ไม่ปลดโควิดจากโรคฉุกเฉิน

ตัดสิทธิ์ยูเซปโควิดป่วน! รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออก “อนุทิน” ปาดเหงื่อปมร้อนย้ำไม่ได้ยกเลิก รัฐยังดูแลตามสิทธิ ฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์เข้าได้ทุกที่ ขณะที่  “สาธิต” เล็งประชุมหารือเลื่อนใช้ทั้งประเทศ 1 เม.ย.  ด้าน "บิ๊กตู่" นั่งไม่ติดยันไม่ทอดทิ้งประชาชน ฝ่ายค้านสบช่องตามขยี้จี้ประธาน ศบค.ทบทวน แขวะเงินกู้มาถมซื้ออาวุธหมด ศบค.ผวาคลัสเตอร์ก่อสร้าง กทม.มาอีกรอบ  ขณะที่ต่างจังหวัดสัญญาณระบาดอันตรายต่อเนื่อง บุรีรัมย์-เชียงใหม่ติดเชื้ออื้อ

เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,900 ราย  เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 16  ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะที่ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่  14 ก.พ. ได้แก่ กทม. 2,892 ราย, สมุทรปราการ  888 ราย, นนทบุรี 611 ราย, ชลบุรี 590 ราย,  นครราชสีมา 567 ราย, ภูเก็ต 486 ราย, นครศรีธรรมราช 434 ราย, ราชบุรี 432 ราย, บุรีรัมย์ 317  ราย และนครปฐม 303 ราย

 “สิ่งที่ต้องจับตามองในขณะนี้คือ หลายจังหวัดมียอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์สูงขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ กทม.มียอดผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ที่สี่ของปี 65 อยู่ที่ 9,434 ราย  สัปดาห์ที่หกสูงขึ้นถึง 17,852 ราย สมุทรปราการ สัปดาห์ที่สี่อยู่ที่ 4,662 ราย สัปดาห์ที่หกอยู่ที่ 6,940  ราย จึงต้องจับตาเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันยังพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยคลัสเตอร์ร้านอาหารพบที่ จ.อำนาจเจริญ,  สุพรรณบุรี, ร้อยเอ็ด คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.นครราชสีมา,  อุบลราชธานี, น่าน คลัสเตอร์โรงงานพบที่ จ.ขอนแก่น,  ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, ชลบุรี, ราชบุรี คลัสเตอร์งานศพพบที่ จ.ฉะเชิงเทรา, กาญจนบุรี, นครราชสีมา, มุกดาหาร,  แม่ฮ่องสอน, อุทัยธานี ส่วนในพื้นที่ กทม.มีถึง 2 เขตที่ผู้ติดเชื้อเกิน 100 คน คือ เขตราชเทวี, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และยังมีหลายพื้นที่ใน กทม.เริ่มพบคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อในโรงเรียนถึง  13 แห่งใน กทม. แต่ กทม.ยืนยันว่าแม้จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ศักยภาพในการรักษาของเตียงผู้ป่วยยังคงเพียงพอ” พญ.อภิสมัยระบุ

พญ.อภิสมัยระบุด้วยว่า ศบค.เห็นว่าเราควรยึดมาตรการผ่อนคลาย เพราะจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการป้องกันโควิด-19 อย่างสมดุล และในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้นหรือไม่ เราจะไปตามประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้  เพราะหลายประเทศก็มีความผิดพลาดตามมาได้ ไม่มีวิธีใดยึดเป็นแบบอย่างได้ทั้งหมด เราควรวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศเราเป็นหลัก

 “ภาพรวมการติดเชื้อในประเทศไทย แม้ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้จะอยู่ที่ 14,900 ราย แต่เหมือนกราฟจะเบนหัวลงมาเล็กน้อย แต่ยังวางใจไม่ได้ หลายจังหวัดยังมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตยังมีทิศทางที่สูงขึ้นอยู่ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า เชื้อโควิด-19  ในประเทศเป็นโอมิครอนร้อยละ 80 เป็นเดลตาร้อยละ 20 จึงจะบอกว่าผู้ที่ติดเชื้อจะอาการไม่รุนแรงไม่ได้" พญ.อภิสมัยระบุ 

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีบอกให้ติดตามงานรองรับสถานการณ์โควิด-19  ตนเองจึงให้ความมั่นใจไปว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมแม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างกรณีนำโรคโควิด-19 ออกจากบริการ UCEP (ยูเซป) หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่นั้น ไม่ได้หมายความว่ายกเลิก แต่เราจะทำให้โควิด-19 เป็นโรคปกติ ไม่ใช่โรคฉุกเฉิน หากใครติดโควิด-19 แล้วมีอาการหนักสามารถเข้ารักษาฉุกเฉินได้ในสถานพยาบาลทุกที่ สปสช.ดูแลครบ สิทธิบัตรทองใช้ได้ทุกที่อยู่แล้ว การไปแปลความว่าจะยกเลิก ไม่จ่าย ไม่ดูแลนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ ถึงอย่างไรรัฐก็จ่ายตามสิทธิ์ที่ทุกคนมีอยู่ ใครฉุกเฉินหรือมีอาการหนักเรารักษาอยู่แล้ว และไม่ใช่โควิด-19 อย่างเดียว 

