสูจน์ทราบได้ ส่วนที่เป็นปัญหาที่ตนเคยทำงานไว้ ซึ่งขายข้าวได้ 200 กว่าล้านบาท ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าจริงๆ วิธีคิดตั้งแต่แรกก็มีปัญหาในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาได้ประกาศแล้วว่าจะขอยื่นให้พิจารณาหลักฐานใหม่เพิ่มเติม การใช้มาตรฐานที่ตนได้ทำไปแล้วพิสูจน์ว่าข้าว 10 ปีก็ยังขายได้กิโลกรัมละ 18 บาท ไม่ใช่เอาไปขายแบบที่เคยเกิดขึ้นกิโลกรัมละ 5-6 บาท คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะมีโอกาสได้ทบทวน และนำเอาวิธีคิดข้าวมาคิดใหม่
ถามว่า ในมิติการเมืองถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีจะส่งผลไปถึงวันที่ 13 มิ.ย. ที่ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในการรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เครียดไปๆ ไปดูเป็นมิติการเมืองเรื่อย มันเป็นเรื่องการขายข้าว และการทำให้ถูกกฎหมาย อย่าไปมองเป็นมิติการเมือง มันไม่ได้ไปทางนั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘โจรใต้’ก้าวอีกขั้น ใช้โดรนขนระเบิด บึ้มเขตเศรษฐกิจ
โจรใต้ขยับไปอีกขั้น! แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบโดรนต้องสงสัยถูกฝังดินในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เผยบินได้ไกล 10 กม. บรรทุกน้ำหนัก 15 กิโลกรัม คาดเตรียมก่อเหตุเมืองเศรษฐกิจ-ขนสิ่งผิดกฎหมาย
‘เพื่อไทย’ดาหน้าไล่‘หนู’
เพื่อไทยดาหน้าประกาศแยกทางภูมิใจไทย “สุทิน” ชี้ “อนุทิน” แค่อยากรักษาสถานะตัวเอง ใช้วิธีต่อรอง ขู่ จี้ปรับ ครม.เร็วๆ อ้างทำให้นโยบายรัฐบาลเป็นรูปธรรม “วรชัย”
พท.เพ้อเจ้อหนัก ชั้น14ไม่โยงศาล
เพื่อไทยเพ้อหนัก! "อนุสรณ์" อ้างมติแพทยสภากับคดีชั้น 14 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เชื่อมโยงกัน “เด็จพี่”
เขมรไปศาลโลกแล้ว ‘ฮุนเซน’ ชูนิติธรรมควํ่าโต๊ะJBCซัดไทยเหมือนรัสเซียรุกรานยูเครน
เขมรป่วนก่อนประชุม JBC “ฮุน มาเนต” ยันไปเจอกันที่ศาลโลก ยื่นข้อพิพาท 4 พื้นที่ตาเมือนธม ตาเมือนโต๊ด ตาควาย และบริเวณช่องบก-มุมไบ จะไม่คุยใน JBC
ผบ.เรือนจำรับส่งตัวสทร.
ประเดิมไต่สวน "คดีทักษิณ" ศาลฎีกาฯ ซักยิบพยานปากแรก "ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ"
‘พิพัฒน์’ลั่นลุย ปมซื้อ‘SKYY9’ ‘ปชน.’ตามขยี้
"รักชนก-สหัสวัต" ยื่นคำร้อง "ป.ป.ช." ไต่สวน "สุชาติ" พร้อมคณะปล่อยให้เกิดการซื้อตึกสกายไนน์แพงเกินจริง