ยังไม่ปลดโควิดจากโรคฉุกเฉิน

นายอนุทินกล่าวว่า ระบบฉุกเฉินรัฐจะดูแล 3 วัน  และจะมีการส่งตัวต่อ ตอนนี้หากส่งต่อก็ส่งมาที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งมีศักยภาพเตียงเพียงพออยู่แล้ว ไม่ได้ไปตัดการดูแล สปสช.ได้ให้รายละเอียดไปแล้ว สำหรับผู้มีประกันหากใครต้องการความสะดวกสบาย สามารถไปใช้โรงพยาบาลเอกชนหากยินดีจะจ่ายส่วนต่าง ถือว่าเป็นสิทธิของเขา หากเกรงว่าประกันภัย ประกันสุขภาพจะไม่ครอบคลุม กรมการแพทย์ สปสช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกหลักเกณฑ์ขึ้นมา จะมาเลี่ยงบาลีใช้เหตุผลอะไรต่างๆ  เอาเปรียบผู้ซื้อประกันไม่ได้

ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีเสนอให้เลื่อนปลดโรคโควิด-19 จากโรคฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) จากวันที่ 1 มีนาคม เป็นวันที่ 1  เมษายน 2565 ว่า ได้หารือกับนายอนุทินแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้ตนประชุมหารือกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

 “ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศปลดโควิดจากโรคฉุกเฉินวิกฤต อยู่ระหว่างการร่างประกาศ ซึ่งเดิมสถานการณ์การติดเชื้อไม่สูงมาก แต่หลังจากเทศกาลตรุษจีนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากประชาชนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลมากพออาจเกิดปัญหาเมื่อไปรับบริการได้ จึงต้องใช้เวลาในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อประกาศยกเลิก  UCEP โควิด ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ หากไปโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เหมือนกับการรักษาโรคอื่นๆ ตามปกติ” ดร.สาธิตกล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนต้องให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโควิด-19 ไม่ทอดทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน หากป่วยด้วยโรคโควิด-19 ยังคงสามารถเข้ารักษาตามสิทธิสุขภาพของตนเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เหมือนเดิม ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขไทยที่ได้รับการยกย่องติดอันดับโลกมาโดยตลอด

ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี  อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีการเผยแพร่รูปภาพตัดต่อบิดเบือนข้อความ ให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดว่าจะมีปลดโควิดจากการรักษาฟรีว่า สะท้อนความจงใจบิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิด เพียงแค่หวังจะโจมตีทางการเมืองอย่างนั้นหรือ อาจทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง หมดสิ้นหนทาง ไม่กล้าไปรักษา จนอาจเป็นการฆ่าคนทั้งแผ่นดินให้ตายทั้งเป็น เป็นการผิดหลักมนุษยธรรมที่ควรพึงมีต่อชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น

 “ที่สำคัญกรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดมาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ” น.ส.ทิพานันระบุ

ต่างจังหวัดติดเชื้อพุ่ง

เธอระบุด้วยว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณหรือเงินกู้ของรัฐตามที่พรรคเพื่อไทยพยายามบิดเบือนเลย  แต่เป็นการพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความรุนแรงของโรค เพราะสายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home  Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แตกต่างจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่เมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอดต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด

ด้านนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อชาติ ระบุว่า อยากเตือนไปยังพลเอกประยุทธ์ที่อ้างว่างบประมาณไม่พอนั้น อยากทราบว่าเงินกู้ 1.5  ล้านล้านบาท ที่มาขออำนาจสภาไปกู้มาใช้อะไรหมด หรือนำเงินกู้ไปซื้ออาวุธให้กองทัพ รวมทั้งหากไม่รักษาให้ประชาชนฟรีก็เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ดังนั้นรัฐจะมาโยนภาระให้ประชาชนไม่ได้ อยากให้รัฐบาลและ ศบค.ทบทวนแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศมีปัญหา ประชาชนลำบาก ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ในฐานะประธาน ศบค. หากคิดถึงประชาชนจริงก็ไม่ควรเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขไทย

 ที่ จ.นครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รอง  ผวจ.นครราชสีมา รองประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ระบุว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังสูง 456 ราย โดยมีคลัสเตอร์ด้วยกัน 16 คลัสเตอร์  ทั้งคลัสเตอร์เก่าและคลัสเตอร์ใหม่ 

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ระลอกใหม่ ประจำเดือนมกราคม ตั้งแต่วันที่ 1  ม.ค.65  ถึงวันที่ 13 ก.พ.65 ของ จ.บุรีรัมย์ว่า วันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 317 ราย

ขณะสถานการณ์ที่เชียงใหม่ยังมีการติดเชื้อเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 317 ราย​  พุ่งสูงขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว โดยเกิน​ 90% เป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด โดยขณะนี้มีกลุ่มคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเป็นกลุ่มเดิม ทั้งที่ที่ทำงาน​ ครอบครัว​  สถานศึกษา​ ร้านอาหาร​และเครื่องดื่ม และคลัสเตอร์กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ พบมากในอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอหางดง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง